การซ้อมรบครั้งนี้เป็นการปฏิบัติตามบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐมนตรีกลาโหมของจีนกับของอาเซียน ที่ตกลงกันไว้เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2560 ว่าอาเซียนกับจีนจะจัดการซ้อมรบร่วมกันในเวลาที่เหมาะสม เพื่อพัฒนาความร่วมมือด้านการป้องการประเทศและความปลอดภัยทางทะเล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินมาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ (Confidence-building Measures) ระหว่างอาเซียนกับจีน และสนับสนุนความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์
ก่อนหน้านี้ กองทัพเรือของอาเซียนกับจีนเคยร่วมฝึกซ้อมการกู้ภัยทางทะเลมาแล้วหลายครั้ง แต่ยังไม่เคยมีการฝึกซ้อมปฏิบัติการทางการทหารระหว่างกองทัพเรือแต่อย่างใด
นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งมองว่า นี่คือการที่จีนขยายอิทธิพลด้านการทหารในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
แต่หากมองในอีกทางหนึ่ง จะเห็นว่านี่คือชั้นเชิงอาเซียนในการลดความตึงเครียดกับจีน
ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า จีนกับประเทศสมาชิกของอาเซียนมีข้อพิพาทกันมาอย่างยาวนานหลายทศวรรษด้วยเรื่องการอ้างสิทธิเหนือหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ คือ หมู่เกาะพาราเซล และ หมู่เกาะสแปรตลี่ จนถึงขั้นที่เคยมีการกระทบกระทั่งกันหลายครั้ง ระหว่างกองทัพเรือของจีนกับกองทัพเรือเวียดนาม และระหว่างกองทัพเรือจีนกับกองทัพเรือฟิลิปปินส์
แม้ว่าในปี 2558 จีนได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน-จีน ว่าด้วยการปฏิบัติตามปฏิญญาว่าด้วยการปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ (ASEAN-China Senior Officials’ Meeting on the Implementation of the DOC: SOM on DOC) ที่นครเทียนจิน ในเดือน กรกฎาคม 2558 และมีท่าทีที่ประนีประนอมในการปฏิบัติตามปฏิญญาว่าด้วยการปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ (Declaration on the Conduct of Parties in the South China Sea: DOC) อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ เพื่อส่งเสริมความเชื่อมั่นและความไว้เนื้อเชื่อใจ รวมทั้งสร้างบรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อการแก้ไขปัญหาและหารือเกี่ยวกับการเจรจาจัดทำแนวปฏิบัติ (Code of Conduct: COC) ในทะเลจีนใต้ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
แต่ ในปี 2559 ฟิลิปปินส์ก็นำเรื่องฟ้องศาลโลก และศาลโลกตัดสินให้ฟิลิปปินส์ชนะ แต่จีนประกาศว่าจีนไม่ยอมรับคำตัดสินดังกล่าว และจะไม่ปฏิบัติตามคำตัดสินของศาลโลก
ทางการจีนย้ำบ่อยครั้งว่า ไม่ต้องการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ด้วยวิธีการพหุภาคี แต่ต้องการเจรจากับคู่กรณีเป็นรายประเทศไป
ท่าทีของจีนทำให้อาเซียนมองจีนเหมือนมังกรดุ ที่พร้อมจะแผลงฤทธิ์ทุกเมื่อ และอาเซียนจำเป็นต้องจัดการกับจีนอย่างมีชั้นเชิง
ในอดีต อาเซียนพยายามดำเนินบทบาทการเป็นผู้ประสานงานการเจรจาระหว่างประเทศที่มีความขัดแย้งในภูมิภาค โดยตั้งเวทีการเจรจาที่มีอาเซียนเป็นแกนกลาง คือ การจัดตั้งการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก(ASEAN Regional Forum หรือ ARF) ในปี 2537 โดย ARF ประกอบด้วย สมาชิกอาเซียน ประเทศคู่เจรจาของอาเซียน (Dialogue Partners) 9 ประเทศกับอีก 1 กลุ่มประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกาแคนาดาออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จีน ญี่ปุ่นสาธารณรัฐเกาหลีรัสเซียอินเดีย สหภาพยุโรป ส่วนผู้สังเกตการณ์พิเศษของอาเซียน (Special Observer) 1 ประเทศ ได้แก่ ปาปัวนิวกินี และประเทศอื่นในภูมิภาค ได้แก่ มองโกเลีย เกาหลีเหนือ ปากีสถาน บังคลาเทศ และศรีลังกา และต่อมาเมื่ออาเซียนขยายจำนวนสมาชิกโดยรับ เวียดนาม พม่า ลาว และ กัมพูชา เข้าเป็นสมาชิก ประเทศเหล่านั้นก็เข้าร่วม ARF ด้วย และเมื่อติมอร์เลสเตได้รับเอกราชก็ได้เข้าร่วมด้วย
เป้าหมายสำคัญที่อาเซียนจัดตั้งเวที ARF ก็เพราะหวาดระแวงต่อท่าทีของจีนที่มีต่อปัญหาข้อพิพาทเรื่องการอ้างสิทธิ์เหนือหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ ประกอบกับเกิดภาวการณ์แข่งขันสะสมอาวุธในภูมิภาค อาเซียนจึงพยายามดึงเอาประเทศต่างๆ เข้าร่วมการประชุมนี้ เพื่อถ่วงดุลอำนาจจีน และในขณะเดียวกันก็พยายามใช้เวทีนี้เป็นมาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน
เมื่ออาเซียนจัดตั้งประชาคมอาเซียน โดยให้มีสามเสาหลัก คือ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน และประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ก็ปรากฏว่าอาเซียนยังคงใช้ยุทธศาสตร์เดิมกับจีน คือ ใช้เวทีการประชุมเพื่อสร้างมาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน โดยดึงจีนเข้าร่วมในการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมของประเทศคู่เจรจา (ASEAN Defence Ministers’ Meeting Plus หรือ ADMM-Plus) จนนำไปสู่การมีข้อตกลงเป็นบันทึกความเข้าใจที่จะมีการซ้อมรบร่วมกันดังกล่าว
การซ้อมรบครั้งนี้ จึงเป็นชั้นเชิงของอาเซียน ที่ต้องการสมานฉันท์กับจีน เพื่อให้จีนเป็นมังกรที่แม้จะดุ แต่ก็เชื่องพอที่จะไม่เป็นอันตรายกับอาเซียน แต่สร้างประโยชน์ให้อาเซียน