นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เปิดเผยว่า ปัจจุบันร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอยู่ในการพิจารณาของชั้นกรรมาธิการ วาระที่ 1 ซึ่งกระทรวงการคลังได้นำเสนอผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อให้มีการปฏิรูปโครงสร้างระบบภาษีทรัพย์สินของประเทศไทยให้ทันสมัย เป็นสากล ลดความซ้ำซ้อน ลดการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐ
อีกทั้งเพื่อจูงใจและส่งเสริมให้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ผ่านมาตรการภาษี โดยกำหนดเป็นอัตราภาษีก้าวหน้าแบบขั้นบันได ตามมูลค่าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมถึงกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท. เป็นผู้จัดเก็บภาษี
โดยในครั้งนี้ ได้เปิดเผยอัตราการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งลดเพดานภาษีลงมาจากเดิมร้อยละ 40 และมีอัตราจัดเก็บภาษี แบ่งตามประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดิน 4 กลุ่ม ได้แก่ เกษตรกรรม มีเพดานภาษีอยู่ที่ ร้อยละ 0.15 มีอัตราจัดเก็บแบ่งเป็น 5 ช่วง โดยบุคคลธรรมดาที่มีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง มูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท ได้รับการยกเว้นภาษี ส่วนที่มีมูลค่าตั้งแต่ 50,000,001 บาท มีภาระภาษีร้อยละ 0.01 หรือล้านละ 100 บาทต่อปี ส่วนที่มีมูลค่า 1,000 ล้านบาท อัตราภาษีร้อยละ 0.10
กรณีบ้านพักอาศัย มีเพดานภาษีอยู่ที่ร้อยละ 0.30 แบ่งอัตราจัดเก็บเป็น 4 ช่วง ตั้งแต่ร้อยละ 0.02 ถึงร้อยละ 0.10 หรือล้านละ 200 บาท โดยผู้ที่เป็นเจ้าของที่ดินและบ้าน ที่มีมูลค่าไม่เกิน 20 ล้านบาท และมีชื่อในทะเบียนบ้าน จะได้รับการยกเว้นภาษี สำหรับกรณีพาณิชยกรรม มีเพดานภาษีอยู่ที่ร้อยละ 1.20 แบ่งการจัดเก็บเป็น 5 ช่วง ตั้งแต่ร้อยละ 0.3 ถึงร้อยละ 0.7 และกรณีที่รกร้างว่างเปล่า มีเพดานภาษีเท่าการพาณิชยกรรม โดยมีอัตราจัดเก็บภาษีร้อยละ 0.3 ทุก 3 ปี แต่ไม่เกินร้อยละ 3.0
ศาสตราจารย์ ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา ที่ปรึกษาคณะกรรมธิการวิสามัญ กล่าวว่า ขณะนี้กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เข้าไปสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่ อีกทั้งในกฎหมายยังเปิดให้ประชาชนได้รู้รอบเวลาต่างๆ ในการดำเนินการ รวมถึงเปิดช่องให้อุทธรณ์ได้
ทั้งนี้ กรรมาธิการวิสามัญ จะเปิดรับความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ถึงวันที่ 27 มกราคม 2561และคาดว่า จะสามารถบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ได้ตั้งวันที่ 1 มกราคม 2562