ไม่พบผลการค้นหา
กระทรวงสิ่งแวดล้อมของญี่ปุ่นมีแผนจะนำดินที่ปนเปื้อนกัมมันตรังสีมาถมถนนและสร้างทางเดินเท้าในฟุกุชิมะ ท่ามกลางเสียงคัดค้านของประชาชนในพื้นที่

สื่อญี่ปุ่นรายงานว่า ทางการญี่ปุ่นเตรียมนำดินที่ปนเปื้อนกัมมันตรังสีจากบริเวณโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิ ซึ่งได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิถล่มเมื่อเดือน มี.ค.2554 มาใช้ในการถมถนนและทางเดินเท้าในเมืองเมืองนิฮอนมัตสึ จ.ฟุกุชิมะ แต่ประชาชนในเมืองเตรียมตัวประท้วงแผนการดังกล่าว เพราะกังวลเรื่องความปลอดภัยของประชาชนผู้ที่อาศัยอยู่ในเมือง

เว็บไซต์เจแปนไทม์รายงานว่า หน่วยงานบริหารส่วนท้องถิ่นใน จ.ฟุกุชิมะ จะนำดินปนเปื้อนนี้มาใช้เป็นฐานในการสร้างถนนในเมืองนิฮอนมัตสึ ความยาวประมาณ 200 เมตร โดยดินปนเปื้อนจะถูกถมเป็นชั้นแรก ที่ความลึกใต้ผิวถนนประมาณ 50 เมตร จากนั้นจึงถมทับด้วยดินสะอาดและราดยางมะตอยทับเพื่อป้องกันกัมตรังสี โดยรัฐบาลจะเริ่มเตรียมการก่อสร้างถายในเดือนพฤษภาคมที่จะถึง

ทั้งนี้ ทางจังหวัดฟุกุชิมะคาดว่าจะต้องใช้ดินที่ปนเปื้อนประมาณ 22 ล้านลูกบาศก์เมตรในการทำถนนครั้งนี้ ซึ่งทางเมืองมีแผนที่จะนำดินไปพักทิ้งไว้ชั่วคราวก่อนที่จะมีการขนส่งออกไปยังเขตก่อสร้าง

สำหรับดินที่จะนำไปใช้ในงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะนั้นจะเป็นดินที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีที่มีค่ารังสีไม่เกิน 8,000 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม ซึ่งทางกระทรวงสิ่งแวดล้อมของญี่ปุ่นประเมินว่าดินที่จะนำมาใช้ถนถนนมีค่าปนเปื้อนกัมมันตรังสีเพียง 1,000 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ทางกระทรวงมีการทดสอบนำดินที่ปนเปื้อนสารกัมตรังสีนี้ไปปูเป็นพื้นถนนในเมืองมินะมิโซมะ และมีการรับรองแล้วว่ามีความปลอดภัย

"แม้จะมีการรับประกันความปลอดภัย แต่ความรู้สึกในการใช้พื้นที่สาธารณะมันจะให้ความรู้สึกที่แตกต่างออกไปจากเดิม" บุนซากุ ทาคามิยาะ ชาวสวนวัย 62 ปีที่อาศัยอยู่ใกล้กับเส้นทางที่ทางการจะสร้างถนนกล่าว นอกจากนี้ เขายังกล่าวว่าโครงการดังกล่าวจะสร้างความไม่มั่นใจในความปลอดภัยให้กับผลผลิตทางการเกษตรจากฟาร์มบริเวณใกล้เคียงอีกด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง