ไม่พบผลการค้นหา
ต้นไม้ยักษ์เก่าแก่ในแอฟริกาตายกะทันหัน หลังจากมีอายุมากกว่าพันปี นักวิจัยเชื่อว่าเป็นผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง

นักวิจัยตีพิมพ์ผลงานในนิตยสารทางวิชาการ เนเจอร์แพนท์สว่า 'ต้นเบาบับ' ต้นไม้โบราณในทวีปแอฟริกาที่มีอายุ 1,100 – 2,500 ปี ตายกะทันหันทั้งสิ้น 9 ต้น ในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา โดยต้นเบาบับที่ตายล้วนอยู่ทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกาอย่างซิมบับเว นามิเบีย เซาท์แอฟริกา บอตสวานา และแซมเบีย และในจำนวนต้นเบาบับที่ตาย มี 4 ต้นที่เป็นต้นที่ใหญ่ที่สุดในแอฟริกา ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

จุดประสงค์ของงานวิจัยชิ้นนี้คือ การศึกษาว่าทำไมต้นเบาบับจึงจึงสูงใหญ่มาก โดยนักวิจัยได้ใช้วิธีการหาอายุจากคาร์บอนกัมมันตรังสี เพื่อวิเคราะห์ส่วนต่างๆ ของลำต้น ซึ่งนักวิจัยพบว่า ลำต้นของต้นเบาบับเจริญเติบโตมาจากแกนกลางลำต้นหลายแกน ไม่ได้เกิดจากแกนกลางลำตั้นเพียงแกนเดียว ทำให้ต้นเบาบับตายยากกว่าต้นไม้ชนิดอื่นมาก ต่อให้ไฟไหม้ต้นไม้หรือลอกเปลือกไม้ออก เบาบับก็จะสร้างเปลือกไม้ขึ้นมาใหม่แล้วเจริญเติบโตต่อไป แต่เมื่อต้นเบาบับตาย มันจะเน่าจากด้านในและล้มลงทันที

ในงานวิจัยระบุว่า ต้นเบาบับ 4 ต้นแกนกลางลำต้นเน่าและตายทั้งทุกแกน ส่วนที่เหลือแกนกลางหลายแกนเน่า โดยต้นเบาบับที่อายุมากที่สุดที่ตายไปช่วงปี 2010 – 2011 อยู่ในซิมบับเว อายุประมาณ 2,500 ปี ส่วนต้นเบาบับที่ใหญ่ที่สุดที่ตายไปอยู่ในนามิเบีย สูง 30.2 เมตร และวงรอบต้นไม้ยาว 35.1 เมตร

แม้สาเหตุการตายอย่างกะทันหันของต้นเบาบับจะยังไม่ชัดเจน แต่นักวิจัยคาดว่าอาจเป็นผลกระทบที่เกิดจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในพื้นที่ทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา โดยอาเดรียน ปาตรูต นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยบาเบช-โบลไยของโรมาเนียกล่าวว่า การที่ต้นไม้อายุกว่าพันปีมาตายอย่างรวดเร็วในช่วงอายุของคนเราถือเป็นประสบการณ์น่าตกใจที่เกิดขึ้น

ต้นเบาบับในแอฟริกา มีอายุยืนยาวที่สุดและสูงใหญ่ที่สุด และจากข้อมูลของเว็บไซต์อุทยานแห่งชาติครูเกอร์ของเซาท์แอฟริการะบุว่าต้นเบาบับมีอายุอยู่ได้ถึง 3,000 ปี บางต้นมีความกว้างเท่ากับความยาวของรถบัส เป็นต้นไม้ที่มีอายุยืนยาวที่สุดและสูงใหญ่ที่สุดในโลก ต้นเบาบับสามารถเก็บกักน้ำ และออกผลให้มนุษย์และสัตว์ต่างๆกินได้ นอกจากนี้ ชาวแอฟริกันยังนำใบไม้มาต้มกินเป็นอาหารหรือนารักษาโรค ส่วนเปลือกก็นำมาทุบและสานเป็นเชือก ตะกร้า เสื้อผ้า และหมวกกันน้ำ

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยจากโรมาเนีย เซาท์แอฟริกาและสหรัฐฯ จะต้องทำการวิจัยกันต่อไป เพื่อพิสูจน์สมมติฐานว่าการตายมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจริงหรือไม่