ไม่พบผลการค้นหา
ข่าวการพยายามเข้าชื้อสโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ของเจ้าชายจากซาอุดีอาระเบีย ไม่ได้มีแค่เรื่องของกีฬาและธุรกิจ แต่เกี่ยวข้องกับการเมืองบนเวทีโลก หลังจากการเสียชีวิตของนักข่าวชาวซาอุดีฯ

ข่าวใหญ่ในวงการฟุตบอลที่หลายคนจับตามอง คือ ข่าวที่ 'เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน' มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย ยื่นข้อเสนอขอซื้อสโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ซึ่งเป็นสโมสรฟุตบอลที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลกจากตระกูลเกลเซอร์เจ้าปัจจุบัน  กระแสนี้ดูจะเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นของแฟนฟุตบอล เพราะหลังจากตระกูลเกลเซอร์เข้าครอบครองสโมสรตั้งแต่ปี 2005 ตระกูลเกลเซอร์ถูกตั้งคำถามและมีกระแสต่อต้านจากแฟนบอลมาโดยตลอด ยิ่งฟอร์มการเล่นของทีมที่ตกต่ำลงในรอบหลายฤดูกาลหลังจากการจากไปของบรมกุนซือ อเล็ก เฟอร์กูสัน

แฟนบอลโจมตีไปถึงการบริหารทีมที่ไม่สามารถนำผู้เล่นระดับโลกมาอยู่ในทีมได้ ทำให้ข่าวการเข้ามาของราชวงศ์จากประเทศเศรษฐีน้ำมัน จึงเป็นเหมือนความหวังใหม่ที่จะนำความยิ่งใหญ่กลับมาสู่สโมสร เหมือนกับที่ ชีค มานซูร์ เศรษฐีจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ที่ทำให้สโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ทีมอริร่วมเมืองที่เคยเป็นแค่ทีมระดับกลางในอังกฤษ กลายมาเป็นสโมสรระดับท็อปของยุโรปได้

แต่เข้ามาของเจ้าชายแห่งซาอุฯ นี้ไม่ได้มีแค่เรื่องกีฬากับธุรกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นผลประโยชน์ทางการเมืองเข้ามาซ้อนทับอย่างเลี่ยงไม่ได้และแยกกันไม่ออก …

เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน เป็นพระโอรสพระองค์โตของกษัตริย์ซัลมาน กับพระมเหสีพระองค์ที่สาม ฟาดาห์ บินต์ ฟาลา ได้เข้ามาสู่แวดวงการเมืองตั้งแต่วัย 24 ปี จนได้รับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม, ราชเลขาธิการ และมนตรีแห่งรัฐ ในเวลาเดียวกัน ในวัยเพียง 29 ปี ก่อนจะก้าวเข้ามารับตำแหน่งมกุฎราชกุมารอย่างเหนือความคาดหมาย

สิ่งที่บิน ซัลมาน ได้ผลักดันแล้วส่งผลสำคัญต่อซาอุดีอาระเบียอย่างมากที่สุดก็คือ วิสัยทัศน์ 2030 แผนยุทธศาสตร์ชาติระยะยาว (คล้ายๆ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของไทยเรา) เพื่อพัฒนาประเทศด้านต่างๆ มีเป้าหมายหลักคือเปลี่ยนประเทศให้ออกจากการพึ่งพาเม็ดเงินจากธุรกิจน้ำมันเป็นหลักอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ตามวิสัยทัศน์นี้มีการลงทุนโครงสร้างสาธารณะด้านต่างๆ ทั้งการศึกษา ขยายการจ้างงาน สาธารณสุข ร่วมไปถึงภาคธุรกิจบันเทิงและกีฬา ที่จะเป็นตัวแสดงความเป็นสมัยใหม่ของซาอุดีอาระเบียออกจากภาพความเป็นประเทศมุสลิมเคร่งครัดธรรมเนียม

โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน.jpg

เงินทุนจำนวนมหาศาลถูกใช้ไปกับการสร้างโครงสร้างด้านกีฬา ศูนย์กีฬาหลายร้อยแห่งเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว มีการให้เงินสนับสนุนสโมสรกีฬาภายในประเทศ คาดการณ์ว่าจะสร้างตำแหน่งงานเพิ่มสูงถึง 40,000 ตำแหน่ง นอกจากนั้นยังได้จัดอีเวนต์กีฬาระดับโลกมากมาย อาทิ World Boxing Super Series (WBSS) และ Race of Champions (ROC) อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในประวัติศาสตร์ของซาอุดีอาระเบียหรือประเทศอาหรับในกลุ่ม Gulf Nations ที่จะมีมหกรรมกีฬามากมายในเวลาใกล้เคียงกันแบบนี้ รวมถึงสนับสนุนอุตสาหกรรมบันเทิงอื่นๆ อย่างเช่น มีการสร้างโรงภาพยนตร์หลายแห่ง

อุตสาหกรรมบันเทิงและกีฬาที่คึกคักสร้างภาพประเทศมุสลิมหัวก้าวหน้า เปิดกว้างมากขึ้น ที่นานาชาติฝั่งตะวันตกต่างชื่นชมนั้น มาพร้อมกันกับการกระชับอำนาจของ บิน ซัลมาน ที่สั่งประหารคนในราชวงศ์ถึง 47 คน ในข้อหาเป็นผู้ก่อการร้าย และการทำสงครามในเยเมนอย่างเต็มรูปแบบอย่างยืดเยื้อ ทำให้เกิดวิกฤตทางมนุษยธรรมสุดเลวร้ายในเยเมน

ในช่วงต้นปี 2018 ที่ผ่านมา ในเกมฟุตบอลซาอุดีพรีเมียร์ลีกระหว่าง Al Ahli กับ Al Batin เป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ที่รัฐบาลอนุญาตให้ผู้หญิงเข้าไปในสนามฟุตบอลได้ ภาพผู้หญิงใส่ฮิญาบหลายร้อยคนเข้าไปในสนาม Jeddah โด่งดังไปทั่วโลก จนมาถึงข่าวการอนุญาตให้ผู้หญิงสามารถมีใบขับขี่ได้ เหมือนว่าเป็นยุคใหม่ที่มาพร้อมความเท่าเทียมของสตรีเพศ

... แต่เสรีภาพของพวกเธอกลับเป็นเสรีภาพที่ถูกเลือกให้โดยรัฐบาล ผู้หญิงได้รับอนุญาตให้เข้าสนามฟุตบอลเพียงไม่กี่สนามที่ออกแบบไว้รองรับเท่านั้น แม้อาจมีสิทธิ์ขับรถยนต์ แต่การเดินทางไปไหนต่อไหนหลายที่ ยังต้องได้รับอนุญาตจากผู้ปกครองหรือญาติที่เป็นผู้ชายอยู่ รัฐบาลยังใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อติดตามผู้หญิงเวลาที่เดินทางออกไปต่างประเทศ ซึ่งสามีของเธอได้รับอนุญาตให้สามารถรู้ความเคลื่อนไหวของภรรยาในต่างประเทศได้

 World Economic Forum ได้จัดอันดับประเทศที่มีช่องว่างความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศชายและหญิง ซึ่งซาอุดีอาระเบียย่ำแย่มาก มีช่องว่างดังกล่าวกว้างอยู่ที่อันดับ 141 จาก 144 ประเทศ

จึงมีหลายคนมองว่ากีฬาและอุตสาหกรรมบันเทิงเป็นตัวเล่นสำคัญที่จะสร้างภาพความเป็นสมัยใหม่ให้กับซาอุดีฯ และ บิน ซัลมาน ‘เจ้าชายนักปฏิรูป’ บนเวทีโลก ที่ดูเหมือนซาอุดีอาระเบียจะแคร์สายตาโลกมากขึ้นกว่าเมื่อก่อน

คดีการสังหาร 'จามาล คาชอกกี' ผู้สื่อข่าวชาวซาอุดีอาระเบีย ที่เดินทางเข้าไปในสถานกงสุลซาอุดีอาระเบียในนครอิสตันบูลประเทศตุรกี เพื่อทำเอกสารหย่ากับภรรยา ทำให้เขาถูกสังหาร และศพถูกส่งกับไปซาอุดีอาระเบีย เป็นข่าวใหญ่สร้างความแตกตื่นไปทั่วโลก

คาชอกกี เป็นนักข่าวที่มักจะวิจารณ์ราชวงศ์ซาอุดีอาระเบียอย่างหนักมาโดยตลอด จนเขาต้องออกไปอยู่ที่สหรัฐอเมริกาและได้รับสัญชาติสหรัฐฯ คาชอกกีวิจารณ์โยบายการปฏิรูปประเทศของบิน ซัลมาน อย่างหนักหน่วง โดยเขามองว่าเป็นเพียงฉากบังหน้าของนโยบายอื่นๆ ที่เต็มไปด้วยการการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งเขาเคยเขียนบทความ What the Arab world needs most is free expression  ระบุไว้ในเดอะวอชิงตันโพสต์

หลังจากมีหลักฐานต่างๆ ที่ชี้ให้ทั่วโลกเห็นว่ารัฐบาลซาอุดีอาระเบียร่วมมือกับสถานกงสุลสังหารคาชอกกี ผู้มีความคิดขัดแย้งกับรัฐบาล จึงเป็นภาพลบอย่างมากต่อนโยบายการปฏิรูปประเทศไปสู่ความเป็นสมัยใหม่

ข่าวที่ตามเพียงไม่กี่วันหลังคาชอกกีเสียชีวิต คือ ข่าวการพยายามเข้าซื้อแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด หลายคนมองว่าเป็นเพียงแค่แผนสร้างกระแสเบี่ยงเบนความสนใจจากข่าวเสียหายที่เกิดขึ้นนี้ ไม่ได้มีความจริงจังในการเสนอเหมือนที่แฟนบอลบางคนคิด

Manchester United takeover tale puts wrong spotlight on Saudi Arabia “นิทานเรื่องการเข้าซื้อแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ผลักสปอตไลต์ให้ส่องซาอุดีอาระเบียไปผิดจุด” บทความของเดอะการ์เดียนพาดหัวไว้

Smanachan Buddhajak
0Article
0Video
0Blog