นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยถึงรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เร็ว ๆ นี้ เกี่ยวกับการซ้อมทรมานในค่ายทหาร 2 กรณี ได้แก่ 1) การลงโทษทหารศูนย์การทหารม้าโดยการใช้หวายตีที่หลังและถีบเข้าที่ร่างกาย เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2559 และ 2) การซ้อมทรมานพลทหารยุทธกินันท์ บุญเนียม ซึ่งถูกรุมทำร้ายจนเสียชีวิตระหว่างการคุมขังในเรือนจำมณฑลทหารบกที่ 45 จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2560 ตามที่ปรากฏเป็นข่าว
นางอังคณาระบุว่า จากการตรวจสอบกรณีดังกล่าว กสม.ได้มีมติหยิบยกขึ้นมาพิจารณา เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง โดย กสม. มีมติว่า กรณีแรก การกระทำของครูฝึกที่ลงโทษตีบริเวณหลังของผู้เสียหายด้วยหวายและใช้เท้าถีบเข้าที่ร่างกายเพื่อให้เกิดความหลาบจำ เป็นการลงทัณฑ์ที่ไม่สอดคล้องกับหลักการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ถือเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของบุคคลตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และเป็นการกระทำที่ขัดต่ออนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี
ขณะที่กรณีที่สอง ซึ่งเป็นการซ้อมทรมานพลทหารยุทธกินันท์ บุญเนียม โดยกำลังพลซึ่งเป็นผู้ต้องขังพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ในเรือนจำมณฑลทหารบกที่ 45 จนพลทหารยุทธกินันท์ได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตในเวลาต่อมานั้น ถือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289 มาตรา 290 และมาตรา 291 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ประกอบกับอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ตลอดจนข้อกำหนดขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง (Mandela Rule) ซึ่งเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย
ต่อกรณีข้างต้น กสม. จึงเห็นสมควรเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยสรุปได้ดังนี้
1. ศูนย์การทหารม้า และมณฑลทหารบกที่ 45 ควรกำชับเจ้าหน้าที่ให้ปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากการใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ คำนึงและเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่ควรบังคับข่มขู่คุกคามด้วยประการใด ๆ ทั้งปวง โดยเฉพาะการลงโทษด้วยการทำร้ายร่างกาย กรณีเจ็บป่วย หรือ ได้รับบาดเจ็บ ต้องได้รับการรักษาพยาบาลและการดูแลด้านสุขภาพตามมาตรฐานโดยเร็ว และควรแจ้งให้ญาติของบุคคลดังกล่าวได้ทราบ
2. กองทัพบกควรกำหนดหลักเกณฑ์หรือแนวทางการปฏิบัติต่อทหารที่กระทำผิด รวมทั้งกฎ ระเบียบ โดยคำนึงถึงการใช้อำนาจตามขอบเขตของกฎหมายตามหลักสิทธิมนุษยชน และควรออกระเบียบให้มีการช่วยเหลือและเยียวยาครอบครัวของผู้เสียหาย/ผู้เสียชีวิต และให้ความสำคัญต่อการฟื้นฟูสภาพจิตใจเป็นประการสำคัญ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้กระทบต่อสิทธิขั้นพื้นฐาน และให้เป็นแนวทางปฏิบัติและมาตรการป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ขึ้นอีก ใช้บังคับทั่วประเทศ เพื่อเป็นการแก้ปัญหาในเชิงป้องปราม
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :