สำหรับผู้มาเยือนที่นานๆ จะได้เดินทางไปชื่นชมสักครั้ง ภาพของนครหลวงเวียงจันทน์วันนี้คงแตกต่างไปจากความทรงจำอยู่ไม่น้อย ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงและกระแสการพัฒนา หนุ่มสาวชาวลาวกลุ่มหนึ่งมารวมตัวกันเป็นประจำที่ ‘ฟังลาว’พื้นที่เล็กๆ เตะตาด้วยกราฟิตี้เท่ๆ แต่ก็ใหญ่พอจะตั้งห้องซ้อมที่สามารถกลายเป็นโรงละครขนาดย่อมได้
บริษัท โรงเรียน ชุมชน บ้าน
เข้าสู่ปีที่สี่ ‘ฟังลาว’ เป็นทุกอย่างของสมาชิก รวมคนชอบเต้นทุกแนวทั้งฮิพฮอพ เบรกแดนซ์ และคัฟเวอร์ตั้งแต่เกาหลียันไทยป๊อป ที่นี่เป็นบริษัทแห่งแรกในลาวที่จ้างศิลปินนักเต้นแบบประจำ (full-time) ก่อตั้งโดยกาก้า อุ่นหล้า พาอุดม และ นุช นุชนภา สร้อยดารา อ้ายกาก้าและเอื้อยนุชของน้องๆ
“มันเริ่มจากความรักในการเต้น เพราะพวกเราเองก็เป็นนักเต้นมาก่อน เราเริ่มเต้นตั้งแต่ปี 2547 ก็รู้สึกว่า เรารักสิ่งที่ทำอยู่และอยากจะทำให้มันเป็นอาชีพ เพราะว่าเรื่องของศิลปิน ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ค่อนข้างจะอยู่ยากถ้าไม่มีรายได้ เราก็ไปหลายประเทศมา เลยอยากให้มีที่ลาว เพราะในหลายประเทศเขาก็สามารถสร้างเป็นอาชีพได้ แต่ที่บ้านเรายังไม่เคยมีบริษัทเต้นที่จ้างพนักงานประจำ ก็เลยลองคุยกันแล้วเริ่มสร���างกันมา ก็ไม่คิดว่าจะมาไกลขนาดนี้” อุ่นหล้ากล่าว
เมื่อถามว่าผ่านมาสี่ปี พร้อมๆ ไปกับสังคมลาวที่กำลังพัฒนา พวกเขาเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นบ้าง นุชนภาแลกเปลี่ยนว่า ชุมชนนักเต้นแห่งนี้กำลังไปด้วยกันได้ดีกับการเปลี่ยนแปลงในสังคม
“เรามาถึงจุดนี้ได้ก็สะท้อนว่า สังคมของเรากำลังมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น และกำลังจะสนับสนุนมากขึ้น เปรียบเทียบจากการเรียนเต้นที่แต่ก่อนพ่อแม่ไม่สนับสนุนเลย ปัจจุบันนี้ก็สนับสนุนมากขึ้น เราเองก็ทำการแสดงให้ทุกคนได้เห็น ให้น้องๆ และพ่อแม่ของเขาเห็นเป็นตัวอย่าง เขาก็ไว้ใจเรา ส่งลูกมาเรียน เริ่มพาลูกมาดูการแสดง ยอมรับเลยว่าการแสดงของเราส่วนใหญ่จะเป็นต่างชาติมาดูโดยเฉพาะการแสดงแนวร่วมสมัย แต่หลังๆ นี้ก็เริ่มมีคนลาวมาดูแล้ว รู้สึกว่ามีพัฒนาการ ค่อยๆ ก้าวไป ในอนาคตอยากมีโอกาสได้ร่วมงานกับศิลปินในอาเซียน พัฒนาด้านนี้ไปด้วยกัน”
วันที่เจอกัน เรามีโอกาสได้ดูการแสดงของศิลปินรุ่นใหม่สองคน
การแสดง What is that โดย ทะนัดจิด ผ่านนะวง
การแสดงแรก ‘What is That’ ออกแบบโดย ทะนัดจิด ผ่านนะวง ที่ชวนคนดูตีความและตั้งคำถามกับความคิดของตัวเองผ่านการแสดงร่วมสมัยที่มีกลิ่นไอการฟ้อนรำของลาว ต่อด้วยการพูดถึงความสัมพันธ์และการต่อรอง เต็มไปด้วยความขัดแย้งและการออมชอมระหว่างคนสองคนผ่านการแสดง ‘SIT’ ของสมวันเพ็ง แก้วหลวงราธ
แม้ทิศทางการพัฒนาของประเทศลาวเอื้อต่อการมีอาชีพใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน คนหนุ่มสาวที่ ‘ฟังลาว’ ก็ต้องพิสูจน์ตัวเองกันต่อไปว่าจะสามารถเลี้ยงปากท้องจากสิ่งที่ ‘ฮัก’ และ ‘มัก’ อย่างการเต้นได้ เท่าที่ถามไถ่คนรุ่นใหม่ที่นี่มาหลายคน พ่อแม่ชาวลาวก็ไม่ต่างจากพ่อแม่ชาวไทยที่อยากให้ลูกเรียนสูงๆ และหางานที่มั่นคงทำ ทะนัดจิดยืนยันค่านิยมเรื่องนี้ และบอกว่า ในฐานะลูกชายคนเดียวของบ้าน ก่อนหน้านี้พ่อแม่ของเขาก็ไม่สนับสนุนเรื่องเต้นเลย
ทะนัดจิด ผ่านนะวง ศิลปินรุ่นใหม่
“แต่เดี๋ยวนี้เราพิสูจน์ได้แล้ว เพราะว่าเราหาเงินจากการเต้น ไม่ได้ขอเงินพ่อแม่มาสองสามปีแล้ว บางคนคิดว่าเราจะเต้นกินรำกินไปอย่างเดียว มันไม่ใช่แบบนั้น หลายคนที่นี่ไม่ได้เต้นอย่างเดียวนะ เต้นไปด้วย ทำงานที่อื่นไปด้วยก็มี คือเราทิ้งการเต้นไม่ได้ มีเพื่อนคนหนึ่งทำงานธนาคาร ตอนเช้าไปทำงานตามปกติ ตอนเย็นเลิกงานก็มาเต้นที่นี่กลับบ้านสี่ทุ่ม สมมติมีงานแข่งก็ไปทำงานตามปกติก่อนแล้วเลิกงานก็ไปแข่งกัน”
การแสดง SIT โดย สมวันเพ็ง แก้วหลวงราธ
ด้านสมวันเพ็ง หรือ มิมี ศิลปินอีกคนบอกเราว่า เธอเรียนจบจากคณะบัญชี เพราะที่ลาวไม่มีคณะที่สอนเรื่องศาสตร์การเต้นและการแสดงโดยตรง
“มันไม่มีสายนี้ในลาวจะให้เลือกยังไง ถ้าเลือกได้ก็อยากเรียนศาสตร์การเต้นเลย ลงลึกเรื่องการแสดงเลย ส่วนใหญ่จะมีแต่พื้นฐานที่แต่ละประเทศต้องมีแน่นอน คือมีโรงเรียนสอนศิลปะประจำประเทศ แต่เรื่องแบบนี้มันต้องเป็นแนวประยุกต์ แนวคิดผู้ใหญ่บางคนอาจจะคิดว่า เราเป็นผู้หญิงจะมาเต้นแบบนี้ได้ยังไง เราก็คิดในใจว่า ก็เราชอบ และการได้แสดงมันดีมากเลย มันทำให้เราได้แสดงสิ่งที่อยู่ในใจของเราออกมา ทุกการเคลื่อนไหวตอนการแสดงมันมีความหมายสำหรับเรา”
สมวันเพ็ง แก้วหลวงราธ ศิลปินรุ่นใหม่
ถึงแม้แนวคิดเรื่องการ ‘เต้นเป็นอาชีพ’ จะยังไม่แพร่หลายในสังคมลาวสมัยใหม่ แต่อย่างน้อยที่สุด เราได้สัมผัสแล้วว่า วันนี้ที่เวียงจันทน์มีพื้นที่การแสดงออกให้กับคนรุ่นใหม่ที่พร้อมจะทำความฝันของพวกเขาให้เป็นจริง