ไม่พบผลการค้นหา
หากพิมพ์คำว่า ‘บาร์เซโลนา’ ลงในกูเกิล แน่นอนว่า คุณจะพบกับภาพสถาปัตยกรรมแบบอาร์ตนูโว (Art Nouveau) ของอันตอนี เกาดี (Antoni Gaudi) บรรยากาศเมดิเตอร์เรเนียนเต็มไปด้วยแสงอาทิตย์แสนอบอุ่น หรือไม่ก็สโมสรฟุตบอลบาร์ซา ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นภาพหลักๆ ที่ทำให้หลายคนอยากเดินทางไปทำความรู้จักกับเมืองหลวงของแคว้นกาตาลุญญา ประเทศสเปน กันมากยิ่งขึ้น

ความจริงแล้วเมืองบาร์เซโลนาคล้ายๆ กับกรุงเทพฯ บ้านเรา ซึ่งชื่อเสียงโด่งดังด้านการท่องเที่ยว จนทำให้ทุกๆ ปีต่างชาตินิยมเดินทางเข้าไปสัมผัสมนต์เสน่ห์ของบาร์เซโลนาประมาณ 10 ล้านคน ทั้งทางรถยนต์ รถไฟ เรือสำราญ และเครื่องบิน สวนทางกับปริมาณพลเมืองที่มีอยู่ราวๆ 1.7 ล้านคนเท่านั้น

หากย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ ประเทศสเปนต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายทางเศรษฐกิจ และสถานการณ์วิกฤตทางการเมืองที่ปกครองด้วยรัฐบาลทหารมาตลอด แต่ต้องยอมรับว่า ปัจจัยสำคัญที่ฟื้นฟูบาร์เซโลนาให้กลายเป็นเมืองที่โดดเด่นเรื่องการสร้างความมั่งคั่งจากวัฒนธรรมอยู่ตรงการออกแบบผังเมืองแบบไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยมุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากพื้นที่สาธารณะ และสร้างความสัมพันธ์ของผู้คนกับสังคม กระทั่งได้รับยกย่องเป็น ‘บาร์เซโลนา โมเดล’ รูปแบบการพัฒนาเมืองสร้างสรรค์ระดับโลก ที่หลายๆ เมืองควรเอาเป็นเยี่ยงอย่าง

การพัฒนาเมืองบาร์เซโรนาเกิดขึ้นในปี 1960-1970 ช่วงเวลาที่บาร์เซโลนาค่อยๆ เปลี่ยนตัวเองจากดินแดนหนึ่งทางตอนใต้ของยุโรป ซึ่งไม่ร่ำรวยอะไร และปกครองด้วยรัฐบาลทหาร แต่กลับมีผู้คนอพยพเข้ามาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก จนเมืองเกิดการขยายตัวเต็มไปด้วยอาคารสูง

ขณะเดียวกันบาร์เซโลนาก็เต็มไปด้วยชนชั้นกลางมากวัฒนธรรม ส่วนใหญ่เป็นศิลปิน นักเขียน ผู้สร้างภาพยนตร์ สถาปนิก ฯลฯ แต่ยุคเผด็จการทำให้พวกเขาขยับตัวมากไม่ค่อยได้ อย่างไรก็ตาม พวกเขาขบคิดเรื่องการพัฒนาเมืองมานานหลายปี และความคิดของพวกเขาก็สร้างสถานการณ์ ‘คลื่นใต้น้ำ’ ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

วิเวียนา นาโรตสกี (Viviana Narotzky) เริ่มต้นแนะนำ ‘บาร์เซโลนา โมเดล’ ที่เกิดจากการพูดคุยกันช่วงปลาย 1990 ด้วยไอเดียว่า การเปลี่ยนแปลงเมืองให้ประสบความสำเร็จต้องเรียนรู้บริบทมากมายว่า บาร์เซโลนาผ่านอะไรมาบ้าง ตั้งแต่การเป็นเมืองหลังอุตสาหกรรมตั้งแต่ปี 1970 ก่อนกลายเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยสีสันสวยงามในปัจจุบัน


Artboard 1.png


“ฉันไม่อยากให้คิดว่า ‘บาร์เซโลนา โมเดล’ เป็นแผนการพัฒนาของบาร์เซโลนาแค่เมืองเดียวเท่านั้น เพราะบาร์เซโลนาเมืองเดียวก็มีหลายๆ โมเดลอยู่ในนั้น เนื่องจากเมืองเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทุกๆ โมเดลมีพลังผลักดันแตกต่างกันไป” วิเวียนาเปิดฉาก ก่อนฉายภาพเบื้องหลังการวางผังเมืองบาร์เซโลนาที่กรุงเทพฯ น่าหยิบยืมมาใช้ในสร้างคุณภาพชีวิตให้ฟัง

1977-1986 : Intensive Care 

สำหรับการพัฒนาเมืองบาร์เซโลนาราวๆ ปี 1977 วิเวียนาตั้งชื่อว่า ‘ไอซียู’ (Intensive Care Unit – ICU) หรือ ‘สถานการณ์ฉุกเฉิน’ เพราะการเมืองหลังนายพลฟรันซิสโก ฟรังโก (Francisco Franco) ผู้นำเผด็จการเสียชีวิตในปี 1975 ทำให้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของระบอบประชาธิปไตย

“เป็นครั้งแรกในหลายๆ ทศวรรษที่สภาเมืองประกาศการเลือกตั้ง และเริ่มหันมาบริหารเมือง แต่มันเป็นการบริหารแบบไม่มีเงิน ไม่มีประสบการณ์ ไม่มีความชำนาญ โดยคนที่เข้ามาทำงานในสภาเมืองครั้งแรกๆ ส่วนใหญ่เป็นชนชั้นแรงงาน ไม่มีความรู้ ไม่มีอำนาจ และไม่เคยทำงานเกี่ยวข้องกับการเมืองมาก่อนเลย” วิเวียนาเล่าให้ฟัง

ช่วง 1977-1986 ทุกคนในบาร์เซโลนาพยายามจินตนาการภาพเมืองที่ทันสมัย ถนนหนทางเยอะๆ เพื่อรองรับการเดินทางด้วยรถยนต์ โดยไม่คำนึงถึงการใช้ชีวิตของผู้คน และบาร์เซโลนาเองก็พัฒนาไปในลักษณะดังกล่าว แต่พอสภาใหม่เข้ามาเมืองก็เปลี่ยนแปลงไปเป็นแบบไมโคร-อินเทอร์เวนชั่น (Micro-Intervention) คือทำกันเล็กๆ ระดับจุลภาค ด้วยสายตาคนธรรมดาทั่วไป


“เราไม่ได้มองเมืองด้วยสายตาของสถาปนิก สายตาของวิศวกร หรือสายตาของคนวางผังเมือง แต่มองด้วยสายตาของพลเมือง คือมองไปที่การเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ แล้วก็ค่อยๆ นำเอาองค์ประกอบต่างๆ เข้ามาสร้างความงดงามของเมืองร่วมกัน”


ต่อมา ความก้าวหน้าในการพัฒนาเมืองเกิดขึ้นอีกครั้งในปี 1985 โดยทางสภาต้องการให้พลเมืองมีส่วนร่วมมากขึ้น จึงจัดทำแคมเปญแรกให้พลเมืองผนึกกำลังทำบาร์เซโลนาให้สวยงามยิ่งขึ้น ซึ่งประสบความสำเร็จมากๆ เพระเกิดการเปลี่ยนแปลงภายนอกของอาคารตั้งแต่เพดาน ผนัง และดาดฟ้า โดยการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นช้าๆ อย่างเป็นธรรมชาติ

1986-1992 : Pre-Olympic 

ยุคต่อมาคือ 1986-1992 เป็นช่วงเวลาที่คนบาร์เซโลนาลืมไม่ลง เพราะเมืองเฉลิมฉลองให้กับการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกเกมที่เกิดขึ้นในปี 1992 และนั่นทำให้เกิดโจทย์การปลี่ยนแปลงเมืองครั้งใหม่ เนื่องจากสภาของปาสคาล มารากาล (Pasqual Maragall) มีวิสัยทัศน์ใหญ่กว่าเดิม คือการสร้างแลนด์มาร์กในหลายๆ บริเวณของเมือง ซึ่งออกแบบด้วยฝีมือสถาปนิกระดับชาติ ทำให้เกิดการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเอกชน และรัฐบาล

ที่สำคัญ ไม่ใช่แค่แลนด์มาร์กเท่านั้น แต่การลงทุนทางสาธารณูปโภค เช่น การสร้างถนน ปรับปรุงชายหาด และวงแหวนขนาดใหญ่ที่สร้างก่อนปี 1992 ครอบเมืองเอาไว้ก็ทำให้เมืองชั้นในของบาร์เซโลนาไม่หนาแน่นด้วยวัฒนธรรมรถยนต์จนเกินไป


saurav-rastogi-352983.jpgekansh-saxena-333188.jpg


“หลังจากโอลิมปิกเกม สภาเมืองเห็นแล้วว่า เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างพลเมือง รัฐ และสถาบัน ทุกคนเกิดความตื่นเต้น กระตือรือร้น และหลายๆ คนก็มีความสุขกับการเปลี่ยนแปลงของเมือง ส่งผลให้หลังจากโอลิมปิกเกมจบลงสภาเมืองตัดสินใจสร้างอีเวนต์ใหญ่ๆ อีกสักครั้งที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คนท้องถิ่น และเพื่อนบ้าน เพื่อให้พวกเขาช่วยกันฟื้นฟูเมืองในบริเวณอื่นๆ”

จากนั้น สภาเมืองบาร์เซโลนาเสนอไอเดียการทำโครงการ ‘ฟอรัม ออฟ คัลเจอร์’ (Forum of Culture) ตั้งเป้าให้เป็นพื้นที่ใหม่ของเมืองใกล้ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ครอบคลุมประมาณ 30 เฮกเตอร์ โดยเปลี่ยน ‘ลามินา’ (Lamina) ซึ่งเป็นย่านยากจน สกปรก และประสบปัญหาทางด้านการเมือง ให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะของเมืองในอนาคต จนกระทั่งประสบความสำเร็จ

1992-2004 : Expansion

ขณะเดียวกันในปี 1992 บาร์เซโลนาเปิดตัวเองแก่นักท่องเที่ยว ส่งผลให้สภาเมืองสร้างสรรค์บาร์เซโลนา ดีไซน์ รูท (Barcelona Design Route) เป็นการแนะนำเส้นทางท่องเที่ยวตามสตูดิโอออกแบบ และหลังจากประสบความสำเร็จ ต่อมาในปี 2002 ก็เกิดเส้นทางใหม่ขึ้นเรียกว่า เกาดี รูท (Gaudi Route) เพื่อให้นักท่องเที่ยวเดินไปชมสถาปัตยกรรมแบบอาร์ตนูโว (Art Nouveau) อันน่าหลงใหลของอันตอนี เกาดี (Antoni Gaudi) สถาปนิกผู้โด่งดังสุดในประเทศสเปน ซึ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ดีมาก


tyler-hendy-67196.jpgtyler-hendy-139071.jpg


จนกระทั่งในปี 2004 เกิดเป็นอาร์ตนูโว รูท (Art Nouveau Route) เป็นแรงขับเคลื่อนลักษณะคล้ายๆ กัน และเห็นได้ชัดเจนว่า ตั้งแต่เมืองเปลี่ยนแปลงตัวเอง คุณภาพชีวิตของพลเมืองของบาร์เซโลนาดีขึ้น และบาร์เซโลนากลายเป็นเมืองที่นำเสนอตัวเองกับโลกภายนอกได้น่าสนใจ

2004-2013 : Investment-Led

โมเดลสุดท้ายคือ อินเวสเมนท์-เลด (Investment-Led) เกิดขึ้นในช่วงปี 2004-2013 ภายใต้บริบทโลกสมัยใหม่ที่เต็มไปด้วยการลงทุน ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นกับบาร์เซโลนาคือ สภาเมืองพยายามสร้างสรรค์พื้นที่ใหม่ๆ เพื่อผลิกโฉมเมืองอุตสาหกรรมเก่าแบบเดิมๆ และแหล่งชำรุดทรุดโทรม ให้กลายเป็นย่านนวัตกรรม (Innovation District) ศูนย์รวมของมหาวิทยาลัย และบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำ ซึ่งส่วนใหญ่เอกชนเป็นผู้นำ


biel-morro-235394.jpg


“ฉันไม่ได้บอกว่า เอกชนนั้นไม่ดี เพราะความจริงเอกชนดีได้แน่นอน แต่จุดสำคัญคือ ต้องแยกให้ออกว่า เรากำลังพูดถึงโมเดลที่แตกต่างกันมากๆ ตั้งแต่ตอนแรกๆ และมันเปลี่ยนไปได้อย่างไร เพราะปัจจุบันบาร์เซโลนากลายเป็นเมืองที่เอกชนลงทุนแล้ว”

นอกจากนั้น วิเวียนาเสริมอีกว่า ‘บาร์เซโลนา โมเดล’ ก็ยังมีปัญหาในตัวเองที่ทุกคนต้องทราบคือ

“เวลาพูดเรื่องโมเดลทุกคนต้องตระหนักว่า มันเป็นเรื่องของระบบ และวิธีการนำเสนอ นั่นหมายความว่า โมเดลอาจไม่เกิดขึ้นจริง โมเดลเป็นสิ่งที่ช่วยให้ทุกสิ่งง่าย ดังนั้น เวลาทำอะไรให้ทุกสิ่งง่ายมันหมายความว่า คุณไม่สนใจบริบท ทำให้ข้อมูลหลายๆ ส่วนรั่วไหล เพื่อให้โมเดลง่ายสุดๆ จึงต้องหาสมดุลให้เจอระหว่างข้อมูล และการใช้ได้จริง เพื่อสุดท้ายแล้วจะได้โมเดลที่สามารถนำมาใช้ได้จริงๆ”

อีกประเด็นหนึ่งที่วิเวียนามองว่า สำคัญมากๆ ในการออกแบบผังเมืองคือ โมเดลมักแนะนำเรื่องรูปทรง การออกแบบที่เป็นทางการ และเน้นย้ำสิ่งที่จับต้องได้มากกว่าการสร้างสังคม


“สิ่งสำคัญของบาร์เซโลนา โมเดล ไม่ใช่เรื่องหน้าตาของเมือง ไม่ใช่การตัดสินใจพัฒนาอาคารประเภทไหน แต่ทั้งหมดเน้นไปที่การสร้างความสัมพันธ์กับสังคม และผู้คน ที่ต้องทำให้เกิดขึ้นมากกว่า”


เวลามองกรณีศึกษาของบาร์เซโลนาก็เป็นเพียงหนึ่งสถานที่ หนึ่งช่วงเวลา เช่น ตั้งแต่ปี 1979-1992 บาร์เซโลนา โมเดล เกิดขึ้นได้ ซึ่งจุดหนึ่งที่สำคัญมากๆ คือภูมิหลังอันลึกซึ้งของการเคลื่อนไหวระดับรากหญ้า ซึ่งมีมาตั้งแต่ปี 1960 ประมาณ 25-30 ปี การเคลื่อนไหวของการพัฒนาเมือง การวางผังเมืองมาตลอด เกิดขึ้นจากผู้วางแผน นักภูมิศาสตร์ นักวิชาการ หลายๆ คนเข้ามามีส่วนร่วม เพราะหลายๆ คนพยายามต่อสู้ให้ชีวิตขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่สาธารณะของชุมชน

“เมืองบาร์เซโลนาหลายๆ ทศวรรษที่ผ่านมา มีคนมากมายเหลือเกินที่ทำอะไรไม่ได้ แต่พวกเขาคิดจะเปลี่ยนมาตลอด จนทำให้ทุกอย่างสุกงอม ดังนั้น พอองค์ประกอบพร้อม ทุกฝ่ายมองเห็นผลประโยชน์ร่วมในการเปลี่ยนแปลงเมือง จึงกลายเป็นการพัฒนาผังเมืองของบาร์เซโลนา โดยนักภูมิศาสตร์ และรัฐศาสตร์ของอเมริกาวิเคราะห์สถานการณ์ของบาร์เซโลนาเป็นการร่วมมือกัน ผสมผสานกันระหว่างเอกชน รัฐบาล ภาคประชาสังคม ทุกคนเข้ามาร่วมกันเข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลง”

สุดท้ายที่สำคัญยิ่งคือ เรื่องเมืองช้า (Slow Urban) หมายความว่า เกิดความต่อเนื่องทางการเมือง หรือสภาที่เป็นประชาธิปไตยจากการเลือกตั้งในปี 1979 ไล่มาจนปี 2011 แน่นอนว่า การเลือกตั้งเกิดขึ้นทุก 4 ปี แต่ช่วงเวลา 32 ปี พรรคเดิมๆ ได้รับการเลือกเข้ามาบริหารตลอดทุกวาระ

“ด้านหนึ่งมันทำให้เห็นว่า พลเมืองชอบสิ่งที่เกิดขึ้น เรามีช่วงเวลาในการพัฒนาเมือง สามารถคิดอะไรยาวได้ สามารถลงทุนด้านสติปัญญา และเงินทองได้ เพราะเราคาดหวังให้โครงการดีๆ เกิดขึ้นได้ในช่วงวาระหนึ่งที่พวกเขาปกครองอยู่ คือทำไปแล้วไม่มีการมารื้อทิ้ง มีแต่ทำแล้วพัฒนาต่อยอดไปเรื่อยๆ เป็นลักษณะพื้นฐานหนึ่งที่ทำให้เมืองเราประสบความสำเร็จ” วิเวียนาทิ้งท้าย