ถ้าพูดถึงการ์ตูนญี่ปุ่นที่โด่งดังจากยุค 90 หนึ่งในเรื่องที่ต้องติดโผอย่างแน่นอนคือ JoJo's Bizarre Adventure หรือ ‘โจโจ้ ล่าข้ามศตวรรษ’ ผลงานของ อ.ฮิโรฮิโกะ อารากิ ที่ชาวไทยมักจะเรียกกันว่า ‘โจโจ้’ แต่มังงะเรื่องนี้ต่างจากเพื่อนร่วมรุ่นอย่าง Dragon Ball หรือ Slam Dunk ตรงที่การ์ตูนในยุคนั้นส่วนใหญ่มักจะปิดฉากกันไปหมดแล้ว หากแต่เรื่องราวของ ‘โจโจ้’ ยังคงดำเนินอยู่ถึงปัจจุบัน
‘โจโจ้’ เป็นมังงะที่ค่อนข้างประหลาด ปฏิกิริยาของคนอ่านมักเป็นสองฝั่งอย่างชัดเจนคือ ‘อิน’ หรือ ‘ไม่อิน’ เหตุมาจากว่าผลงานชิ้นนี้มีลายเส้นค่อนข้างเป็นเอกลักษณ์ต่างจากมังงะทั่วไป ไม่ได้มีความน่ารักหรือโมเอะแบบที่คนคุ้นชิน อ.อารากิเน้นโครงหน้าและรูปร่างที่ใกล้เคียงกับคนจริงๆ ถึงกระนั้น ‘โจโจ้’ ก็ไม่ได้เน้นความสมจริงไปเสียหมด
สิ่งที่โด่งดังมากคือการที่ตัวละครชอบทำท่าทางประหลาดบิดๆ เบี้ยวๆ ชนิดที่มนุษย์ปกติคงไม่ทำกัน หลายคนเลยชอบแซวว่า ‘โจโจ้ จอมแอ่น’ (ล้อกับ ‘ชินจัง จอมแก่น’)
ความเฉพาะตัวของ ‘โจโจ้’ ยังอยู่ที่เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของตัวละครที่แทบจะยกรันเวย์แฟชั่นโชว์มาเลยทีเดียว เป็นที่รู้กันดีว่า อ.อารากิ มีความสนใจอย่างกว้างขาง ทั้งเรื่องวัฒนธรรมต่างประเทศ, ดนตรี, ศิลปะ รวมถึงแฟชั่น จึงไม่น่าแปลกใจที่ตัวละครจาก ‘โจโจ้’ จะเคยขึ้นปกนิตยสารแฟชั่น, อารากิเคยร่วมงานกับแบรนด์ Gucci หรือภาพจาก ‘โจโจ้’ ก็เคยไปแสดงที่พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ด้วย
เนื้อเรื่องเป็นสิ่งที่โดดเด่นของ ‘โจโจ้’ เช่นกัน ปัจจุบันเรื่องราวดำเนินมาถึงภาคแปดแล้ว หากให้สรุปอย่างสั้นๆ การ์ตูนเรื่องนี้ว่าด้วยชะตากรรมของตระกูลโจสตาร์ผู้มีปานรูปดาวที่หลังคอ เรื่องราวกินเวลายาวนานเป็นหลักร้อยปี (เป็นที่มาของชื่อ ‘ล่าข้ามศตวรรษ’) บางทีอ่านไปแล้วก็มีอาการงงเหมือนกันว่าคนนี้เป็นพ่อใคร คนนั้นเป็นลูกใคร ถึงขั้นต้องเปิดกูเกิ้ลหา Family Tree ด้วยตัวเรื่องที่ซับซ้อนเลยทำให้คนที่จะอินกับ ‘โจโจ้’ ต้องเป็นแฟนพันธุ์แท้พอสมควร
สำหรับปี 2561 ถือเป็นปีที่น่าตื่นเต้นของแฟนๆ ‘โจโจ้’ เนื่องจากมีการจัดนิทรรศการฉลองครบรอบ 30 ปีที่ชื่อว่า HIROHIKO ARAKI JOJO EXHIBITION: RIPPLES OF ADVENTURE ณ ประเทศญี่ปุ่น แฟนคลับจากทั่วโลกก็ลงทุนของตั๋วเครื่องบินเพื่อไปร่วมนิทรรศการนี้ แต่ก็ตามสไตล์ญี่ปุ่นที่ข้อมูลในเว็บไซต์มีภาษาอังกฤษเพียบพร้อม แต่พอถึงหน้าเว็บไซต์ขายตั๋วกลับเป็นภาษาญี่ปุ่นล้วนซะงั้น! อย่างตัวผู้เขียนเองก็ต้องไหว้วานคนรู้จักที่อยู่ญี่ปุ่นช่วยซื้อตั๋วให้
ผู้เขียนมีโอกาสไปนิทรรศการ ‘โจโจ้’ ที่โตเกียวเมื่อช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา แต่ก่อนจะไปยัง National Art Center อันเป็นสถานที่จัดงานก็ได้ลองแวะเวียนไปยังจุดต่างๆ ในย่านรปปงหงิที่มีอีเวนต์พิเศษร่วมกับงาน ‘โจโจ้’ เพื่อเป็นการอุ่นเครื่องก่อน
จุดแรกคือโชว์รูมรถเบนซ์สาขารปปงหงิ ซึ่งงงมากว่าเกี่ยวกับอะไรกับ ‘โจโจ้’ ด้วย แต่ที่นี่นอกจากจะแปะรูปตัวละครไว้ทั่วตึกแล้ว คาเฟ่ที่อยู่ด้านหน้ายังขายเมนูเฉพาะกิจที่มาจากการ์ตูน (แน่นอนว่าคนต่อแถวซื้อกันยาวเหยียดจนต้องขอยอมแพ้) แต่ที่พิเศษสุดคือรถเบนซ์รุ่น ‘โจโจ้’ ที่ราคาก็แค่ห้าล้านเยนเท่านั้นเอง ...ได้แต่ถ่ายรูปแล้วเดินจากมาเงียบๆ
จุดที่สองคือร้านมินิมาร์ท LAWSON สาขารปปงหงิที่เขาเปลี่ยนชื่อร้านเป็น OWSON ชั่วคราว ใครที่เป็นแฟน ‘โจโจ้’ เห็นแล้วต้องร้องอ๋อทันที เพราะมันคือสถานที่สำคัญในมังงะภาคสี่นั่นเอง
โอเค ได้เวลาไปเจอกับตัวงานของจริงที่ National Art Center แล้ว นิทรรศการครั้งนี้เขาจะแบ่งให้เข้าเป็นรอบๆ และก็ตามคาดว่าบัตรขายหมดเกลี้ยงไปทุกรอบแล้ว ผู้เขียนเห็นชาวต่างชาติที่หวังมาซื้อบัตรหน้างานยืนคอตกกันอยู่หลายคน (โธ่...)
สารภาพตามตรงเลยว่าตอนที่เข้าไปในงานแรกๆ รู้สึกหงุดหงิดใจอยู่ไม่น้อย เนื่องจากคนที่มาดูงานมีจำนวนเยอะมากกกก แถมอากาศช่วงนั้นก็ค่อนข้างร้อน (ที่ญี่ปุ่นแม้จะเป็นภายในอาคาร เขาก็จะไม่เปิดแอร์เย็นขั้วโลกแบบบ้านเรานะ เพื่อไม่ให้อุณภูมิภายนอก/ภายในต่างกันเกินไป เพราะมันจะทำให้ไม่สบายได้ง่าย) สิ่งที่แสดงในงานก็เป็นภาพต้นฉบับของจริงที่มีขนาดไม่ใหญ่มากนัก ผลคือมองอะไรไม่เห็นเลยจ้า แล้วนี่ฉันจะอุตส่าห์เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาทำไมกัน (กรีดร้อง)
แต่หลังจากเดินในงานไปสักพัก ผู้คนเริ่มกระจายตัว พอจะมองเห็นงานต่างๆ ได้บ้าง ผู้เขียนก็สงบใจลง ได้เห็นถึงความเป็นจริงว่างานนี้มันก็ไม่ได้มีอะไรมากนัก โดยหลักก็คือโชว์ภาพจากการ์ตูนเรื่อง ‘โจโจ้’ นั่นแหละ แม้จะมีผลงานพิเศษเป็นพวกประติมากรรมหรือวิชวลกราฟิกจากศิลปินรับเชิญ แต่ก็ไม่ได้นำพาอะไร เรียกได้ว่าถ้าไม่ใช่แฟนของ ‘โจโจ้’ มาดูงานนี้ก็คงรู้สึกเฉยๆ
อย่างไรก็ดี สิ่งที่เป็นไฮไลต์ของงานนี้ (และเป็นบริเวณเดียวที่อนุญาตให้ถ่ายรูปได้) ก็คือบรรดารูปตัวละครที่มีขนาดใหญ่ขนาดเท่าฝาบ้าน อย่างที่ทราบกันดีว่า อ.อารากิ โดดเด่นมากเรื่องการใช้สีสันจัดจ้าน
มาดูของจริงแล้วเราก็อดทึ่งไม่ได้ว่าในหัวสมองของอาจารย์แกคิดอะไรอยู่ถึงสามารถเอาเฉดสีต่างๆ ที่มันไม่น่าเข้ากันมาอยู่ด้วยกันอย่างกลมกลืน
การได้เห็นของจริงขนาดบิ๊กเบิ้มตรงหน้าแบบจะๆ ทำให้เกิดอาการฟินปลื้มปริ่มจนแทบอยากจะลงไปกราบรูปทันที (นี่ถ้าไม่อายผู้คนคงทำไปแล้ว)
การมาดูงานนี้ว่าทำให้ผู้เขียนฉุกคิดขึ้นมาได้ว่า เอาเข้าจริงตัวเองก็ไม่ค่อยอิน ‘โจโจ้’ ภาคหลังๆ สักเท่าไร แต่ที่ยังปวารณาตัวเองเป็นแฟนของมังงะเรื่องนี้อยู่ก็คงเพราะหลงใหลใน ‘สไตล์’ ที่ไม่เหมือนใครของมัน อ.อารากิขยายขอบเขตผลงานของตัวเองไปไกลจากความเป็นตัวการ์ตูน ‘โจโจ้’ จึงกลายเป็นทั้งแฟชั่นและผลงานศิลปะ ไม่น่าแปลกใจเลยว่าการ์ตูนนี้จะมีสถานะอยู่เหนือกาลเวลาได้ในที่สุด
**นิทรรศการ HIROHIKO ARAKI JOJO EXHIBITION: RIPPLES OF ADVENTURE จัดแสดงที่ The National Art Center (โตเกียว) จนถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2018 จากนั้นจะจัดต่อที่ Osaka Culturarium at Tempozan (โอซาก้า) ช่วง 25 พฤศจิกายน 2018 – 14 มกราคม 2019 ดูรายละเอียดที่ http://jojoex-2018.com/en/