ศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ศาสตราจารย์ประจำศูนย์กฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ผู้ร่วมก่อตั้งคณะนิติราษฎร์ กล่าวกับผู้สื่อข่าวที่ร่วมฟังการบรรยายเรื่อง 'ประวัติศาสตร์ความคิดนิติปรัชญา' ซึ่งจัดขึ้นที่คณะนิติศาสตร์ มธ. ท่าพระจันทร์ วันนี้ (18 มี.ค.) โดยย้ำว่า 'นิติราษฎร์' ไม่เกี่ยวข้องกับการตั้งพรรค 'อนาคตใหม่' ซึ่งมีแกนนำสำคัญ คือ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ รองประธานบริหารเครือบริษัทไทยซัมมิท และปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ.ซึ่งเป็นสมาชิกคนหนึ่งของนิติราษฎร์
ศ.ดร.วรเจตน์อ้างถึงกรณีสื่อบางสำนักรายงานพาดพิงว่านิติราษฎร์ร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ 'ไม่เป็นความจริง' พร้อมอ้างอิงแนวคิด 'กุสตาฟ รัดบรูก' นักนิติปรัชญาชาวเยอรมัน ซึ่งระบุว่า "การหลอมรวมงานทางการเมืองกับงานทางวิชาการเข้าด้วยกัน เป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้" ในกรณีของปิยบุตรถือเป็นการตัดสินใจส่วนบุคคล และการยุติบทบาททางวิชาการเพื่อพุ่งเป้าไปที่การทำงานทางการเมืองก็เป็นสิ่งที่เปิดเผยและชัดเจน
"ผมไม่ได้ห้ามว่านักวิชาการต้องไม่พูดเรื่องการเมือง แต่การใช้สถานะนักวิชาการเล่นการเมืองเป็นเรื่องไม่ควร... เพราะในสังคมไทยยังมีคนที่เชื่อถือและคาดหวังว่านักวิชาการจะพูดถึงสิ่งต่างๆ โดยยึด 'ความรู้' เป็นหลัก กรณีของอาจารย์ปิยบุตรก็กล้าที่จะออกจากการเป็นนักวิชาการไปเป็นนักการเมือง ไม่ใช่ไปเล่นการเมืองระดับสูงโดยใช้เสื้อคลุมนักวิชาการ"
ขณะเดียวกัน ศ.ดร.วรเจตน์ระบุว่า 'ปิยบุตร' เป็นลูกศิษย์รุ่นแรก และเป็นผู้มีความสามารถทางวิชาการสูงมาก แม้จะเสียดายความสามารถ แต่ได้สอบถามแล้วว่าอาจารย์ปิยบุตรต้องการทำงานการเมือง เพราะอยากให้เกิดทางเลือกใหม่ทางการเมืองไทย ต้องการภูมิทัศน์และการเปลี่ยนแปลง ก็ไม่มีอะไรที่จะคัดค้าน เพราะต่างยุคต่างสมัย สิ่งที่ดีสำหรับแต่ละคนก็แตกต่างกัน แต่การตัดสินใจของอาจารย์ปิยบุตรไม่กระทบกับทำงานด้านวิชาการของนิติราษฎร์
ศาล-ผู้พิพากษาต้องพัฒนาตัวเองให้ทัน 'เนติบริกร'
คณะนิติราษฎร์เป็นที่รู้จักครั้งแรกในฐานะกลุ่มนักวิชาการคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่รวมตัวกันต่อต้านการรัฐประหาร โดยเสนอให้ลบล้างผลพวงของการรัฐประหาร พ.ศ.2549 และเสนอแนวทางแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งเป็นข้อเสนอทางวิชาการด้านนิติศาสตร์ที่มีต่อสังคมไทย และระหว่างการบรรยายที่ มธ.ในวันนี้ ศ.ดร.วรเจตน์ ระบุว่าสังคมไทยจะต้องกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของสังคมร่วมกันด้วย เพื่อหาทางออกจากปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมานาน
ศ.ดร.วรเจตน์ระบุว่า สังคมไทยอยู่ใน Part ที่ 3 ของสถานการณ์หลังรัฐประหาร ซึ่งเป็นช่วงที่มีการบรรจุอำนาจตามมาตรา 44 ลงในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 และต้องรอไปถึง Part ที่ 4 ที่จะมีการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลใหม่ หากจะถามว่าโรดแมปที่วางไว้จะเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ ต้องขึ้นอยู่กับศาล ทำให้มีข้อถกเถียงในกลุ่มประชาชนและนักกฎหมายบางกลุ่มว่า คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และอำนาจตามมาตรา 44 ถือเป็นกฎหมายที่ชอบธรรมหรือไม่
แม้จะมีผู้เห็นควรให้ใช้คำสั่งรัฐประหารที่มีผลต่อเนื่องมา แต่ ศ.ดร.วรเจตน์แย้งว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้อยู่ปัจจุบันก็มีบทบัญญัติที่รับรองเรื่องสิทธิและคุ้มครองด้านสิทธิ ควบคู่กับมาตรา 44 ซึ่งรองรับการใช้อำนาจที่อาจจะลิดรอนสิทธิประชาชน แต่ "ศาลมีอำนาจในการตีความลดทอนอำนาจที่จะลิดรอนสิทธิ" และเป็นท่าทีที่ศาลพึงมีได้
ศ.ดร.วรเจตน์ย้ำว่า ผู้ที่เป็น 'เนติบริกร' มีความพยายามพัฒนาขีดความสามารถของกฎหมายอยู่เรื่อยๆ และมีอำนาจคอยสนับสนุน ศาลก็ต้องพัฒนาความสามารถและเสนอแนวทางตามหลักนิติศาสตร์ เช่น ศาลพึงชี้ให้เห็นชัดเจนว่ามีความจำเป็นอย่างไรจึงต้องจำหน่ายคดีที่เกี่ยวพันกับการใช้คำสั่ง คสช.หรือมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญ เพราะการที่ศาลบอกอะไรบางอย่างในคำพิพากษา จะทำให้คนอ่านได้รู้ว่า คำสั่งนั้นชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งจะเป็นผลดีในวันข้างหน้า ในกรณีที่มีการรื้อฟื้นขึ้นมาเพื่อเยียวยาคนที่ฟ้องคดี
สังคมต้องร่วมกันกำหนด 'มาตรฐานขั้นต่ำ'
สิ่งสำคัญที่สุดของสังคมไทยในทัศนะของ ศ.ดร.วรเจตน์ คือการที่คนในสังคมต้องร่วมกันหามาตรฐานขั้นต่ำให้ได้ เช่น มาตรฐานขั้นต่ำว่าคนที่คิดเห็นแตกต่างกันจะต้องไม่ตกเป็นเป้าถูกทำร้ายหรือถูกละเมิดสิทธิ
"ถ้าคุณสามารถหัวเราะได้เมื่อเห็นฝ่ายที่คิดต่างถูกยิงเสียชีวิต ก็ถือว่าต่ำกว่ามาตรฐานของสังคมที่มีอารยะไปมาก.. คนในสังคมต้องหาทางอยู่ร่วมกันให้ได้ แม้จะคิดเห็นแตกต่างกันก็ตาม"