นโยบายส่งเสริมการขาย 'วันแบล็กฟรายเดย์' หรือวันศุกร์หลังเทศกาลขอบคุณพระเจ้าของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นช่วงที่มีการกระตุ้นการบริโภคสินค้าอย่างหนักที่สุดก่อนถึงเดือนธันวาคม และปีนี้สถิติผู้ที่ซื้อปืนในวันแบล็กฟรายเดย์เพิ่มขึ้นจาก 2 ปีก่อนนับหมื่นคน โดยสำนักงานตรวจสอบประวัติผู้ซื้ออาวุธปืน (NICS) บ่งชี้ว่า บริษัทห้างร้านทั่วประเทศยื่นเอกสารขอตรวจสอบประวัติผู้ซื้อปืนถึง 203,086 คนช่วงแบล็กฟรายเดย์เพียงวันเดียว ขณะที่สถิติช่วง 2 ปีก่อนหน้า อยู่ที่ 185,713 คน และ 185,345 คนตามลำดับ
แถลงการณ์ของ NICS ระบุว่า จำนวนปืนที่ซื้อจริงอาจมีมากกว่าจำนวนผู้ถูกตรวจสอบประวัติ เพราะผู้ซื้อรายหนึ่งอาจซื้อปืนมากกว่า 1 กระบอก และอาจซื้ออุปกรณ์เสริมอื่นๆ ด้วย
สถิติผู้ซื้อปืนที่เพิ่มขึ้นในวันแบล็กฟรายเดย์เกิดขึ้นเพียง 2 วันหลังจากที่นายเจฟ เซสชันส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ สั่งให้สำนักงานสอบสวนกลาง (FBI) ร่วมกับสำนักงานอัยการแห่งชาติสหรัฐฯ พิจารณาทบทวนและปรับปรุงระบบการเก็บข้อมูลผู้มีประวัติทางจิตหรือผู้มีประวัติการก่อเหตุในคดีอาญา เนื่องจากบุคคลทั้งสองกลุ่มอยู่ในข่ายที่ต้องห้ามซื้อปืน แต่ที่ผ่านมาพบว่าระบบเก็บข้อมูลยังไม่รัดกุม ส่งผลให้การตรวจสอบประวัติผู้ต้องการซื้อปืนไม่มีความถูกต้องแม่นยำเพียงพอ
คำสั่งของกระทรวงยุติธรรมเกิดขึ้นหลังจาก เดวิน พี. เคลลีย์ อดีตนาวิกโยธินผู้ก่อเหตุกราดยิงสังหารหมู่ชาวคริสต์ 26 รายในโบสถ์ของเมืองซัทเธอร์แลนด์สปริงส์ในมลรัฐเท็กซัส เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน สามารถซื้ออาวุธปืนเพิ่มเติมได้ 4 กระบอก รวมถึงปืนสงคราม ทั้งที่เขาเคยถูกตัดสินว่ามีความผิดในคดีทำร้ายร่างกายภรรยาและทำให้ลูกเลี้ยงกระโหลกศีรษะร้าวเมื่อปี 2012 เนื่องจากศาลทหารไม่ได้บันทึกข้อมูลประวัติทางคดีอาญาของเขาในระบบของ NICS
เรื่องนี้ทำให้กองทัพสหรัฐฯ ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เพราะเหตุกราดยิงที่เท็กซัสเกิดขึ้นเพียง 1 เดือนหลังจากเหตุกราดยิงงานคอนเสิร์ตที่นครลาสเวกัส มลรัฐเนวาดา เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ซึ่งมีผู้เสียชีวิตถึง 59 ราย รวมมือปืนผู้ก่อเหตุ
สถิติอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้อาวุธปืนในสหรัฐฯ ตั้งแต่ต้นปี 2017 เป็นต้นมา มีทั้งหมด 55,651 คดี มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 14,036 ราย บาดเจ็บอีกกว่า 28,581 ราย ซึ่งในจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด รวมถึงเด็กทารกและเด็กอายุไม่เกิน 11 ปีทั้งหมด 669 คน ขณะที่สถิติการใช้ปืนป้องกันตัวอยู่ที่ 1,834 ครั้งเท่านั้น สูสีกับสถิติการยิงปืนโดยไม่ได้ตั้งใจ 1,832 ครั้ง ทำให้มีการรณรงค์เรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ ออกกฎควบคุมอาวุธปืนที่เข้มงวดมากกว่านี้
อย่างไรก็ตาม ผู้สนับสนุนการถือครองปืนอย่างเหนียวแน่นในสหรัฐฯ ก็มีอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะบริษัทผู้ผลิตอาวุธปืนในสหรัฐฯ ซึ่งมีรายได้เมื่อปีที่ผ่านมารวมกันกว่า 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 3.6 แสนล้านบาท และอุตสาหกรรมอาวุธปืนเสียภาษีให้แก่รัฐบาลสหรัฐฯ กว่า 123 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 4,059 ล้านบาท ทำให้การถกเถียงว่าควรจะควบคุมอาวุธปืนหรือไม่ เป็นประเด็นที่ทำให้คนอเมริกันขัดแย้งกันอย่างหนักประเด็นหนึ่ง โดยฝ่ายที่เห็นด้วยกับการถือครองปืนมักจะอ้างสิทธิในรัฐธรรมนูญ ซึ่งระบุว่าพลเมืองอเมริกันมีสิทธิในการถือครองปืนเพื่อป้องกันตัว
ขณะที่ฝ่ายต่อต้านระบุว่า สหรัฐฯ เป็นประเทศในกลุ่มพัฒนาแล้วที่มีสถิติผู้เสียชีวิตจากปืนมากที่สุด อาชญากรรมจากอาวุธปืนก็เพิ่มจำนวนขึ้น เช่นเดียวกับสถิติผู้เสียชีวิตจากอาวุธปืน จึงควรขับเคลื่อนให้เกิดการทบทวนนโยบายเกี่ยวกับปืนอย่างจริงจัง
ด้านแชนนอน วัตส์ ผู้ก่อตั้งองค์กรสนับสนุนการควบคุมปืนในสหรัฐฯ Moms Demand Action for Gun Sense เผยแพร่บทความในเว็บไซต์ เดอะการ์เดียน ว่า ในระหว่างที่สังคมอเมริกันยังไม่สามารถยุติข้อถกเถียงเรื่องการควบคุมปืนได้ ก็จำเป็นจะต้องปรับปรุงระบบการเก็บข้อมูลประวัติของผู้เคยก่ออาชญากรรมหรือมีอาการทางจิตที่เข้มงวดและทันสมัยมากขึ้น และควรห้ามจำหน่ายอุปกรณ์อื่นๆ ที่มีผลต่อประสิทธิภาพของปืนด้วย เช่น ควรห้ามขายที่เก็บเสียงหรือตัวเร่งจำนวนการยิงกระสุนปืน เพราะในกรณีที่มีการก่อเหตุกราดยิง เสียงปืนที่ดังจะทำให้คนรับมือกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ง่ายกว่า
เรียบเรียงโดย ตติกานต์ เดชชพงศ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
เผยโฉมหน้ามือปืนยิงโบสถ์เท็กซัสตาย 26 ราย
เหตุกราดยิงลาสเวกัส ตายเพิ่มเป็น 50 ราย-ตร.ตามตัวผู้ต้องสงสัยอีก 1