ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) พร้อมด้วย นพ.วิชาญ ปาวัน ผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรมควบคุมโรค แถลงข่าวสถานการณ์โรคโควิด-19
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 ของประเทศไทยประจำวันที่ 16 ธ.ค. มีผู้ป่วยรายใหม่ 15 ราย หายป่วยเพิ่ม 28 ราย ผู้ป่วยสะสม 4,261 ราย หายป่วยสะสม 3,977 ราย ยังรักษาในโรงพยาบาล 224 ราย และเสียชีวิตสะสม 60 ราย ทั้งนี้ ผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั้งหมดเดินทางมาจากต่างประเทศและเข้ารับการกักกันตามระบบ ได้แก่ เมียนมา 3 ราย เป็นหญิงไทย อาชีพพนักงานสถานบันเทิงทั้งหมด สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหราชอาณาจักร และอินเดีย ประเทศละ 2 ราย ฮ่องกง ฮังการี ฝรั่งเศส บาห์เรน สหรัฐอเมริกา และบราซิล ประเทศละ 1 ราย แบ่งเป็นคนไทย 11 ราย คนต่างชาติ 4 ราย โดยเป็นผู้ติดเชื้อไม่มีอาการ 14 ราย ติดเชื้อมีอาการ 1 รายคือ เจ็บคอ
สำหรับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 กรณีท่าขี้เหล็กนั้น หากไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่หลังพบผู้ติดเชื้อในพื้นที่รายสุดท้ายครบ 14 วัน จะถือว่ากลับสู่สถานการณ์ปกติ โดย จ.พะเยาและพิจิตร ครบกำหนดเข้าสู่สถานการณ์ปกติแล้วเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. จ.เชียงรายและราชบุรีวันที่ 16 ธ.ค. จ.สิงห์บุรีวันที่ 18 ธันวาคม จ.เชียงใหม่ วันที่ 19ธ.ค. และ กทม.วันที่ 20 ธันวาคม กรณีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อโควิด-19 จากการปฏิบัติงานภายในสถานกักกันโรคที่รัฐกำหนด (ASQ) จากการสำรวจสิ่งแวดล้อมใน ASQ พบว่า เจอสารพันธุกรรมของเชื้อโควิด -19 บนลูกบิดประตู จึงขอเน้นย้ำผู้ประกอบการต่างๆ ให้เน้นการทำความสะอาดบริเวณจุดสัมผัสร่วม
ทั้งนี้ สถานการณ์โรคโควิด-19 ทั่วโลกมีผู้ป่วยสะสม 73.8 ล้านราย วันนี้ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 5.87 แสนราย อาการรุนแรง 117,877 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1.2 หมื่นราย เสียชีวิตรวม 1.64 ล้านราย ประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 17 ล้านราย อินเดีย 9.93 ล้านราย บราซิล 6.97 ล้านราย รัสเซีย 2.7 ล้านราย และฝรั่งเศส 2.39 ล้านราย ส่วนทวีปเอเชียมีหลายประเทศที่พบผู้ป่วยรายใหม่เกินหลักพันอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ อินโดนีเซีย 6,120 ราย ปากีสถาน 2,459 ราย ญี่ปุ่น 2,217 ราย บังกลาเทศ 1,877 ราย มาเลเซีย 1,772 ราย เมียนมา 1,155 ราย และฟิลิปปินส์ 1,135 ราย สำหรับประเทศไทยอันดับขยับลงมาที่ 152 ของโลก
นพ.วิชาญ กล่าวว่า ภาพรวมผู้ป่วยโรคโควิด-19 ของประเทศไทย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานกักกัน ยังไม่มีติดเชื้อในประเทศเพิ่มเติม และไม่มีจังหวัดใดที่พบการระบาดเป็นกลุ่มก้อน ทุกพื้นที่มีความปลอดภัย ปีใหม่สามารถท่องเที่ยวและจัดกิจกรรมได้ แต่ขอให้คงมาตรการเว้นระยะห่าง ใส่หน้ากาก และล้างมือ เพื่อป้องกันตนเองและสร้างความมั่นใจให้ประเทศไทยปลอดภัยจากโควิด-19
ส่วนผลการสอบสวนโรคกรณีที่เกี่ยวข้องกับ จ.ท่าขี้เหล็ก วันนี้มีรายงานเพิ่มเติม 3 ราย เป็นการตรวจพบในสถานกักกันโรคที่รัฐจัดให้ (Local Quarantine : LQ) จ.เชียงราย ทำให้ยอดสะสมกรณีนี้รวมเป็น 67 ราย แบ่งเป็นการติดเชื้อภายหลังเข้า LQ 48 ราย ลักลอบเข้ามา 17 ราย และติดเชื้อภายในประเทศ 2 ราย กระจายใน 7 จังหวัด อย่างไรก็ตาม เฉพาะ จ.เชียงราย มีผู้เดินทางกลับมาจากท่าขี้เหล็กเข้าสู่ระบบกักกัน 248 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 35 ราย รักษาหายแล้ว 20 ราย มีการค้นหาเชิงรุกเพิ่มเติมเพื่อสร้างความมั่นใจพื้นที่ โดยตรวจทางห้องปฏิบัติการ 26,360 ตัวอย่าง ไม่พบเชื้อทั้งหมด
“จังหวัดที่พบผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องกับจ.ท่าขี้เหล็กทั้ง 7 จังหวัด ภาพรวมนับว่าปลอดภัยแล้ว เนื่องจากการพบผู้รายใหม่เป็นการพบเฉพาะในระบบกักกัน โดยผู้ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายจะมีการดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป ดังนั้น คนเดินทางกลับมาจาก 7 จังหวัด ไม่ต้องกักตัว เนื่องจากไม่มีความเสี่ยง สามารถไปเรียนและทำงานได้ตามปกติ สำหรับโรงเรียนหรือสถานประกอบการบางแห่งที่ให้นักเรียน ครู หรือพนักงานที่กลับมาจากเชียงรายและเชียงใหม่กักตัว เป็นมาตรการที่เกินความจำเป็น จึงขอให้ทบทวนมาตรการดังกล่าว เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้มีคำแนะนำให้กักตัว หากมีข้อสงสัยโทรสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422” นพ.วิชาญ กล่าว
นพ.วิชาญ กล่าวว่า สำหรับกรณีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อโควิด-19 ขณะนี้มีผู้ป่วย 7 ราย ไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มเติม จากการสอบสวนโรคพบว่า เป็นการติดเชื้อจากการปฏิบัติงานใน ASQ ไม่ใช่ในโรงพยาบาล ข้อสันนิษฐาน คือ มีบุคลากร 1 คนที่ไปสัมผัสผู้เข้าพักที่มีเชื้อ และนำไปแพร่กระจายในกลุ่มเพื่อนใกล้ชิดที่คลุกคลีกันนอกเวลางาน ไม่ได้แพร่กระจายต่อให้บุคลากรทางการแพทย์กลุ่มอื่นและเจ้าหน้าที่ ASQ อื่นๆ ดังนั้น การระบาดจึงอยู่ในวงจำกัดและอยู่ในการควบคุมได้ ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงทุกรายได้รับการกักตัวและตรวจหาเชื้อ 3 ครั้งตามมาตรฐาน ขณะนี้ตรวจหาเชื้อแล้ว 2 ครั้ง ไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม กรณีนี้นำไปสู่การทบทวนมาตรการสำหรับ ASQ โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้ตรวจสอบมาตรฐานและการบริหารจัดการของ ASQ อย่างเคร่งครัด และให้โรงพยาบาลเอกชนคู่สัญญาจะต้องจัดให้มีผู้รับผิดชอบด้านความปลอดภัยของบุคลากร (Safety officer) เตรียมความพร้อมอุปกรณ์และแนวทางการป้องกันควบคุมการติดเชื้อในระหว่างปฏิบัติงานอย่างเคร่งครัด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :