ธนาคารกลางของสหรัฐฯ (เฟด) ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงฉุกเฉิน ในวันที่ 3 มี.ค. ที่ผ่านมา ด้วยอัตราร้อยละ 0.5 เพื่อตอบสนองต่อความเสี่ยงที่มีเพิ่มขึ้นกับเศรษฐกิจจากปัญหาโรคโควิด-19 ส่งผลให้ช่วงอัตราดอกเบี้ยลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1 – 1.25
การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายฉุกเฉินเช่นนี้เกิดขึ้นครั้งล่าสุดตั้งแต่มีวิกฤตการเงินในช่วง ธ.ค. 2551 นักวิเคราะห์มองว่าการปรับลดฉุกเฉินในครั้งนี้มาจากสถานการณ์น่าเป็นกังวลในตลาดหุ้นของสหรัฐฯ รวมไปถึง ก่อนหน้านี้ 'โดนัลด์ ทรัมป์’ ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ได้ออกมาแสดงความไม่พอใจที่เฟดมีท่าที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย พร้อมชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ได้ดีขนาดนั้น
ในแถลงการณ์เฟดชี้ว่า "โคโรนาไวรัสสร้างความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ … ทั้งจากปัจจัยความเสี่ยงและเพื่อคงไว้ซึ่งการจ้างงานและความคงตัวของราคา คณะกรรมการตลาดเปิดของเฟดตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง”
ภายหลังจากแถลงการณ์หลัก 'เจโรม โพเวลล์’ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ชี้แจงเพิ่มเติมว่า แนวโน้มของโคโรนาไวรัสยังมีต่อสหรัฐฯ อย่างมาในการเพิ่มความไม่แน่นอนและตัวสถานการณ์เองก็ยังไม่คงที่ เพื่อจัดการกับสิ่งนี้เราต้องผ่อนปรนนโยบายการเงินลงเพื่อช่วยเหลือเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตามในทวิตเตอร์ของทรัมป์ออกมาแสดงความคิดเห็นว่า สิ่งที่เฟดทำยังไม่เพียงพอ และต้องการให้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมากกว่านี้
ขณะที่ความเคลื่อนไหวในฝั่งตลาดหุ้นปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยหลังได้ยินข่าวเรื่องการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายก่อนจะเปลี่ยนเป็นการติดลบอย่างมีนัยสำคัญ
ด้าน 'โซลิตา มาร์เซลลี’ รองผู้อำนวยการสายการลงทุนในสหรัฐฯ ของยูบีเอส โกเบิล เวลท์ แมเนจเมนท์ ชี้ว่า ตลาดมองหาการปรับลดอัตราดอกเบี้ยมาสักพักแล้ว พวกเขาต้องการความช่วยเหลือด้านการเงิน ทั้งนี้ การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างเดียว ไม่อาจช่วยให้เศรษฐกิจกลับขึ้นมาในแดนบวกได้
ขณะที่ 'อีริค วิโนกราด’ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส จาก อัลลายแอนซ์เบิร์นเสตน ชี้ว่า การเคลื่อนไหวครั้งนี้ของเฟด เป็นไปเพราะ "คณะกรรมการติดสินใจอย่างชัดเจนที่จะไม่รอให้สถานการณ์ย่ำแย่” พร้อมชี้ว่า เฟด อาจจะออกมาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกครั้งช่วง 17 – 18 มี.ค. ที่จะถึงนี้