ไม่พบผลการค้นหา
7 สมาคม-ชมรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เตรียมยื่นจดหมายเปิดผนึกร้อง 'นายกฯ' หยุดขยายเวลา 'ห้ามขายเหล้า' ชี้ธุรกิจมูลค่า 1.7 แสนล้านระส่ำ ลั่นพร้อมให้ความร่วมมือควบคุมโรคติดต่อ ย้ำอย่าซ้ำเติมคนตกงานเหตุรัฐสั่งปิดร้านเหล้า ผับ บาร์แบบไม่มีมาตรการเยียวยา

7 ตัวแทน ภาคธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เตรียมยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่รระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. ในเวลา 10.00 น. วันจันทร์ที่ 27 เม.ย. 2563 เพื่อขอผ่อนปรนมาตรการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อช่วยภาคธุรกิจเครื่องดื่มและร้านอาหารจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ

โดยมีข้อความในจดหมายเปิดผนึกระบุว่า มากกว่า 30 วัน ที่ ศบค.ประกาศสั่งปิดผับ บาร์ และร้านอาหาร อีกทั้งการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่สั่งขยายเวลาห้ามจำหน่ายสุราออกไปทั่วประเทศถึงวันที่ 30 เม.ย. 2563 นั้น ส่งผลให้ภาคธุรกิจแอลกอฮอล์และผู้ประกอบการร้านค้าได้รับผลกระทบอย่างหนัก จนเกิดการรวมตัวกันของ 7 ตัวแทนจากสมาคมฯ และชมรมฯ ในภาคธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้แก่ สุรา ไวน์ คราฟท์เบียร์ และบาร์เทนเดอร์ ร่วมกันยื่นจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องขอมาตรการผ่อนปรนและการเยียวยาจากภาครัฐ

โดยมีวัตถุประสงค์ให้ภาครัฐมองธุรกิจแอลกอฮอล์ในมิติของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการจ้างงาน โดยมีความยินดีจะปฏิบัติตามกฎระเบียบด้านการสาธารณสุขของรัฐ และสนับสนุนมาตรการเคอร์ฟิวและการป้องปรามตรวจจับการมั่วสุมรายบุคคล มากกว่าการประกาศห้ามจำหน่ายสุราแบบเหมารวมทั้งประเทศ

จากตัวเลขการจัดเก็บภาษีเบียร์และสุรา ในปี 2562 ที่สรรพสามิตจัดเก็บภาษีเบียร์ได้ถึง 70,090 ล้านบาท ขณะที่สุรา จัดเก็บได้ถึง 62,146 ล้านบาท รวมเป็นรายได้จากภาษีเบียร์และสุราทั้งสิ้น 132,236 ล้านบาท นำไปสู่การผันงบเพื่อพัฒนาประเทศ อาทิ นำส่ง กทม.และหน่วยงานเทศบาล จำนวนร้อยละ 10 หรือ 14,100 ล้านบาท เพื่อเอาไปเป็นงบประมาณ, นำส่ง สสส. , สมาคมกีฬา และ คนชรา แห่งละร้อยละ 2 หรือ 2,800 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้ทำโครงการฯ ในหน่วยงานและสมาคมฯ, นำส่งสถานีไทยพีบีเอส จำนวนร้อยละ 1.5 หรือ 2,100 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายสถานี และนำส่งในรูปแบบภาษีมูลค่าเพิ่ม จำนวนร้อยละ 7 หรือไม่ต่ำกว่า 11,500 ล้านบาท 

เพื่อนำไปเป็นงบประมาณรัฐ ทั้งหมดนี้รวมแล้วไม่ต่ำกว่าปีละ 177,000 ล้านบาทที่สร้างเงินหมุนเวียนในประเทศ ก่อให้เกิดการจ้างงาน การลงทุนของผู้ประกอบการรายย่อย การหมุนเวียนของ Supply Chain เป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาคธุรกิจอาหาร เครื่องดื่ม ไปจนถึงการท่องเที่ยว  

จากตัวเลขการจัดเก็บภาษีในปีที่ผ่านมานี้เอง จึงกลายเป็นคำถามจากภาคธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ถึงมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการสั่งปิดร้าน สถานบันเทิงและการประกาศห้ามจำหน่ายสุรา ว่าภาครัฐจะมีมาตรการเยียวยาใด ๆ ให้แก่ผู้เสียภาษีอย่างถูกต้องตามกฎหมายอย่างพวกตนบ้างหรือไม่?

นายอาชิระวัสส์ วรรณศรีสวัสดิ์ ตัวแทนจากชมรมผู้นำเข้าและจำหน่ายคราฟท์เบียร์ กล่าวถึงการขอให้รัฐพิจารณาผ่อนปรนมาตรการห้ามจำหน่ายสุรา เพื่อต่อลมหายใจให้กับผู้ประกอบการรายย่อย ที่ประกอบธุรกิจร้านอาหารแนวผับ บาร์ สถานบันเทิง และภาคธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ว่า จากคู่มือเตรียมความพร้อมการเปิดธุรกิจของราชการที่ออกมา ทางเราอยากขอให้พิจารณา ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยอาศัยเกณฑ์ดังกล่าวด้วย

อย่างไรก็ตาม อาจจะมีผู้ประกอบการบางประเภทที่อยู่ในกลุ่มสีแดงก็ยินยอมหยุดดำเนินการ แต่บางผู้ประกอบการที่อยู่ในกลุ่มสีเหลืองหรือกลุ่มสีเขียว อยากให้ทางราชการประเมินผู้ประกอบการกลุ่มนี้ตามหลักการในแบบเดียวกันกับธุรกิจอื่น โดยอาศัยอำนาจของผู้ว่าราชการในแต่ละจังหวัดเป็นผู้ประเมินเพื่อบรรเทาความเสียหายของธุรกิจ และยินดีที่จะปฏิบัติตามคู่มือรักษาความปลอดภัยป้องกันการแพร่เชื้อ

ทั้งนี้ ภาคธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 7 องค์กร ได้แก่ สมาคมผู้ประกอบการไวน์ไทย สมาคมผู้ผลิตไวน์ผลไม้และสุราพื้นบ้านไทย สมาคมบาร์เทนเดอร์ประเทศไทย ชมรมผู้นำเข้าและตัวแทนจำหน่ายคราฟท์เบียร์ ชมรมผู้ประกอบการร้านคราฟท์เบียร์ ชมรมเบียร์บรูเออร์แห่งประเทศไทย และชมรมผู้ค้าและตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์และวัตถุดิบทำเบียร์ จะเข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ณ ศูนย์ดำรงธรรม เรียกร้องหาข้อผ่อนปรน และการเยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการห้ามจำหน่ายสุรา

โดยมีสาระสำคัญคือ 

1. การขอมิให้มีการขยายเวลาห้ามจำหน่ายสุราออกไปหลังวันที่ 30 เม.ย. 2563 อีก และขอให้ร้านที่มีใบอนุญาตจำหน่ายสุราสามารถจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อซื้อกลับบ้านหรือส่งให้ถึงบ้านได้เหมือนอาหารประเภทอื่น  

2. ขอให้พิจารณาเรื่องการออกระเบียบปฏิบัติในการขอคืนภาษีและทำลายสินค้าสุราที่เสื่อมสภาพ เนื่องจากการสั่งห้ามเปิดร้านและสถานบันเทิง ส่งผลแก่ผู้นำเข้าและผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยตรง ที่ไม่สามารถจำหน่ายสินค้าออกจากสต็อกได้ตามเวลาที่ควรจะเป็น ทำให้สินค้าที่นำเข้าหรือสั่งผลิตมาจำนวนมากบางประเภทกำลังจะหมดอายุ 

3. ขอให้พิจารณาผ่อนปรนเรื่องการขนย้ายสุราหากมีการห้ามจำหน่าย 

เนื่องจากคราฟท์เบียร์ ไวน์องุ่น และสุราแช่หลายชนิดเป็นสินค้าที่ต้องจัดเก็บตามอุณหภูมิที่กำหนด เมื่อมีการนำเข้ามาจึงต้องมีการชำระภาษีและขนย้ายเข้าไปเก็บคลังสินค้าของผู้ประกอบการให้เร็วที่สุด การประกาศห้ามขายส่ง (ใบอนุญาตขายสุราประเภทที่ 1) ทำให้ไม่สามารถนำสินค้าที่เสียภาษีแล้วไปเก็บในคลังของผู้ประกอบการได้ และเกิดภาระค่าใช้จ่ายจำนวนมากในการเช่าโกดัง รวมถึงปัญหาการควบคุมอุณหภูมิในเขตปลอดภาษี 

โดยทั้งนี้ หากมีการประกาศใดๆจากภาครัฐ ขอให้มีการแจ้งล่วงหน้าเพื่อการเตรียมการหรือมีความชัดเจนในเรื่องการขนส่งให้เสร็จสิ้นทันการ เช่น ให้มีผลบังคับใช้หลังประกาศ 72 ชั่วโมง หรือ 3 วัน เพื่อให้สินค้าที่เปิดบิลในวันที่ประกาศ ได้ดำเนินการจัดส่งเสร็จสิ้นภายใน 3 วัน เป็นต้น

การขอผ่อนปรนและเรียกร้องมาตรการเยียวยาจากภาคธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในครั้งนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งเสียงของผู้ที่ได้รับผลกระทบทางตรงที่ต้องการให้ภาครัฐมองอย่างใจเป็นกลางในมิติของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการจ้างงาน เพราะการที่ภาครัฐประกาศห้ามจำหน่ายสุราด้วยหวังจะป้องปรามการกระทำผิดเฉพาะบุคคล กำลังกลายเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของผู้บริโภคทั้งประเทศที่เขาเองก็ประพฤติตนตามมาตรการอย่างเคร่งครัด และหากยังขยายระยะเวลาห้ามจำหน่ายสุราออกไป โดยไม่มีการชดเชยหรือมาตรการเยียวยาใดๆ เพิ่มเติมแล้ว ก็คาดว่าในไม่ช้าจะกระทบต่อการเลิกจ้างพนักงาน การทยอยปิดกิจการจากระดับร้านค้าไปถึงผู้นำเข้าและผู้ผลิตฯ ขยายวงกว้างความเสียหายทางเศรษฐกิจจนยากจะกลับมาฟื้นฟูได้อีกครั้ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :