สมเด็จพระราชาธิบดีฟีลิปของเบลเยียมส่งพระราชสาสน์ถึงเฟลิกซ์ ชิเซเคดี ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก หรือดีอาร์คองโก เพื่อแสดงความเสียพระทัยอย่างสุดซึ้งต่อความทุกข์ทรมานและความอับอายที่เกิดขึ้นกับดีอาร์คองโกในช่วง 75 ปีภายใต้อาณานิคมเบลเยียม
พระราชสาสน์ฉบับนี้ถูกเผยแพร่ในวันครบรอบ 60 ปีที่ดีอาร์คองโกได้รับเอกราช เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.2563 และถือเป็นครั้งแรกที่ราชวงศ์เบลเยียมขอโทษประเทศที่เคยตกเป็นอาณานิคม แต่พระราชสาสน์นี้ไม่ใช่การขอโทษอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลเบลเยียม และไม่มีการกล่าวพระนามของสมเด็จพระเจ้าเลโอโปลด์ที่ 2 แห่งเบลเยียม อดีตกษัตริย์ในยุคอาณานิคมที่ทำให้มีชาวคองโกหลายล้านคนเสียชีวิต
สมเด็จพระราชาธิบดีฟีลิป กษัตริย์พระองค์ปัจจุบัน ตรัสว่า พระองค์เสียพระทัยอย่างสุดซึ้งต่อการบาดเจ็บและความเจ็บปวดที่มักถูกรื้อฟื้นขึ้นมาด้วยการเลือกปฏิบัติที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในสังคมปัจจุบัน และพระองค์ทรงสัญญาว่าจะต่อสู้กับการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติทุกรูปแบบ และยินดีที่รัฐสภาเบลเยียมจะตั้งคณะกรรมาธิการปรองดองเพื่อแก้ปัญหาการเหยียดเชื้อชาติและประเด็นต่างๆ ที่สืบเนื่องจากอดีตช่วงอาณานิคม
พระราชสาสน์ของสมเด็จพระราชาธิบดีฟีลิปออกมา หลังเกิดกระแสต่อต้านการเหยียดผิวทั่วอเมริกาและยุโรป ซึ่งจุดประกายมาจากเหตุการณ์ที่ตำรวจในสหรัฐอเมริกาสังหาร 'จอร์จ ฟลอยด์' พลเรือนชาวแอฟริกันอเมริกัน จนทำให้รูปปั้นของสมเด็จพระเจ้าเลโอโปลด์ที่ 2 ถูกทำลาย
ท่าทีของสมเด็จพระราชาธิบดีฟีลิปแตกต่างไปจากเจ้าชายโลรองต์ พระอนุชาที่ทรงกล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าเลโอโปลด์ที่ 2 ไม่สามารถ “ทำให้คน (ในดีอาร์คองโก) ทุกข์ทรมาน” ได้ เพราะพระองค์ไม่เคยสเด็จไปยังดีอาร์คองโกเลย
อย่างไรก็ตาม The Guardian รายงานว่า ในปี 1885 (พ.ศ. 2428) สมเด็จพระเจ้าเลโอโปลด์ที่ 2 แห่งเบลเยียมทรงประกาศให้คองโกเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ ทั้งยังทรงปกครองคองโกด้วยความโหดร้าย โดยกองทัพของพระองค์สังหารและทำร้ายร่างกายชาวคองโกไปหลายล้านคน จนถึงปี 1908 (พ.ศ. 2451) พระองค์ทรงถูกบังคับให้สละดีอาร์คองโกในฐานะทรัพย์สินส่วนตัว และให้รัฐบาลเบลเยียมปกครองดีอาร์คองโกในฐานะประเทศใต้อาณานิคม ก่อนดีอาร์คองโกจะได้รับเอกราชในปี 1960 (พ.ศ. 2503)
ด้านมาเรีย ทุมบา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของดีอาร์คองโก กล่าวว่า พระราชสาสน์ทำให้ชาวคองโกอบอุ่นใจ เบลเยียมได้วางรากฐานของการเปลี่ยนแปลงที่ลึกซึ้งผ่านสมเด็จพระราชาธิบดีฟีลิป
แม้นักเคลื่อนไหวและนักวิชาการของดีอาร์คองโกจะยินดีกับคำขอโทษของกษัตริย์เบลเยียม แต่ฌ็อง-คล็อด มปูตู นักรัฐศาสตร์คองโกจากมหาวิทยาลัยเลจ มองว่า ทั้งสมเด็จพระราชาธิบดีฟีลิปและเบลเยียมสามารถทำอะไรได้มากกว่าการประกาศธรรมดาเช่นนี้ เขาเรียกร้องให้เบลเยียมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่หนักแน่นเพื่อประกาศการเริ่มต้นใหม่ เช่น การฟื้นฟูศิลปะคองโก
ที่มา : Reuters, The Guardian
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: