ไม่พบผลการค้นหา
'ศิริกัญญา' พรรคอนาคตใหม่ ชี้ว่า การจะสกัดกั้นการผูกขาดโดยกลุ่มทุนได้ ต้องได้แรงสนับสนุนทางสังคมเป็นฉันทามติ พร้อมเรียกร้องให้มีกฎหมายแข่งขันทางการค้าที่มีประสิทธิภาพ ป้องกันธุรกิจรายใหญ่เอาเปรียบรายย่อย และคุ้มครองผู้บริโภค

พรรคอนาคตใหม่ จัดบรรยายสาธารณะความจริงประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 10 -​ 12 ส.ค.2562 โดยเวทีแรก น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อและผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายของพรรคอนาคตใหม่ บรรยายประเด็น "ทุนผูกขาดและการแข่งขันที่เป็นธรรม" ��ะบุถึงปัจจัยการผูกขาดทางธุรกิจว่า เกิดจากการมีหรือใช้อำนาจเหนือตลาด ทั้งการลดราคาเพื่อกำจัดคู่แข่ง, การห้ามขายสินค้าของคู่แข่ง, การเลือกปฏิบัติที่ขายในร้านของชำอีกราคา แต่ขายในห้างสรรพสินค้าอีกราคา, การกำหนดราคาขายปลีกและการขายพ่วง

พร้อมยกตัวอย่างกรณี "เหล้าพ่วงเบียร์" ซึ่งทางการไทยเคยตรวจสอบ ตาม พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้าปี 2542 แต่สุดท้ายผู้ประกอบการก็ไม่ผิด เพราะยกเลิกขายพ่วงไปก่อนแล้ว นอกจากนี้ ยังมีการฮั้วราคา รวมถึงการควบรวมกิจการด้วย

อย่างไรก็ตาม ถึงที่สุดแล้วไม่มีตลาดเสรีหรือแข่งขันที่สมบูรณ์และไม่มีใครผูกขาดตลาดได้เจ้าเดียวได้โดยสิ้นเชิง อย่าง Microsoft Windows หรือ iPod ที่ขึ้นราคาได้ แต่จะไม่นานนัก เพราะผู้ใช้บริการมีทางเลือกอื่นๆ หรือมีสินค้าอื่นที่ทดแทนได้ ที่เป็นเช่นนี้เพราะความซับซ้อนในโลกจริงของตลาดและการกำกับโดยรัฐและการมีองค์กรควบคุมราคา รวมถึงพฤติกรรมและค่านิยมของผู้บริโภค ขณะที่นายทุนก็พยายามหาช่องทางฮั้วกันเพื่ิอกำหนดราคา

น.ส.ศิริกัญญา ยืนยันว่า จำเป็นต้องมีกฎหมายแข่งขันทางการค้าที่มีประสิทธิภาพ ด้วยเหตุผลหลายประการ คือ 1.)​ เพื่อสร้างกฎเกณฑ์การแข่งขันที่เป็นธรรม ไม่ให้ธุรกิจรายใหญ่เอาเปรียบรายย่อย 2.) เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ให้ได้สินค้าและบริการที่เป็นธรรม 3.) เป็นเครื่องมือสนับสนุนนโยบายทางเศรษฐกิจและตรวจสอบนโยบายของรัฐไม่ให้เอื้อประโยชน์ทุนบางกลุ่มผูกขาด 4.) ลดและประเมิณผลกระทบจากการแทรกแซงจากรัฐบาลได้

น.ส.ศิริกัญญา ย้ำด้วยว่า นอกจาก พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้าฉบับใหม่ปี 2560 แล้ว ประเทศไทยยังกำหนดเรื่องนี้ไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ประกันไม่ได้ว่าจะถูกนำมาปฏิบัติได้จริง อีกทั้งประชาชนยังไม่ตระหนักถึงผลกระทบของการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม และหลักสูตรการศึกษาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้น้อยเกินไปด้วย โดยเห็นว่า หากมีการผูกขาดหรือการค้าไม่เป็นธรรม และในกรณีที่ภาครัฐเอื้อประโยชน์ให้คนบางกลุ่ม ควรจะฟ้องศาลรัฐธรรมนูญได้ 

โดยมองว่า พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า 2560 ของไทย ยังขาดกลไกให้เกิดการเผยเเพร่ข้อมูลแก่สาธารณะ, เกณฑ์อำนาจเหนือตลาดที่ตายตัวเกินไป, การกระทำที่เป็นความผิดน้อยไปไม่ครอบคลุม, กลไกการฟ้องคดีโดยเอกชนที่ถูกละเลย และการบังคับใช้กฎหมายกับรัฐวิสาหกิจยังจำกัด พร้อมเสนอให้ รัฐวิสาหกิจควรอยู่ใต้ พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า รวมทั้งให้ทบทวนระเบียบนโยยายรัฐ เพื่อสร้างความเป็นกลางทางการแข่งขันด้วย

ทั้งนี้ การสร้างการแข่งขันที่เป็นธรรมและป้องกันการผูกขาดโดยกลุ่มทุน ต้องอาศัยพลังขับเคลื่อนและแรงกดดันทางสังคมให้ภาครัฐ อย่างในประเทศเยอรมนีหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งลำพังพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งไม่สามารถผลักดันได้ ดังนั้น พรรคอนาคตใหม่ จึงหวังสร้างแรงสนับสนุนให้ขยายวงอย่างกว้างขวางที่สุด ให้เกิดการถกเถียง และได้ฉันทามติในสังคมให้มาร่วมกันผลักดันในเรื่องการค้าที่เป็นธรรมและขจัดการผูกขาดโดยกลุ่มทุน

ขณะที่ลักษณะของตลาดโดยทั่วไป ประกอบด้วย 1.) ตลาดผูกขาดคือ ที่มีผู้ผลิตเพียงเจ้าเดียว แต่พลังงานอย่างไฟฟ้าและปะปา เป็นการผูกขาดโดยธรรมชาติ โดยเฉพาะระบบสายส่ง เพราะมีต้นทุนสูง แต่รัฐต้องกำกับดูแล เพื่อให้ราคาเป็นธรรม โดยมองว่า กรณีนี้ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่ามีผู้ให้บริการกี่ราย แต่อยู่ที่ราคาการให้บริการว่าเหมาะสมหรือเปล่า

2.) ผู้ผลิตน้อยราย อย่างเครือข่ายโทรศัพท์มือถือมี 3 บริษัท ซึ่งทำให้ค่าโทรถูกลงมากจากอดีตที่เคยมีผู้ให้บริการรายเดียว แต่อาจมีการฮั้วราคาให้ค่าโทรสูงเกินจริงได้ 

3.)​ ตลาดกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาด คือ มีผู้ผลิตจำนวนมากแต่รูปแบบและคุณภาพสินแตกต่างกัน อย่างบริษัทผลิตแชมพู ที่ราคาไม่ต่างกันมากและผู้บริโภคเลือกใช้ตามรสนิยม  

4.) ตลาดแข่งขันสมบูรณ์ ซึ่งมีลักษณะอุดมคติ ที่สินค้ามีรูปแบบหรือหน้าตาและราคาเท่าๆ กัน อย่าง รถเข็นขายผลไม้ ซึ่งขอบเขตของตลาดเกี่ยวกับความสามารถในการทดแทนด้านการผลิต อย่างตลาดผลไม้ตามฤดูกาล ทำให้ปิดช่องว่างการผูกขาดและมีการแข่งขันทางราคา ที่ผู้บริโภคสามารถเลือกคุณภาพสินค้าและราคาที่พอใจได้  

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
185Article
76559Video
0Blog