ยังจำเรื่องการแบนสารเคมีทางการเกษตรอันตราย อย่าง พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส เมื่อ 2-3 ปีก่อนได้หรือไม่ และแม้ตอนนี้รัฐบาลไทยมีประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมให้แบนสารเคมีอันตรายดังกล่าวแล้ว
แต่รู้หรือไม่? วานนี้ (1 พ.ย. 2564) วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) ที่มีช่องทางนำเสนอความเคลื่อนไหวขององค์กรผ่านเพจเฟซบุ๊ก 'BIOTHAI' เพจนำเสนอข่าวสาร ข้อมูล บทวิเคราะห์ บทวิจารณ์เพื่อให้รัฐบาลไทยยุติการนำเข้า 3 สารเคมีทางการเกษตรอันตรายนี้ต้องขึ้นศาลสู้คดีเพราะถูก ดร.จรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทยฝ่ายต่อต้านการแบนใช้สารเคมีเหล่านี้ฟ้องหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาและกระทำความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
กรณีแก้ไขและนำเข้าข้อมูลใหม่เกี่ยวกับความร้ายแรงของสารเคมีที่เพจสมาคมวิทยาการวัชพืชฯ เผยแพร่ รวมถึงข้อหาหมิ่นประมาทว่าสมาคมฯ มีความสัมพันธ์กับบริษัทค้าสารเคมี ซึ่งคดีดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562
วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) หลังเดินทางไปศาลอาญาเพื่อไต่สวนมูลฟ้องเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2564 (ภาพจาก เพจThe Story of แม่หญิงไฟ้ท์)
แม้การขึ้นศาลวานนี้เป็นเพียงการไต่สวนมูลฟ้อง ซึ่งหมายถึงการที่ผู้ฟ้องและผู้ถูกฟ้องนำหลักฐานการกล่าวหาคู่กรณีไปเปิดเผยต่อศาล เพื่อให้ศาลตรวจสอบและพิจารณาว่าจะรับคำฟ้องเพื่อให้ทั้งคู่ต่อสู้คดีในศาลหรือไม่ ทั้งนี้ลุ้นว่าวันที่ 15 ธ.ค. 2564 นี้ศาลจะรับคำฟ้องหรือไม่
ย้อนดูข้อกล่าวหาที่นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทยนั้นแบ่งเป็น 2 ข้อกล่าวหา เดี๋ยวจะค่อยๆ ไล่ไปที่ละข้อกล่าวหาพร้อมคำชี้แจงของทั้งสองฝ่าย
2.1 นำความเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์
จากกรณีเพจไบโอไทย ของมูลนิธิชีววิถี ซึ่ง วิฑูรย์ เป็น ผอ.มูลนิธิฯ นำข้อความเผยแพร่ของผู้ฟ้องคดีเกี่ยวกับความเป็นพิษของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมาเผยแพร่ โดยเพจ ‘BIOTHAI’ นำภาพและข้อความจากเพจ ‘สมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย’ ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2562 มาเผยแพร่ใหม่แล้วมีการกากบาทภาพและข้อความ
ภาพที่ฝ่ายโจกท์นำไปฟ้องร้องวิฑูร (ภาพจากเพจ BIOTHAI)
ข้อความเดิม จากเพจ ‘สมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย’
“ไม่มีรัฐบาลไหนในโลกใบนี้ที่จะแบนสารแถบสีน้ำเงิน แบบไกลโฟเซต แต่เสนอสารทดแทนแถบสีเหลืองแบบกลูโฟสิเนต”
ข้อความใหม่ที่เพจไบโอไทย นำมาเผยแพร่คือ
“ไม่มีรัฐบาลไหนในโลกใบนี้ที่จะแบนสารแถบสีน้ำเงิน แบบไกลโฟเซต แต่เสนอสารทดแทนแถบสีเหลืองแบบกลูโฟสิเนต” พร้อมเครื่องหมายกากบาท
พร้อมระบุข้อความว่า “แถบสีน้ำเงินไกลโคเซตคือสารก่อมะเร็ง แถบสีเหลืองพาราควอต มีสารพิษมากกว่าที่เคยแบนแล้ว 43 เท่า”
ดร.จรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย เคยกล่าวกับหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2564 เห็นว่าการกระทำดังกล่าวของเพจ ‘ไบโอไทย’ อาจสร้างความเข้าใจผิดต่อสาธารณะและทางสมาคมฯ ไม่ได้กล่าวถึงพาราควอต จนทำให้สมาคมได้รับความเสียหายโพสต์ข้อความ เกี่ยวกับเรื่องสารเคมี พาราควอต ซึ่งทำให้ทางตนและทางสมาคมเสื่อมเสียชื่อเสียง
“ทางสมาคมยืนยันว่าข้อมูลที่เผยแพร่เป็นความรู้ในเชิงวิชาการและข้อเท็จจริงให้กับประชาชน ไม่มีการบิดเบือนข้อมูล มีการค้นคว้ารับรองเราเป็นข้าราชการ เราไม่สามารถบิดเบือนข้อมูลได้” ดร.จรรยากล่าว
ด้าน วิฑูรย์กล่าวกับ ‘วอยซ์’ ว่า เจตนาที่กากบาทข้อความแล้วใส่ข้อมูลเพิ่มเติมนั้น เนื่องจากสมาคมโพสต์ข้อความในเชิงตั้งคำถามว่า ไกลโฟเซตเป็นสารเคมีแถบสีน้ำเงินทำไมต้องแบน?
วิฑูรย์กล่าวอีกว่า เพจไบโอไทยเผยแพร่ข้อความเมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2562 เพื่ออธิบายว่า สารเคมีแถบสีน้ำเงินก็มีอันตรายเหมือนกัน แม้จะไม่ใช่อันตรายแบบเฉียบพลัน แต่เป็นอันตรายในแบบเรื้อรัง เช่น หากได้รับพิษอยู่เรื่อยๆ และพิษสะสมในร่างกายอาจมะเร็ง มีผลกระทบต่อระบบสืบพันธุ์และผลกระทบต่อระบบประสาทได้
“แม้หลักการทั่วไปของแทบสีจะระบุว่าสีน้ำเงินพิษน้อย แต่ในหลักการทั่วโลกยังระบุถึงว่ามีการก่อพิษเรื้อรังด้วย เพราะฉะนั้นสิ่งที่สมาคมฯ เอามาโพสต์นั้นก็ไม่เป็นความจริง” วิฑูรย์กล่าว
วิฑูรย์กล่าวอีกว่า สารเคมีทางการเกษตรอันตรายที่ถูกประชาชนแบนทั่วโลก เขาไม่ได้แบนเฉพาะพิษเฉียบพลันอย่างเดียว แต่ยังแบนพิษเรื้อรังด้วย
อีกทั้งคำอธิบายของที่วิฑูรย์เคยเผยแพร่ผ่านเพจไบโอไทย เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2562 ยังระบุว่า ศาลสหรัฐฯ ได้ตัดสินให้บริษัทชดใช้ค่ามูลค่ามหาศาลแก่ผู้ที่ฉีดพ่นสารพิษนี้ (ไกลโฟเซต) และมีประชาชนมากกว่า 40,000 คนฟ้องไบเออร์-มอนซานโต้อยู่ในปัจจุบัน ในหลายรัฐ เช่น แคลิฟอร์เนีย ออกข้อบังคับให้ระบุคำเตือนผลิตภัณฑ์ไกลโฟเซตว่าเป็นสารก่อมะเร็ง
“ไบโอไทยไม่ได้บอกว่าต้องการแบนสารเคมีทางการเกษตรทั้งหมด แต่เรามีเป้าหมายคือแบนสารเคมีใดที่มีพิษเฉียบพลัน เรื้อรัง และมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และประชาชนไม่สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยแค่นั้น” วิฑูรย์กล่าว
อย่างไรก็ตาม วิฑูรย์กล่าวอีกว่า ในการไต่สวนมูลฟ้องคดีครั้งนี้ทีมทนายความได้นำเอกสารหลักฐานจากกรมวิชาการเกษตร และองค์การอนามัยโลก (WHO) มายืนยันต่อศาลและสาธารณะว่าข้อมูลของผู้ฟ้องคดีไม่ถูกต้อง
“ไบโอไทยจำเป็นต้องชี้แจงข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อให้ประชาชนรับทราบ เพื่อป้องกันมิให้เกิดความเข้าใจผิดซึ่งจะเกิดอันตรายต่อเกษตรกรและประชาชนหากได้รับสัมผัสสารอันตรายดังกล่าว” วิฑูรย์กล่าว
2.2. ข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา
วิฑูรย์ ยังกล่าวว่า ดร.จรรยายังแจ้งข้อกล่าวหาต่อตนในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา กรณีที่ตนตอบคำถามพิธีการในรายงานสดของสำนักข่าวแห่งหนึ่งที่ถามว่า ฝ่ายสนับสนุนให้มีการแบนสารเคมีอันตรายนี้ได้รับผลประโยชน์จากใครหรือไม่? วิฑูรย์ชี้แจ้งว่า
ตนตอบกลับพิธีกรว่า กลุ่มที่เคลื่อนไหวให้มีการแบน 3 สารเคมีนี้ไม่มีใครมีผลประโยชน์จากใคร องค์กรไหน สามารถตรวจสอบได้และสามารถตรวจสอบไบโอไทยได้เช่นกันว่ามีประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวเกี่ยวกับเรื่องนี้มายาวนานแค่ไหน
“อีกทั้งเรื่องการเสนอให้มีการแบน 3 สารเคมีนี้เป็นฉันทามติร่วมกันของวงวิชาการด้านสาธารณสุขของประเทศไทย แต่กลับกันมีสมาคมวิชาการแห่งหนึ่งมีความเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับบริษัทเอกชน นี่คือหลักฐานที่ทางสมาคมวิทยากรวัชพืชฯ ฟ้องร้อง” วิฑูรย์เล่าสิ่งที่ตัวเองตอบกับพิธีกร
เมื่อถามว่า แต่ทางด้าน ดร.จรรยาเคยกล่าวกับหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2564 ว่าสิ่งที่วิฑูรย์กล่าวไปไม่เป็นความจริง เพราะบอร์ดของมูลนิธิฯ ทุกคนเป็นข้าราชการทั้งหมดจะอธิบายอย่างไร?
วิฑูรย์ตอบว่า เจตนาที่พูดว่ามีสมาคมวิชาการแห่งหนึ่งมีความเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับบริษัทเอกชน นั่นคือเรื่องจริง ตนมีหลักฐาน เพราะต้องการให้สังคมเห็นว่านโยบายสาธารณะที่ถูกผลักดันจากสมาคมวิชาการฯ ไม่ควรมีผลประโยชน์ทับซ้อนก็เท่านี้
“ถึงยังไงทางผมและทนายความเตรียมหลักฐานยืนยันข้อเท็จจริงสิ่งที่พูดไว้แล้ว ค่อยต่อสู้คดีในศาล” วิฑูรย์กล่าว
ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถียังกล่าวทิ้งท้ายว่า กรณีที่กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างสมาคมวิชาการด้านการเกษตรแห่งหนึ่งกับบริษัทเอกชนผู้ค้าสารเคมีนั้นมีเจตนาเพื่อให้ประชาชนและสาธารณะ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะไม่ได้มีเจตนาสร้างความเกลียดชังใดๆ ทั้งสิ้นต่อบุคคลในองค์กร เพราะไม่มีการเอ่ยชื่อถึงสมาคมนั้นโดยเฉพาะอีกด้วย
มีคนตั้งข้อสังเกตว่ากรณีสมาคมฯ ฟ้อง วิฑูรย์ เป็นเพียงแค่การฟ้องหมิ่นประมาททั่วไป ไม่น่ามีความเกี่ยวข้องกับการเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยุติการนำเข้า 3 สารเคมีดังกล่าว เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรมีมติเป็นเอกฉันท์เห็นชอบด้วยเสียง 423 ต่อ 0 ต่อข้อเสนอของกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการใช้สารเคมีทางการเกษตร ให้มีการยกเลิกการใช้สารพิษดังกล่าวทั้ง 3 ชนิดแล้ว
และเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2563 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมโดยความเห็นของคณะกรรมการวัตถุอันตรายได้ออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2563 กำหนดให้สารพาราควอตและสารคลอร์ไพริฟอส ซึ่งเป็นสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมร้ายแรง เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ห้ามมิให้มีการผลิต การนำเข้า การส่งออก การนำผ่าน หรือการมีไว้ในครอบครอง โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2563
เนื่องจากสารเคมีเหล่านั้นมีผลกระทบต่อระบบประสาทและสมอง และบางชนิดเป็นสารก่อมะเร็งกับผู้ที่สัมผัส
แต่ วิฑูรย์ตอบว่า เกี่ยวข้องกัน เนื่องจากคดีที่บริษัทจำหน่ายสารเคมีดังกล่าวในประเทศไทยฟ้องศาลปกครองให้รัฐบาลไทยเพิกถอนกฎหมายยกเลิกการแบนสารเคมีเหล่านั้น เพื่อให้สามารถมีการนำเข้าและจำหน่ายสารพาราควอตและสารคลอร์ไพริฟอสได้ต่อไปยังอยู่ในขั้นรับคดี แต่ศาลไม่ได้มีคำสั่งให้คุ้มครองชั่วคราว ซึ่งอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาคดีของศาล (อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้องได้ที่)
“ผมตั้งข้อสังเกตว่าการที่ผมในฐานะ ผอ.ไบโอไทยโดนคดีนี้ อาจจะเป็นความต้องการของบริษัทดังกล่าวที่ต้องการปิดปากผมและไบโอไทยไม่ให้พูดและนำเสนอข้อความเกี่ยวกับอันตรายของสารเคมีต่อสาธารณะ ซึ่งจะมีต่อรูปคดีในศาลปกครอง” วิฑูรย์ตอบ
วิฑูรย์กล่าวอีกว่า หากฝ่ายบริษัทแพ้คดีในศาลปกครองก็เท่ากับว่าในอนาคตสารเคมีอื่นๆ ที่เข้าเงื่อนไขมีความเสี่ยงสูง อันตรายของบริษัทในอนาคตก็จะได้รับผลกระทบด้วย
วิฑูรย์เชื่อว่าการที่ตนถูกฟ้องร้องดำเนินคดีครั้งนี้เป็นความพยายามของบริษัทค้าสารเคมีที่ต้องการให้ตนและเพจไบโอไทยหยุดการเผยแพร่ข้อมูล ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความเป็นอันตรายของสารเคมีเหล่านั้น
"พวกเราต่อสู้ทางนโยบายกับบริษัทสารเคมีนี้อยู่แล้ว เป้าหมายขององค์กรคือส่งเสริมเกษตรเชิงนิเวศ ลดการใช้สารเคมีที่อันตรายร้ายแรง สิ่งที่เราทำเป็นการขัดขวางเรื่องการตลาด การค้าของบริษัทสารเคมีเหล่านี้ แต่ก็เข้าใจเขาที่เขาต้องปกป้องผลประโยชน์ทางธุรกิจของเขาเช่นกัน" วิฑูรย์กล่าว
วิฑูรย์กล่าวอีกว่า ดังนั้นการต่อสู้เชิงนโยบายแล้วกระทบบริษัทเอกชนก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากันได้ อย่างไรก็ตามต้องเพิ่งกระบวนการยุติธรรมในศาล ต่อสู้กันในสาร เอาหลักฐาน ข้อเท็จจริงมาสู้กัน
หากจะย้อนดูเส้นทางการเคลื่อนไหวของวิฑูรย์ในประเด็นแบนสารเคมีทางการเกษตร เพจ 'เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN)' ได้เผยแพร่ข้อความเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้บางส่วนเมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2564 ว่า
10 ปีแล้ว 'วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ' ได้รับการร้องขอจากเกษตรกรและองค์กรภาคประชาสังคมเพื่อให้ไบโอไทยซึ่งมีบทบาทสำคัญในการทำงานปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพและเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร เข้าร่วมเคลื่อนไหวเพื่อจัดการปัญหาสารพิษกำจัดศัตรูพืชที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะสารเคมีกำจัดศัตรูพืชร้ายแรงที่หลายประเทศทั่วโลกยกเลิกการใช้ไปแล้วแต่ยังคงอนุญาตให้มีการนำเข้าและจำหน่ายในประเทศไทย
ด้วยการสนับสนุนจากแพทย์ นักวิชาการด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เครือข่ายด้านเกษตรกรรมยั่งยืน องค์กรคุ้มครองผู้บริโภค และเกษตรกรรายย่อยและชุมชนท้องถิ่นที่ต้องการสร้างระบบเกษตรกรรมและอาหารที่ปลอดภัย
วิฑูรย์ได้ร่วมกับภาคีต่างๆ เคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยกเลิกการใช้สารพิษร้ายแรง จนมีการยกเลิกการใช้สารเคมีกำจัดแมลงเช่น เมโทมิล คาร์โบฟูราน อีพีเอ็น และไดโครโตฟอส จนเป็นผลสำเร็จ เมื่อปี 2556 แต่ยังคงมีสารพิษกำจัดศัตรูพืชอีกหลายชนิดที่มีความเสี่ยงสูงที่ยังคงอนุญาตให้จำหน่าย หลายชนิดส่งผลกระทบต่อระบบประสาทและสมอง บางชนิดเป็นสารก่อมะเร็ง
เมื่อกระทรวงสาธารณสุขและและคณะทำงานสารเคมีที่มีความเสี่ยงสูงจาก 4 กระทรวงหลักมีมติให้มีการแบนพาราควอต คลอร์ไพริฟอสและจำกัดการใช้ไกลโฟเซต เมื่อปี 2560 วิฑูรย์ในฐานะที่เป็นสมาชิกของเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชได้ร่วมกันเคลื่อนไหวเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยกเลิกการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชดังกล่าว จนในที่สุดคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติให้ยกเลิกการใช้โดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา
วิฑูรย์กล่าวว่า เขาไม่ยอมถูกปิดปากในการเปิดเผยความจริง การฟ้องศาลของกลุ่มต่อต้านการแบน จะเป็นโอกาสที่ประชาชนจะได้ทราบข้อมูลเบื้องลึก เบื้องหลังความเป็นจริงเกี่ยวกับอันตรายร้ายแรงของสารพิษที่ถูกแบน รวมทั้งความเกี่ยวข้องของกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ที่ต่อต้านการแบนสารพิษร้ายแรงดังกล่าว เขาและนักวิชาการ นักเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจะไม่ยอมจำนนต่อการคุกคามในการพูดความจริงไม่ว่าจะมาในรูปแบบใดๆ
กรณีนี้ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนฝ่ายของวิฑูรย์ให้ความเห็นว่า การฟ้องร้องครั้งนี้ ไม่ใช่การต่อสู้ในข้อหาหมิ่นประมาทหรือความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ทั่วไป แต่เป็นการต่อสู้กับการการฟ้องปิดปาก (Strategic Lawsuit Against Public Participation : การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อต่อต้านการมีส่วนร่วมของสาธารณชน)
สุภาภรณ์ มาลัยลอย นักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรมมูลนิติธรรมสิ่งแวดล้อม (Enlaw) กล่าวผ่านเพจ 'The Story of แม่หญิงไฟ้ท์' เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2564 ว่า เจตจำนงในการฟ้อง มันน่าจะเป็นประเด็นการฟ้องเพื่อที่จะให้วิฑูรย์และมูลนิธิไบโอไทยหยุดพูดในเรื่องนี้ มากกว่าที่จะเป็นการฟ้องคดีหมิ่นประมาท
สุภาภรณ์กล่าวอีกว่า มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมเห็นว่า การทำงานของวิฑูรย์ และมูลนิธิชีววิถีเป็นการทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างชัดเจน และมีเจตจำนงในการทำงานมาอย่างยาวนาน ทั้งให้การศึกษากับทางสังคมและตรวจสอบรัฐบริษัทกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสารพิษสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
“ความมุ่งหมายของคุณวิฑูรย์และไบโอไทย คือการปกป้องกลุ่มเกษตรกร กลุ่มผู้ที่ใช้สารเคมี และกลุ่มผู้บริโภคที่อาจจะมีความเสี่ยง ที่จะได้รับอาหารที่ไม่ปลอดภัยจากสารเคมีตกค้าง ดังนั้นการที่คุณวิฑูรย์และมูลนิธิไบโอไทยออกมาส่งเสียง และออกมาแสดงความคิดเห็นในมิติเรื่องนี้ เป็นประเด็นประโยชน์สาธารณะ ซึ่งควรจะเป็นสิ่งที่พูดได้ แสดงความคิดเห็นได้ต่อสังคม” สุภาภรณ์กล่าว
ด้านจันทร์จิรา จันทร์แผ้ว ทนายความของวิฑูร์ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับคดีนี้ผ่าน เพจ 'The Story of แม่หญิงไฟ้ท์' เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2564 ว่า วิฑูรย์ถูกฟ้อง 2 คดีคือหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาและความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยในส่วนของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์โจทย์ฟ้องมาถึง 2 มาตรา คือ มาตรา 14 และมาตรา 16 เรามองว่าในทางกฎหมายถ้าฟ้องคดีหมิ่นประมาทแล้ว พรบ.คอมพิวเตอร์มาตรา 14 (1) จะยกเว้นไม่ให้ใช้ในคดีหมิ่นประมาท
จันทร์จิรากล่าวอีกว่า ดังนั้นก็ไม่ควรฟ้องตามมาตรา 14 (1) ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์อีก นอกจากนี้ในมาตรา 16 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์เป็นความผิดที่จะใช้กับภาพ การตัดต่อภาพบุคคลเหมือนนำภาพดาราตัดต่อให้ความเสียหายกับดาราคนนั้นคือวัตถุประสงค์ของมาตรา 16 แต่กลับมาฟ้องในคดีนี้ด้วย
"แต่กรณีนี้เป็นภาพข้อความที่กากบาทเอาไว้เท่านั้นเอง ส่วนตัวมองว่า สุดท้ายแล้ว ศาลจะรับฟ้องก็รับฟ้องได้ตามมาตรา 326 และ 328 ประมวลกฎหมายอาญา แต่ก็เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 329 ประมวลกฎหมายอาญาคือ ใช้สิทธิโดยสุจริตเพื่อประโยชน์สาธารณะ เพราะข้อความที่พูดว่า สารเคมีเป็นสารก่อมะเร็งนั้นมีอยู่ในรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม ของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งคุณวิฑูรย์เองเป็นหนึ่งในคณะกรรมมาธิการนั้นด้วย และการเอาข้อมูลในที่ประชุมมาพูดในทางสาธารณะก็ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย" จันทร์จิรากล่าว
จันทร์จิรา มองว่าการพูดทางสาธารณะที่มีข้อมูลทางวิชาการรองรับควรจะได้รับความคุ้มครอง ไม่ควรจะต้องมีใครถูกฟ้องคดีเพื่อยับยั้งการพูดเพื่อประโยชน์สาธารณะโดยที่มีข้อมูลทางวิชาการรองรับ
เรียบเรียงข้อมูลบางส่วนจาก