เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) แถลงผลการดำเนินงาน 90 วันหลังจากที่ได้เข้ามารับตำแหน่งว่า ที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีกับหน่วยงานพันธมิตรต่างๆ ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งส่งผลให้การดำเนินงานประสบความสำเร็จใน 9 ด้านหลัก ดังนี้
1.ศูนย์ต่อต้านอาชญากรรมออนไลน์ AOC 1441 ที่ได้ยกระดับการทำงานเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2566 เป็น One Stop Service แก้ปัญหาออนไลน์ สำหรับประชาชนให้บริการ 24 ชั่วโมงและใช้ติดตามสถานการณ์ สั่งการ ปฏิบัติการป้องกันปราบปรามโจรออนไลน์อย่างบูรณาการและทันเวลา โดยมี War-room ภายใต้ AOC และใช้เทคโนโลยีพัฒนา Intelligent Assistant (IA) และ Intelligence based platform ทำให้เกิดการรวบรวมเชื่อมโยงข้อมูล เป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้พร้อมใช้งานในการป้องกัน ปราบปราม โดย platform นี้จะมีการใช้และการวิเคราะห์ ทั้งข้อมูลทางการเงิน ข้อมูลการใช้โทรศัพท์ ข้อมูลธุรกรรมต้องสงสัย ใช้เทคโนโลยี AI / Data scientists เข้ามาช่วยในการวิเคราะห์ คาดการณ์ โดยทำงานเชื่อมโยง กับ Central Fraud Registry ของสมาคมธนาคาร และ Audit Numbering ระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลของ กสทช. โดยผลการดำเนินงานสำคัญ ในช่วงวันที่ 1- 30 พ.ย. 2566 ที่ผ่านมา มีประชาชนติดต่อ 79,997 สาย , ระงับบัญชีธนาคาร 7,996 บัญชี เฉลี่ย 15 นาที จับกุมแล้ว 389 ราย
2.การปิดกันเว็บไซต์ที่ผิดกฎหมายและเว็บพนัน ปรับเปลี่ยนการทำงานเน้นทำงานเชิงรุก ใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย ทำงานร่วมกับโซเชียลมีเดียแพลทฟอร์มใกล้ชิด ทำให้ปิดกั้นเว็บหรือเพจผิดกฎหมาย เพิ่มมากขึ้น อย่างมีนัยยะสำคัญ โดยตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. -10 ธ.ค. 2566 มีการปิดกั้นเว็บไซต์หรือเพจผิดกฎหมายโดยรวมทุกประเภท สูงถึง 25,061 เว็บไซต์/เพจ เพิ่มขึ้น 10.0 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่ปิดได้ 2,567 เว็บไซต์/เพจ ขณะเดียวกันได้ปิดกั้นเว็บพนันออนไลน์ ถึง 4,592 เว็บไซต์ เพิ่มขึ้น 17.5 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ปิดได้ 248 เว็บไซต์
3. การแก้ปัญหาการซื้อขายข้อมูลและการหลุดรั่วของข้อมูลประชาชน ได้เร่งดำเนินการ 6 มาตรการ เพื่อแก้ปัญหาการหลุดรั่ว ของข้อมูลประชาชน ตลอดจนการซื้อขายข้อมูลประชาชน โดยแบ่งเป็น ระยะเร่งด่วน 30 วัน ระยะ 6 เดือน และ ระยะ 12 เดือน ดังนี้
ระยะเร่งด่วน ใน 30 วัน โดยสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) จัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPC Eagle Eye เร่งตรวจสอบ ข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะ พร้อมทั้งค้นหา เฝ้าระวัง การรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคล โดยในช่วง 9 พ.ย. – 9 ธ.ค. 2566 ได้ตรวจสอบแล้ว จำนวน 15,320 หน่วยงาน (รัฐ/เอกชน) , ตรวจพบข้อมูลรั่วไหล/แจ้งเตือนหน่วยงานแล้ว จำนวน 4,593 เรื่อง , หน่วยงานแก้ไขแล้วจำนวน 4,593 เรื่อง นอกจากนี้ยังได้ดำเนินการเรื่องการซื้อขายข้อมูลส่วนบุคคล 3 เรื่อง ซึ่งอยู่ระหว่างสืบสวนดำเนินคดีร่วมกับ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.)
โดยสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ตรวจสอบช่องโหว่ ระบบ cybersecurity หรือระบบการรักษาความมั่นคงปลอดภัยข้อมูล โดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐที่เป็นหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ (Critical Information Infrastructure: CII) โดยการตรวจสอบช่องโหว่ระบบ cybersecurity ระหว่าง 9 พ.ย. – 9 ธ.ค. 2566 จำนวน 91 หน่วยงาน , ตรวจพบมีความเสี่ยงระดับสูง 21 หน่วยงาน และ สกมช. ได้แจ้งให้แก้ไขแล้ว รวมทั้งได้ดำเนินการเรื่อง การซื้อขายข้อมูลคนไทยใน darkweb (เว็บผิดกฎหมาย ที่คนร้ายหรือโจรออนไลน์นิยมใช้) จำนวน 3 เรื่อง ซึ่งอยู่ระหว่างสืบสวนดำเนินคดีร่วมกับ บช.สอท.
นอกจากนี้ยังได้มอบหมายให้ สคส. และ สกมช. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล การป้องกันความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นหากไม่ปฏิบัติตามระเบียบขั้นตอนการรักษาความปลอดภัยของหน่วยงาน ความรู้เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity Awareness Training) พร้อมสั่งการเร่งรัดปิดกั้นการซื้อขายข้อมูลส่วนบุคคลที่ผิดกฎหมาย และดำเนินคดีจับกุมผู้กระทำความผิด ระยะ 6 เดือน และส่งเสริมการใช้งานระบบคลาวด์กลางภาครัฐที่มีความน่าเชื่อถือ ความมั่นคงปลอดภัยตามหลักวิชาการสากล รองรับการใช้งานของบุคลากรของหน่วยงานต่างๆ ได้อย่างปลอดภัย เพื่อป้องกันและลดปัญหาการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคล จากสาเหตุที่หน่วยงานภาครัฐส่งข้อมูลให้หน่วยงานภายนอก หรือขาดบุคลากรในการกำกับดูแลงานด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ระยะ 12 เดือน ขณะเดียวกันก็จะมีกาดรำเนินการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ทันสมัยต่อบริบทของสังคมและพฤติการณ์ที่เปลี่ยนไป และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายและป้องกันอาชญากรรมทางไซเบอร์ที่ดียิ่งขึ้น
4.การแก้ปัญหาซิมม้า ได้เร่งดำเนินการป้องกันและปราบปราม การใช้ซิมม้า โดยใช้มาตรการเชิงรุกจำนวน 6 มาตรการ ประกอบด้วย 1. กำหนดให้ผู้ใช้บริการมีการถือครองซิมเกิน 5 ซิม ต่อผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ จะต้องมีการมายืนยันตัวตนภายใน 30 วัน ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการของ คณะกรรมการ กสทช. และให้มีผลให้ต้องลงทะเบียน ไม่เกิน 30 วันนับแต่การออกประกาศ , 2, กำหนดให้เป็นหน้าที่ของผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ดำเนินการตรวจสอบการใช้งานโทรศัพท์ที่ผิดปกติ ที่มีการโทรออกตั้งแต่ 100 สายต่อวัน หรือในเวลาสั้นๆ ส่งข้อมูล AOC 1441 ทำการระงับการใช้งาน , 3.เร่งระงับเบอร์ และขยายผล สืบสวนสอบสวน ดำเนินคดีจากเบอร์ตัองสงสัย , 4 แจ้งข้อมูลการโทรที่ผิดปกติต่อศูนย์ AOC 1441 และ ระบบ Audit numbering ของ สนง.กสทช เพื่อให้เป็นศูนย์กลางรวมรวมข้อมูล ประสานหน่วยงานเกี่ยวข้องทุกหน่วยเร่งตรวจสอบขยายผล แบบบูรณาการ วิเคราะห์อาชญากรรม สืบสวนสวน สอบสวนนำตัวผู้กระทำความผิด และเครือข่ายมาลงโทษโดยเร็ว , 5. ตรวจสอบ หมายเลขโทรศัพท์/เสาสัญญาณ และการตั้งสถานีแพร่กระจายสัญญาณอินเทอร์เน็ตโดยไม่ได้รับอนุญาต หากพบให้ดำเนินการระงับสัญญาณทันที และ 6.กำกับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีการให้บริการนอกราชอาณาจักรไปยังประเทศเพื่อนบ้าน
5.การดึงการลงทุนและพัฒนากำลังคนด้าน AI และ Cloud โดยเฉพาะด้าน AI และ Cloud โดยความร่วมมือกับบริษัทระดับโลก และประเมินว่าจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 300,000 ล้านบาท ทั้งจากการลงทุนและพัฒนาบุคคลากรในระยะ 5 ปี จากความร่วมมือ 3 บริษัท นำโดย Huawei ซึ่งได้ร่วมมือตั้งศูนย์เพื่อพัฒนาบุคลากรไทยด้าน AI & Cloud ผลิตคนด้าน AI และ Cloud ปีละ 10,000 คนหรือ 50,000 คน ในระยะเวลา 5 ปี ซึ่งจะสร้างรายได้ให้ผู้ที่มีทักษะ AI & Cloud จำนวนกว่า 60,000 ล้านบาท แก้ปัญหาขาดแคลนบุคคลากรด้าน AI และ Cloud รวมไปถึง Google โดยได้ร่วมมือกันสร้างผลประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมให้ภาคธุรกิจไทยกว่า 4.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะร่วมกันศึกษาแนวทางการใช้ Generative AI และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี Google Cloud และ Microsoft ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้พบปะหารือเพื่อพูดคุยถึงจุดประสงค์ของบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่สอดคล้องกับนโยบาย ขณะที่ด้านรัฐบาลดิจิทัลและการใช้บริการระบบคลาวด์ภาครัฐ หรือ Cloud First เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถนำ AI มาใช้งานได้อย่างถูกต้องเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ รวมถึงยกระดับทักษะแห่งอนาคตสำหรับคนไทยกว่า 10 ล้านคน ผ่านความร่วมมือกับ ดศ.
6. ชุมชนโดรนใจ One Tambon One Digital (OTOD) เริ่มต้นในเดือน พ.ย. 2566 มีเป้าหมายดำเนินการครบ 500 ชุมชน ใน ต.ค.2567 ประยุกต์ใช้โดรนเพื่อการเกษตรให้บริการกว่า 4 ล้านไร่ทั่วประเทศ เป็นการยกระดับทักษะเกษตรกรกว่า 1,000 คน เกิดธุรกิจบริการโดรน 50 ชุมชน เกิดอาชีพใหม่ช่างโดรนชุมชนและเกิดศูนย์สอบอนุญาติการบินโดรน 5 ภูมิภาค เกิดมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจกว่า 20,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้มีชุมชนให้ความสนใจสมัครเข้าร่วมแล้ว 300 ชุมชน และ 63 ศูนย์ซ่อม การดำเนินการอยู่ในระหว่างจัดตั้งศูนย์สอบขอใบอนุญาตการบินโดรน 5 ศูนย์ทั่วประเทศและเกิดการสร้างมาตรฐาน dSURE สำหรับเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล
7. Global Digital Talent ได้ผลักดันกลไกการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนกำลังคนดิจิทัลให้กับภาคอุตสาหกรรมดิจิทัลและอุตสาหกรรมอื่นๆ ของประเทศ ผ่านการนำเข้ากำลังคนจากต่างประเทศผ่านการตรวจลงตรารูปแบบใหม่ Global Digital Talent Visa (GDT Visa) เพื่อดึงดูดกำลังคนดิจิทัลสาขาขาดแคลนจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ 600 แห่งทั่วโลกที่ได้รับการรับรอง (Digital Talent) โดยชาวต่างชาติที่ได้รับ GDT Visa จะได้สิทธิในการพำนักและสิทธิทำงานพร้อมวีซ่าเป็นระยะเวลา 1 ปี สามารถให้คู่สมรสและบุตรได้รับวีซ่าผู้ติดตามไปพร้อมกันได้ สามารถเดินทางเข้าและออกประเทศไทยได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง (Re-Entry permit) ได้รับสิทธิให้ใช้ช่องทางพิเศษ (Fast Track) ในการเข้าออกราชอาณาจักร ณ ท่าอากาศยานระหว่างประเทศที่ให้บริการช่องทางพิเศษ และชาวต่างชาติที่จะได้รับ GDT Visa จะต้องได้รับการรับรองคุณสมบัติตามที่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลกำหนด โดยรายละเอียดหลักเกณฑ์ต่างๆ เกี่ยวกับ GDT Visa อยู่ระหว่างการเสนอเรื่องให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการให้นำเรื่องเสนอต่อ ครม. พิจารณา ตามมาตรา 4 (12) พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548
8. การสนับสนุน Start Ups และ SMEs ด้วยบัญชีบริการดิจิทัลและมาตรการทางภาษี โดยได้จัดทำโครงการ บัญชีบริการดิจิทัลเพื่อเป็นกลไกการยกระดับอุตสาหกรรมดิจิทัล ซึ่งจะเป็นการรวบรวมสินค้าและบริการดิจิทัลจากผู้ประกอบการและผู้ให้บริการดิจิทัลไทยที่มีคุณสมบัติครบถ้วน และเป็นไปตามข้อกำหนดด้านมาตรฐานและราคา ซึ่งจะเป็นเปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบการดิจิทัลไทยในการเข้าสู่ตลาดภาครัฐ โดยรัฐสามารถใช้กระบวนการทางพัสดุด้วยวิธีคัดเลือกหรือเฉพาะเจาะจงในการซื้อหรือเช่าซื้อสินค้าและบริการดิจิทัลจากบัญชีบริการดิจิทัล ซึ่งจะช่วยให้กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเป็นไปอย่างเที่ยงธรรม มีมาตรฐานและสามารถตรวจสอบได้ ปัจจุบันมีสินค้าและบริการที่ได้รับการรับรองและขึ้นทะเบียนบัญชีบริการดิจิทัลแล้วทั้งสิ้น 132 รายการ จากผู้ประกอบการดิจิทัลไทย 13 บริษัท พร้อมผลักดันมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่เศรษฐกิจดิจิทัล หรือ Tax 200%
9. การยกระดับ Thailand Digital Competitiveness Ranking ได้ขับเคลื่อนความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล ส่งผลให้การจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของไทยในปี 2566 หรือ Thailand Digital Competitiveness Ranking 2023 ดีขึ้น 5 อันดับ โดยไทยอยู่อันดับที่ 35 ในปี 2023 จากเดิม อันดับที่ 40 ใน ปี 2022 ซึ่งการจัดอันดับด้านดิจิทัลโดย World Competitiveness Center ของ International Institute for Management Development หรือ IMD สวิตเซอร์แลนด์ เป็นผลการจัดอันดับประจำปี 2023 หรือ พ.ศ. 2566 ตามรายงาน IMD World Digital Competitiveness Ranking 2023 โดย 5 ประเทศที่มีอันดับสูงสุดในอาเซียนมีดังนี้ 1. Singapore(3) , 2. Malaysia (33) , 3. Thailand (35) , 4. Indonesia (45) , 5. Philippines (59) โดยได้ตั้งเป้าหมายว่า อันดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของไทย จะต้องอยู่ใน 30 อันดับแรกของโลกภายในปี 2569 นี้
มติชนออนไลน์ รายงานว่า ประเสริฐ ได้เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงอยู่ระหว่างจัดทำโครงการใหม่ "1 อำเภอ 1 ไอทีแมน" ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการได้ในปี 2567 โดยจะใช้งบประมาณราวม 200 ล้านบาท โดยตั้งเป้าให้ได้พนักงานไอทีประมาณ 800 คนกระจายออกไปทั่วประเทศ ซึ่งเป็นวงเงินที่ยอมรับได้ เนื่องจากเป้าหมายของกระทรวงดีอีเอส ต้องการเพิ่มกำลังคนด้านเทคโนโลยีอีกมาก
"กระทรวงดีอีเอสยังไม่มีการกระจายคนไปส่วนภูมิภาค จะมีก็แต่สำนักงานสถิติจังหวัด ต่อไปจะต้องมีสถิติและดิจิทัลจังหวัด และจะให้มีพนักงานไอทีราว 800 คน เพื่อออกไปประสานกับศูนย์เศรษฐกิจและดิจิทัลชุมชน หน่วยงานราชการ และออกไปให้ความรู้ประชาชนในระดับอำเภอ" ประเสริฐ กล่าว