สอจร. สัญจร เดินทางลงพื้นที่ศึกษาดูงานการบริหารจัดการความปลอดภัยทางถนนในพื้นที่ต้นแบบ ณ ตำบลพลับพลาไชย จ.สุพรรณบุรี ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง ในการขับเคลื่อนความปลอดภัยทางถนนโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน
พีระศักดิ์ มาตรศรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลพลับพลาไชย เปิดเผยว่า การทำงานของตำบลพลับพลาไชย ซึ่งเป็นท้องถิ่นค่อนข้างใหญ่ มีสมาชิก 14 หมู่บ้าน ก่อนหน้านี้เกิดปัญหาอุบัติเหตุทางถนนบ่อยครั้ง เลยหยิบยกเป็นประเด็นทำงานเพื่อดูแลชีวิต ถ้าตายเลยไม่ต้องเยียวยามาก แต่ถ้าติดเตียงต้องใช้งบประมาณท้องถิ่นช่วยดูแล จึงเริ่มรณรงค์ให้ความรู้ และป้องกัน ตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งได้ สอจร. เข้ามาเป็นพี่เลี้ยงช่วย ขับเคลื่อนการทำงานให้ถูกประเด็น ไม่เสียเวลาและเหนื่อยเปล่า ปัจจุบันแม้จะเปลี่ยนผู้บริหาร แต่การดำเนินนโยบายท้องถิ่น ที่เราเน้นดูแลตั้งแต่เกิดจนตาย และดูแลชีวิตทุกคนให้มีคุณภาพ โดยไม่ต้องรอคำสั่งการจากเบื้องบน แต่เริ่มต้นทำกันเองจากการหาข้อมูล สำรวจจุดเสี่ยงอันตรายในพื้นที่ เป็นการระเบิดจากข้างในด้วยตัวเราเอง จึงทำงานสนุกและจบปัญหาด้วยตัวเอง
ทั้งนี้ สถิติ 3 ปีในพื้นที่พลับพลาไชย มีอัตราเกิด 51% และตาย 49% หรือ 28 ราย ส่วนใหญ่เป็นคนต่างพื้นที่ 24 ราย คนพื้นที่ 4 ราย โดยปัจจัยการเกิดอุบัติเหตุเกี่ยวเนื่องกับ คน 95% ยานพาหนะ 21% และถนนหรือสิ่งแวดล้อม 27% เมื่อเป็นเช่นนี้จึงคิดว่าจะทำอย่างไรเพื่อลดการตาย เพราะคนเกิดน้อยลง การพัฒนาคุณภาพชีวิตก็ทำยากขึ้น จึงต้องปลูกฝังวินัยจราจร เนื่องจากส่วนใหญ่ตายทางตรงบนถนนสายหลัก เป็นกลุ่มวัยทำงานและวัยรุ่นต่างถิ่น ซึ่งไม่ใช่จุดเสี่ยง ส่วนใหญ่ใช้ความเร็ว ชนท้าย แสงสว่างไม่เพียงพอ พื้นถนนไม่ดี ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าแก้ไข และดำเนินงานต่อในถนนสายรอง ประสานกับท้องถิ่นร่วมกัน ถอดบทเรียน วิเคราะห์ ดำเนินการแก้ไข ประกอบด้วย 1. ตั้งด่านชุมชน “ค้น เคาะ ประกาศเตือน” 2. ติดตั้งระบบกล้อง CCTV 3. สถานศึกษาความปลอดภัยทางถนน และ 4. ศูนย์การเรียนรู้ความปลอดภัยทางถนน
สำหรับแผนการเรียนรู้ความปลอดภัยทางถนนนั้น แบ่งขั้นตอนดำเนินงานออกเป็น 6 ขั้นตอน คือ 1. ผลักดัน “ครู” เป็นนักจัดการความรู้ 2. สร้างการมีส่วนร่วมผ่านกระบวนการจัดการเรียนรู้ 3. กำหนดกติการ่วมกัน 4. จัดการแก้ไขจุดเสี่ยง 5. พัฒนาและสร้างสื่อการสอน และ 6. สรุปบทเรียน โดยเน้นการทำงานที่ต่อเนื่องอย่างเป็นกระบวนการ เพื่อบรรลุเป้าหมายเด็กสวมหมวกกันน็อค 100% มีทักษะเรียนรู้และสำนึกความปลอดภัยทางถนน ในขณะเดียวกันเพิ่มอัตราสวมหมวกในผู้ปกครอง 70% ผลักดันเป็นศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบ โดยมีครูเป็นทีมนักจัดการเรียนรู้ นำไปสู่กลไกการมีส่วนร่วมของท้องถิ่น และเกิดการปรับสภาพแวดล้อมแห้ไขจุดเสี่ยงในพื้นที่
ส่วนเวที สอจร.สัญจรภาคกลาง จ.สุพรรณบุรี ในการลงพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลดอนคา นำเสนอผลการดำเนินงานตามมาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน โดย น.ส.วัลลภา สงวนทรัพย์ ผู้อำนวยการกองการศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม อบต.ดอนคา เปิดเผยว่า หลังจากได้เข้าร่วมดูงานด้านป้องกันแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุในศูนย์เด็กเล็กผ่านการเรียนการสอน จึงได้นำแนวคิดมาประชุมร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งผู้บริหารส่วนท้องถิ่น และผู้นำชุมชน จนได้ข้อสรุปในการทำงาน และการวางมาตรการองค์กร โดยเฉพาะกรอบแนวคิดศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบความปลอดภัยทางถนน ซึ่งในพื้นที่มีศูนย์เด็กเล็ก 4 แห่ง เริ่มต้นการขับเคลื่อนด้วยการสร้างความเข้าใจกับผู้ปกครอง ผู้บริหารและผู้นำท้องถิ่น พัฒนาศักยภาพครู เก็บข้อมูลจุดเสี่ยงและพฤติกรรมเสี่ยง วิเคราะห์ข้อมูลและออกแบบแผนปฏิบัติการ จากนั้นขับเคลื่อนศูนย์พัฒนาเด็กเล็กปลอดภัย จากนั้นสรุปบทเรียนและผลการดำเนินงาน จากกระบวนการทั้งหมด ทำให้เกิดศูนย์เด็กเล็กต้นแบบ ศูนย์เรียนรู้เรื่องความปลอดภัยทางถนน โดยนำงบประมาณส่วนหนึ่งตัดมาจากงบประมาณรายหัวของเด็กมาทำสื่อการสอน โดยมีทั้งผลิตเองและจัดซื้อบางส่วน
จากนั้นครูจัดกระบวนการเรียนรู้และสื่อการสอนเรื่องความปลอดภัยทางถนน เกิดการปรับสภาพแวดล้อมและการแก้ไขจุดเสี่ยง และที่สำคัญกำหนดมาตรการการสวมหมวกกันน็อกร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งผลรับที่ได้ คือ 1.เกิดจุดรับส่งเด็กเล็กภายในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 2.ผู้ปกครองและเด็กเล็กสวมใส่หมวกนิรภัย 100% ขณะขี่รถจักรยานยนต์ 3.ผู้ปกครองและเด็กเล็กคาดเข็มขัดนิรภัยขณะขับรถยนต์ 100% 4.บุคลากรครู ผู้ปกครองเด็กเล็กและผู้มาติดต่อราชการระมัดระวังในการขับขี่ไม่ใช้ความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด 5.บุคลากรจากหน่วยกู้ชีพ กู้ภัย องค์การบริหารส่วนตำบลส่วนตำบลดอนคาอำนวยความสะดวกให้ผู้ปกครองขณะรับส่งบุตรหลาน