ไม่พบผลการค้นหา
‘ส.ส. ชายแดนใต้’ ค้านสุดตัว ครม.สั่งชะลอ ‘พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมาน-อุ้มหาย’ ถาม สตช. อ้างไม่มีงบจัดซื้อกล้องติดตัว ได้ขอเบิกงบกลางหรือยัง ย้ำองค์การสิทธิฯ ภาคประชาสังคมภาคใต้ได้อานิสงส์จาก พ.ร.บ.นี้

วันที่ 15 ก.พ. ที่อาคารรัฐสภา อาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ส.ส.ยะลา พรรคพลังประชารัฐ พร้อมด้วย กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส.ราธิวาส พรรคประชาชาติ แถลงข่าวคัดค้านมติ ครม. ให้ขยายเวลาการบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย มาตรา 22-25 ไปถึง 1 ต.ค. 2566 จากเดิมทื่จะบังคับใช้ภายใน 23 ก.พ. 2566

โดย อาดิลัน ระบุว่า ในฐานะที่เป็น ส.ส. ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขอแสดงจุดยืนภายหลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบร่าง พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมานฯ เพื่อขยายกำหนดเวลาในการมีผลใช้บังคับ เฉพาะมาตรา 22-25 ออกไป ซึ่งว่าด้วยการควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบต้องบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องในขณะจับ และควบคุมจนกระทั่งส่งตัวให้พนักงานสอบสวนหรือปล่อยตัวบุคคลดังกล่าว การบันทึกและเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว และการไม่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว กรณีอยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมาย ละเมิดต่อความเป็นส่วนตัว เกิดผลร้ายต่อบุคคล หรือเป็นอุปสรรคต่อการสืบสวนสอบสวน 

โดย พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมานฯ ฉบับนี้ เป็นกฎหมายที่ถือเป็นการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมในรอบหลายสิบปีของประเทศไทย เป็นกฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบจากฝ่ายนิติบัญญัติ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธย โดยได้ประกาศใช้ในวันที่ 25 ต.ค. 2565 กฎหมายระบุไว้ว่า ต้องเริ่มบังคับใช้ภายใน 120 วัน หลังจากประกาศในราชกิจจาบุเบกษา ซึ่งจะครบในวันที่ 22 ก.พ. 66 ที่จะถึงนี้ 

นอกจากนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ได้ยื่นหนังสือต่อกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เพื่อขอให้ขยายเวลาการบังคับใช้ อ้างเหตุว่าต้องใช้งบประมาณในการจัดสรร เป็นจำนวนมากในการจัดซื้อครุภัณฑ์ในการดำเนินการ ทั้งนี้ ภายหลังจากหนังสือได้เผยแพร่ออกสู่สาธารณะทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติหรือภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องจากการบังคับใช้กฎหมาย ตลอดจนประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับอานิสงส์อย่างมากจากกฎหมายฉบับนี้ ได้ออกมาคัดค้านการขยายระยะเวลาบังคับใช้ 

จึงขอสอบถามไปยัง สตช.ว่า ได้มีการของบกลางมาดำเนินการในส่วนนี้หรือไม่ และในฐานะ ส.ส.จังหวัดภาคใต้ ได้ร่วมผลักดันกฎหมายฉบับนี้มาโดยตลอดจึงไม่เห็นด้วยกับการขอขยายระยะเวลาบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ 

ด้าน กมลศักดิ์ กล่าวว่า ได้ติดตามข่าวนี้มาโดยตลอด เพราะมีข่าวว่าจะมีการขยายระยะเวลาบังคับใช้ ทั้งที่กฎหมายฉบับนี้ผ่านการพิจารณาจากฝ่ายนิติบัญญัติจนกระทั่งถูกประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ตนจึงไม่เห็นด้วยกับเหตุผลที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะขอขยายระยะเวลาการบังคับใช้กฎหมาย ในฐานะที่อยู่ใน 3 จังหวัดชายแดน ขอเรียกร้องให้ ครม. ทบทวนเรื่องนี้อีกครั้ง เนื่องจากรัฐบาลสามารถจัดสรรงบกลางเพื่อดำเนินการในส่วนนี้ได้