นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ประจำเดือนเมษายน 2563 อยู่ที่ 32.1 ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 28 เดือนเท่าที่เคยมีการสำรวจมา และลดลงจากเดือนมีนาคม 2563 ที่ 37.5 ซึ่งถือว่าอยู่ในภาวะไม่ปกติค่อนข้างสูง โดยเฉพาะภาคใต้ที่ค่าดัชนีต่ำกว่า 30
โดยหากจากตัวเลขดัชนีข้างต้น นับการปรับตัวลดลงทุกรายการทั้ง เศรษฐกิจโดยรวม การบริโภค การลงทุน การท่องเที่ยว ภาคการเกษตร อุตสาหกรรม การค้า บริการ และการจ้างงาน โดยเฉพาะดัชนีในภาคใต้ ซึ่งสาเหตุสำคัญที่ดัชนียังคงลดลดต่อเนื่องเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังมีผู้ติดเชื้อต่อเนื่อง และการใช้มาตรการล็อกดาวน์ การประกาศพรก.ฉุกเฉิน ภัยแล้ง และการว่างงานจากการปิดธุรกิจ
ทั้งนี้ภาคเอกชนได้มีข้อเสนอแนวทางการดำเนินการในการแก้ไขปัญหา โดยขอให้รัฐบาลเร่งมาตรการผ่อนปรนการเปิดกิจการ และมาตรการล็อกดาวน์ เพื่อให้ธุรกิจไม่เกิดการชะงักไปมากกว่านี้ พร้อมเร่งมาตรการช่วยเหลือเยียวประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างคลอบคลุมที่สุดเพื่อให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ รวมถึงออกมาตรการรองรับธุรกิจที่ได้รับความเดือดร้อนจนต้องปิดกิจการชั่วคราวเพื่อชะลอการจ้างงาน และดำเนินแผนการจัดสรรดูแลแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร จากสถานการณ์ภัยแล้ง
อย่างไรก็ตาม นายธนวรรธน์ ระบุว่า การผ่อนปรนให้กิจธุรกิจสามารถกลับมาดำเนินการได้บางส่วนตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมาจะสามารถทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจประมาณ 6-9 หมื่นล้านบาท และหากมีการผ่อนปรนกิจการเพิ่มเติมในช่วงกลางเดือนนี้ จะสามารถทำให้เกิดเงินหมุนเวียนได้เพิ่มเป็น 1.3-1.5 แสนล้านบาท และหากรัฐบาลสามารถอัดฉีดเม็ดเงินลงในระบบไม่น้อยกว่า 2 แสนล้านบาทไม่เกินไตรมาสที่ 3/2563 รวมถึงการท่องเที่ยวเริ่มกลับมา ภายใต้ไม่มีการกลับมาระบาดของโควิด-19 รอบที่ 2 เชื่อว่าจะเศรษฐกิจจะค่อยๆฟื้นตัวขึ้นได้ในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งอาจจะทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 2563 ติดลบเพียงร้อยละ 3.5 – 5 จากที่จะติดลบสูงถึงร้อยละ 8