นับตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้สวนสัตว์กว่า 60 แห่งในอินโดนีเซีย ซึ่งมีสัตว์อยู่ประมาณ 70,000 ตัว ต้องปิดทำการชั่วคราว ขณะที่สวนสัตว์หลายแห่งกล่าวว่า พวกเขามีอาหารเพียงพอที่จะเลี้ยงสัตว์ทั้งหมดได้ถึงกลางเดือน พ.ค.นี้เท่านั้น
ซุลฮาน ไซยาฟี โฆษกของสมาคมสวนสัตว์อินโดนีเซียกล่าวว่า "รายได้ของสวนสัตว์ส่วนใหญ่ในอินโดนีเซียนั้น ขึ้นอยู่กับการขายตั๋วเข้าชม การปิดสวนสัตว์ทำให้ทุกอย่างได้รับผลกระทบและจำเป็นต้องช่วยเหลือเพื่อให้สัตว์เหล่านี้อยู่รอด"
เมื่อช่วงกลางเดือนที่ผ่านมาผู้อำนวยการสวนสัตว์ในเยอรมนี กล่าวว่า หากสถานการณ์เลวร้ายลง อาจจะจำเป็นต้องฆ่าสัตว์บางตัว เพื่อเป็นอาหารให้แก่สัตว์อื่น เพื่อให้สวนสัตว์ยังอยู่รอดและเป็นการลดค่าใช้จ่าย ขณะที่ทางสมาคมสวนสัตว์ของอินโดนีเซียออกมากล่าวว่า แนวคิดนี้จะเป็นสิ่งสุดท้ายที่ทางสวนสัตว์อินโดนีเซียจะทำหากจำเป็น
"เราสามารถฆ่าสัตว์ป่าที่ไม่ใช่สัตว์ประจำถิ่นได้ แต่สำหรับสัตว์ประจำถิ่นอย่างเสือสุมาตรานั้น ทางสวนสัตว์ต้องรักษาชีวิตของพวกมันไว้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเศร้า แต่ตอนนี้ทางสวนสัตว์อยู่ในจุดต้องต้องคิดคำนึงถึงลำดับความสำคัญต่างๆ ของสัตว์" ไซยาฟีกล่าว
ปัจจุบันสัตว์จำพวกกินพืชและยีราฟ เจ้าหน้าที่สวนสัตว์จะป้อนหญ้าและพืชอื่นๆ เพื่อเป็นอาหารของพวกมัน ขณะที่สัตว์จำพวกกินเนื้ออย่างเสือที่ส่วนใหญ่กินเนื้อแดงนั้นถูกเปลี่ยนให้กินสัตว์จำพวกสัตว์ปีกอย่างไก่หรือเป็ดแทนเพื่อลดค่าใช้จ่าย
ที่ผ่านมาสวนสัตว์ในอินโดนีเซียพึ่งพารายได้จากผู้เข้าชมสวนสัตว์ที่มีประมาณ 50 ล้านคนต่อปีรวมไปถึงการบริจาคจากสาธารณะและเงินสนับสนุนช่วยเหลือจากรัฐบาล
ทั้งนี้ไม่เพียงแต่สวนสัตว์ในอินโดนีเซียเท่านั้นที่ประสบกับปัญหาในเรื่องรายได้และการเลี้ยงดูสัตว์เป็นจำนวนมากในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก สวนสัตว์ในเฟรสโน่ สหรัฐฯ ก็ได้รับเงินกู้รัฐบาล 1,700,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายๆ ภายในสวนสัตว์หลังจากที่ขาดรายได้จากการปิดทำการในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส
ข่าวที่เกี่ยวข้อง