ไม่พบผลการค้นหา
รายงานล่าสุดชี้ ผ่านไป 9 เดือนจำนวนดีปเฟกเพิ่มเป็น 2 เท่า และดีปเฟกส่วนใหญ่เป็นการนำหน้าตาของคนดังมาทาบกับวิดีโอโป๊ โดยเหยื่อส่วนใหญ่เป็นดาราตะวันตกและนักร้องเกาหลีใต้

DeepTrace เป็นบริษัทด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของเนเธอแลนด์ ผู้ผลิตเครื่องมือตรวจจับสื่อปลอมที่ถูกสร้างขึ้นมาหรือตัดต่อ รวมถึงดีปเฟก ซึ่งเป็นวิดีโอหรือคลิปเสียงที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ทาบภาพและเสียงของคนดังเข้าไปกับวิดีโอที่สร้างขึ้น เพื่อให้เหมือนคนนั้นพูดถึงกระทำอะไรบางอย่าง Deeptrace เพิ่งออกรายงานที่ระบุว่า ปัจจุบันมีดีปเฟกอยู่อย่างน้อย 14,678 ชิ้น และสามารถดึงดูดคนดูได้มากกว่า 134 ล้านวิว

แม้จำนวนดีปเฟกจะยังถือว่าไม่มากนัก แต่อัตราการเติบโตที่รวดเร็วก็ถือเป็นเรื่องน่ากังวล โดยช่วง 9 เดือนแรกของปี 2019 จำนวนดีปเฟกเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจากที่มีดีปเฟกอยู่ 7,964 ชิ้น เมื่อธ.ค. 2018 แต่ดีปเฟกจำนวนมากไม่ได้เป็นการโจมตีทางการเมืองหรือการเลือกตั้งอย่างที่หลายฝ่ายกังวล แต่กลับเป็นการโจมตีผู้หญิงโดยเฉพาะ แต่ไม่มีใครพูดถึง

รายงานฉบับนี้ระบุว่า ดีปเฟกถึงร้อยละ 96 เป็นหนังโป๊ที่นำภาพดารามาทาบทัพเข้าไปในหนังโป๊ โดยผู้เขียนรายงานระบุว่า หนังโป๊ดีปเฟกเป็นปรากฏการณ์ที่มุ่งเป้าโจมตีและทำลายผู้หญิงโดยเฉพาะ เพราะหนังโป๊ดีปเฟกทั้งหมดเป็นการนำภาพผู้หญิงมาใช้ หลายคนเป็นเหยื่อของ revenge porn หรือหนังโป๊ดีปเฟกทำเพื่อแก้แค้นแฟนเก่า หลายคนเป็นนักแสดงผู้หญิงชาวอเมริกันและอังกฤษรองลงมาเป็นดาราเคป๊อปผู้หญิง แต่ดีปเฟกส่วนใหญ่ถูกผลิตขึ้นในจีนและเกาหลีใต้ ขณะที่เหยื่อดีปเฟกที่เหลือที่ไม่ใช่หนังโป๊ เป็นผู้ชายอยู่ร้อยละ 61

ผู้เขียนรายงานของ Deeptrace อธิบายว่า ปัจจุบันมีธุรกิจที่รับทำดีปเฟกขายเพิ่มขึ้น มีบริษัทหนึ่งที่ขอให้ผู้ว่าจ้างนำภาพของเหยื่อจำนวน 250 ภาพโดยใช้เวลา 2 วันในการประมวลภาพทั้งหมดเพื่อสร้างดีปเฟก โดยราคาก็จะแตกต่างกันออกไป โดยราคาถูกที่สุดอยู่ที่ 2.99 ดอลลาร์หรือประมาณ 90 บาทของดีปเฟก 1 ชิ้นเท่านั้น

อีกเทรนด์หนึ่งของดีปเฟกเรียกว่า “ดีปนู้ด” (DeepNude) คือการนำภาพผู้หญิงที่ใช้เสื้อผ้าปกติมาสร้างเป็นภาพสมจริงว่าเธอจะรูบร่างเป็นอย่างไรเมื่อไม่สวมใส่เสื้อผ้า และแอปนี้ก็ยังสามารถทำเงินได้ เพราะมีการขายแอปอยู่ที่ 50 ดอลลาร์ หรือกว่า 1,500 บาท โดยเทคโนโลยีนี้ถูกสร้างขึ้นมาใช้กับผู้หญิงโดยเฉพาะ ไม่สามารถนำภาพร่างกายผู้ชายมาทำดีปนู้ดได้

ผู้เขียนรายงานยังมองว่า ดีปเฟกได้กลายเป็นเครื่องมือของเกรียนออนไลน์ สายลับ และนักต้มตุ๋น เพราะที่ผ่านมา ภาพตัดต่อหรือภาพปลอมที่ใช้บนโซเชียลมีเดียมักสามารถตรวจสอบร่องรอยกลับไปยังภาพตั้งต้นได้ แต่ปัจจุบันนักต้มตุ๋นหลอกลวงสามารถสร้างภาพคนที่ไม่มีอยู่จริงขึ้นมาได้โดยไม่สามารถค้นหาร่องรอยได้ Deeptrace พบ “ปฏิบัติการสอดแนมต่างชาติ” โดยการใช้โปรไฟล์ในเว็บไซต์ Linkedin แสร้งทำเป็นนักวิชาการอเมริกัน และมีโปรไฟล์ทวิตเตอร์บัญชีที่แสร้งว่าเป็นผู้สื่อข่าวสายธุรกิจ พยายามจะล่อลวงให้คนร่วมลงทุนในบริษัทเทสลา

ปัญหาดีปเฟกได้รับความสนใจจากฝ่ายนิติบัญญัติอยู่พอสมควร โดยแกวิน นิวซัม ระบุว่าการมลรัฐแคลิฟอร์เนียเพิ่งลงนามรับรองกฎหมาย 2 ฉบับ ได้แก่ กฎหมายห้ามสร้างหรือเผยแพร่ดีปเฟกชั่วร้ายของนักการเมืองในช่วง 2 เดือนก่อนการเลือกตั้ง แต่สหภาพเสรีภาพพลเมืองอเมริกัน (ACLU) และมูลนิธิพรมแดนอิเล็กทรอนิกส์ออกมาค้านว่ากฎหมายนี้เขียนออกมากว้างเกินไป และจะทำลายการพูดคุยทางการเมืองไป ส่วนกฎหมายอีกฉบับอนุญาตให้คนที่ถูกนำภาพไปใช้ในหนังโป๊ดีปเฟกโดยไม่ได้รับอนุญาตสามารถฟ้องร้องได้

อย่างไรก็ตาม Deeptrace มองว่า ภารกิจขององค์กรต่างๆ และภาครัฐก็คือการป้องกันปัจเจกบุคคลและองค์กรจากผลกระทบที่เกิดจากดีปเฟก ผู้กำหนดนโยบายทั้งหลายจะต้องคิดวิธีรับมือเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างรวดเร็วเช่นนี้ ต้องเร่งพัฒนาเครื่องมือตรวจจับดีปเฟก และสร้างความตระหนักให้กับสาธารณะ

 ที่มา : Deutche Welle, MIT Technology Review, BBC