ไม่พบผลการค้นหา
ผอ.ไอเอ็มเอฟ ออกแถลงมาตรการช่วยเหลือประเทศสมาชิก ทั้งตั้งเงินกู้-ผ่อนผันหนี้เก่า แต่ 'เวเนซุเอลา' ถูกปฏิเสธคำร้อง เป็นประเทศแรก

เมื่อวันที่ 16 มี.ค. ที่ผ่านมา กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) แถลงความช่วยเหลือเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกด้วยการตั้งวงเงินการยืมสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 32.45 ล้านล้านบาท ท่ามกลางการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ โดยเป้าหมายหลักของเม็ดเงินนี้ เพื่อให้ประเทศสมาชิกสามารถมีเครื่องมือที่ยืดหยุ่นและรวดเร็วในเผชิญหน้ากับเหตุฉุกเฉินต่างๆ

ไอเอ็มเอฟ ชี้แจงว่า การแบ่งสรรเม็ดเงินราว 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1.62 ล้านล้านบาทจะถูกแบ่งเพื่อดูแลประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศที่กำลังพัฒนา ขณะที่อีก 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 324,000 ล้านบาท จะเป็นงบสำหรับประเทศสมาชิกที่มีรายได้ต่ำพร้อมปราศจากอัตราดอกเบี้ย

‘คริสตาลินา จอร์จีวา’ ผู้อำนวยการของไอเอ็มเอฟชี้แจงว่า นอกจากเม็ดเงินดังกล่าวที่เตรียมขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือประเทศสมากชิก กองทุนเพื่อการยับยั้งและช่วยเหลือจากภัยพิบัติ (ซีซีอาร์ที) ก็จะยื่นมือเข้ามาช่วยประเทศที่ยากจนที่สุดด้วยการผ่อนคลายหนี้สินโดยทันที ซึ่งจะทำให้รัฐบาลของประเทศนั้นมีทรัพยากรเพียงพอต่อการใช้จ่ายด้านสาธารณสุข การยับยั้งภัยพิบัติ และบรรเทาทุกข์

ล่าสุด กองทุนดังกล่าวมีเม็ดเงินแล้วประมาณ 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 12,980 ล้านบาท โดยคริสตาลินา ชี้ว่า สำหรับกองทุนช่วยเหลือประเทศยากจน เธอตั้งเป้าระดมทุนให้ถึง 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 32,450 ล้านบาท

ทั้งนี้ รัฐบาลต้องได้รับการยอมรับ

ตามหนังสือชี้แจงนโยบายของไอเอ็มเอฟ ปัจจุบันมีประเทศสมาชิกเข้ายื่นคำร้องรับความช่วยแล้วกว่า 20 ประเทศ อย่างไรก็ตาม เมื่อ 18 มี.ค. ที่ผ่านมา สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ไอเอ็มเอฟ กลับปฏิเสธการให้ความช่วยเหลือประเทศเวเนซุเอลา

หลังจาก ‘นิโกลัส มาดูโร’ ประธานาธิบดีของเวเนซุเอลา ยื่นคำร้องของกู้เงินเป็นจำนวน 5,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 162,250 ล้านบาท ไอเอ็มเอฟ ก็มีหนังสือปฏิเสธออกมาโดยชี้แจงว่า “กองทุนไม่อยู่ในสถานะที่จะพิจารณาคำร้องนี้ได้” เนื่องจากรัฐบาลของผู้ยื่นคำร้องไม่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ

ในถ้อยแถลงของไอเอ็มเอฟ กล่าวเพิ่มว่า “อย่างที่มีการพูดกันก่อนหน้านี้ว่า ความร่วมมือของไอเอ็มเอฟกับประเทศสมาชิกขึ้นอยู่กับการยอมรับของสมาคมโลกต่อรัฐบาลทางการของประเทศนั้นๆ เมื่อมีการพูดคุยกันถึงสถานภาพการเป็นสมาชิก ยังไม่มีความชัดเจนในสังคมนานาชาติ ณ เวลานี้”

รัฐบาลของเวเนซุเอลาในปัจจุบันมี ‘มาดูโร’ นั่งเป็นประธานาธิบดีที่ไม่ได้รับการยอมรับจากประเทศในฝั่งตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของไอเอ็มเอฟ แต่ที่ผ่านมา ‘มาดูโร’ ยังคงมีอำนาจได้จากการสนับสนุนของจีนและรัสเซีย

ปัจจุบันตัวเลขผู้ติดเชื้อในเวเนซุเอลา ตามข้อมูล ณ วันที่ 18 มี.ค. มีเกิน 30 รายแล้ว และรัฐบาลได้ออกมาสั่งการให้มีการกักตัวเองแล้วทั่วประเทศ 

อ้างอิง; IMF, Telegraph