ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ตามที่มีกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้จัดกิจกรรม 'ธรรมศาสตร์จะไม่ทน' ขึ้นภายในบริเวณลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยเฉพาะการปราศรัยและการฉายภาพโปรเจ็กเตอร์ขนาดยักษ์บนเวที ซึ่งเป็นรูปผู้ต้องหาหนีคดี ม.112 ซึ่งลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศ ที่มีข้อความและตราสัญลักษณ์เชิงล้อเลียนและหมิ่นสถาบันฯ รวมทั้งการอ่านแถลงการณ์และแจกจ่ายประกาศของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม 10 ข้อที่มุ่งให้ร้ายโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยอย่างเปิดเผยนั้น
พฤติการณ์และการกระทำของกลุ่มดังกล่าว เข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.112 และ ม.116 โดยชัดแจ้ง ซึ่งถือว่าเป็นความผิดอาญาต่อแผ่นดิน ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของสังคม เพราะเป็นการก้าวล่วงศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้งชาติ ตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 ม.6 บัญญัติไว้
แต่กลับปรากฏว่ามีแถลงการณ์ของกลุ่ม 105 อาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ออกมาในลักษณะปกป้องกลุ่มนักศึกษาดังกล่าวโดยอ้างว่า 10 ข้อเสนอเหล่านั้นอยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะตาม ม.34 และตามครรลองของกฎหมาย บนหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยและข้อเสนอทั้ง 10 ประการของผู้ชุมนุมมิได้เป็นการละเมิดกฎหมายอาญาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด
คำแถลงการณ์ดังกล่าว ถ้า 105 อาจารย์จะนำไปสอนนักศึกษาในชั้นเรียนก็คงไม่มีใครตำหนิหรือก้าวล่วงความคิดเหล่านั้นได้ หากแต่เมื่อนำมาเผยแพร่ต่อสื่อสารมวลชนย่อมทำให้สาธารณะรู้จักตัวตนของเหล่าคณาจารย์เหล่านี้ได้อย่างถ่องแท้ว่าคิดเห็นอย่างไรกับสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย ที่อาจหาญมาแก้ตัวให้เหล่านักศึกษาที่ละเมิดกฎหมายเยี่ยงนี้
การกระทำของเหล่านักศึกษาที่แสดงออกเช่นนี้ อดให้นึกถึงหนังสือเรียนเด็กประถมในสมัยก่อนเรื่อง 'แม่ปูกับลูกปู' ได้เป็นอย่างดี และชี้ให้เห็นว่าสถาบันทางวิชาการซึ่งมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการแสวงหาทางออกเพื่อความก้าวหน้าของสังคมไทยนั้นล้มเหลวโดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะการจัดระบบถกเถียงถกแถลงในชั้นเรียน จนทำให้นักศึกษาต้องออกมาแสดงออกในที่สาธารณะจนในที่สุดจะต้องถูกดำเนินคดีในความผิดอาญาต่อแผ่นดิน หลายข้อหา หลายกระทง
ส่วนคณาจารย์เหล่านี้หาได้ทุกข์ร้อนมาร่วมติดคุกติดตะรางด้วยไม่ แต่กลับนั่งรับบำเหน็จบำนาญ รับค่าตอบแทนทางวิชาการไปวันๆ เท่านั้น หรือบางรายถ้าขยันหน่อยก็จะนำข้อขัดแย้งดังกล่าวนำไปเขียนวิจัยขอตำแหน่งทางวิชาการเพิ่ม เพื่อขอค่าตอบแทนจากภาษีของประชาชนให้มากขึ้น
จงจำไว้ว่า รัฐธรรมนูญทุกยุคทุกสมัยมักบัญญัติถ้อยคำเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์มาโดยตลอดว่า '"องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้" ถ้าอ่านแค่นี้ยังไม่เข้าใจก็ไม่ควรให้ใครมาเรียกตนว่าอาจารย์อีกต่อไป แต่ควรจะให้เรียกว่า 'อาจม' จึงจะถูกกับสภาวะวิสัยในขณะนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง