ไม่พบผลการค้นหา
สหประชาชาติเตือนรัฐบาลทั่วโลกเตรียมแผนรับมือ เพราะคนนับล้านจะได้รับผลกระทบทางจิตใจ เหตุเพราะต้องเผชิญความตาย ความเจ็บป่วย การอยู่โดดเดี่ยว ความยากจน และความเครียดที่เป็นผลจากโรคโควิด-19

อันตอนิอู กูร์แตร์รีช เลขาธิการใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UN) เผยแพร่วิดีโอแถลงการณ์ เมื่อ 14 พ.ค. เรียกร้องให้รัฐบาลทั่วโลกตระหนักและต้องวางแผนรับมือวิกฤตสุขภาพจิตที่เป็นผลข้างเคียงจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

เลขาธิการใหญ่ UN ระบุว่า รัฐบาลแต่ละประเทศต้องเตรียมความพร้อมให้ดี เพราะต้องดูแลกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบทางจิตใจ ได้แก่ บุคลากรทางการแพทย์ ผู้สูงอายุ เด็ก วัยรุ่น และผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยทางจิตใจอยู่ก่อนแล้ว

คู่มือของยูเอ็นระบุว่า การเจ็บป่วยทางจิตทำให้ทั่วโลกสูญเสียทางเศรษฐกิจปีละกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 31 ล้านล้านบาท) เพราะผู้เจ็บป่วยอาจสูญเสียประสิทธิภาพในการทำงาน แต่การรักษาบำบัดอาการ ยังเผชิญกับการตีตราและเลือกปฏิบัติเพราะความไม่เข้าใจของสังคม 

สถิติที่ยูเอ็นรวบรวมบ่งชี้ด้วยว่า ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภาวะซึมเศร้าและอาการวิตกกังวล รวมถึงความเจ็บป่วยทางใจอื่นๆ ส่งผลกระทบต่อคนประมาณ 264 ล้านราย นำไปสู่การฆ่าตัวตายของคนในช่วงวัยรุ่นและวัยหนุ่มสาว อายุตั้งแต่ 15-29 ปี

https://global.unitednations.entermediadb.net/assets/mediadb/services/module/asset/downloads/preset/Libraries/Production+Library/09-09-2019-WHO-STATS-GRAPHIC.jpg/image1024x768.jpg
  • ข้อมูลองค์การอนามัยโลกระบุว่า มีผู้ฆ่าตัวตายทั่วโลกเฉลี่ย 1 คนใน 40 วินาที

ขณะที่ Reuters รายงานอ้างอิง 'เดฟรา เคสเทล' ผู้อำนวยการด้านสุขภาพจิตขององค์การอนามัยโลก (WHO ซึ่งอธิบายเพิ่มเติมว่า ภาวะวิกฤตโควิด-19 จะทำให้คนจำนวนมากรู้สึกโดดเดี่ยว เพราะนอกจากจะต้องกักตัวเองแล้ว ก็ยังต้องเผชิญความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ ทำให้เกิดความหวาดกลัวด้านต่างๆ ล้วนส่งผลต่อสภาวะจิตใจของคนจำนวนมาก

ทั้งนี้ กลุ่มเด็กและวัยรุ่นที่อยู่ในช่วงติดเพื่อน กลับต้องถูกแยกจากกลุ่มคนสนิทในช่วงกักตัว กลุ่มผู้สูงวัยก็ต้องเผชิญกับความตายและความเจ็บป่วยของคนรอบตัว ซึ่งเป็นผลจากโรคโควิด-19 และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขก็ต้องรับภาระหนักจนเหนื่อยล้า

ส่วนคนวัยทำงานอาจได้รับผลกระทบมากที่สุด หลายคนตกงาน หรือเสี่ยงตกงาน เพราะมีผู้คาดการณ์ไว้หลายรายว่า เศรษฐกิจจะตกต่ำทั่วโลกไปอีกนาน และต้องเผชิญกับการปลดคนอีกหลายระลอก ส่งผลให้คนเครียดและวิตกกังวลกับความไม่แน่นอนในชีวิต ปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลต่อสภาพจิตใจของคนจำนวนมากในสังคม


สัญญาณเตือนสังคมป่วยไข้-ต้องรับมืออย่างไร?
AFP-แพทย์ในโรงพยาบาลอิตาลีสู้โควิด-ไวรัสโคโรนา-COVID-ชุดป้องกัน อุปกรณ์การแพทย์-หมอ-โรงพยาบาล.jpg

รายงาน UN อ้างอิงข้อมูลจากคณะกรรมการสุขภาพจิตโลกและการพัฒนาที่ยั่งยืน เตือนว่า ในสภาวะวิกฤตโรคระบาดและเศรษฐกิจตกต่ำ คนที่เคยรับมือกับความเครียดหรือปัญหาในชีวิตเรื่องต่างๆ ได้ดี มีแนวโน้มว่าจะรับมือกับปัญหาได้แย่ลง หรือรับมือได้ไม่ดีเท่าเดิม เพราะมีปัญหาเรื่องต่างๆ ประดังเข้ามาคราวเดียว ทำให้เกิดความเครียดสะสม

ส่วนสัญญาณบ่งชี้ที่สำคัญว่าคนในสังคมเครียดเพิ่มขึ้น ได้แก่ อัตราการบริโภคแอลกอฮอล์ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งการบริโภคแอลกอฮอล์มีผลเกี่ยวโยงสถิติการใช้ความรุนแรงในครอบครัวที่เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย

อีกสัญญาณหนึ่ง คือ สถิติผู้ป่วยที่เกี่ยวเนื่องกับความเครียดหรืออาการทางจิตใจเพิ่มสูงขึ้น ประเมินจากการขอคำปรึกษาหรือยารักษาอาการปวดหัว เบื่ออาหาร ตาพร่า กระสับกระส่าย เหม่อลอย ขาดสติ และโรคหลอดเลือดสมอง (สโตรก)

สิ่งจำเป็นเร่งด่วนที่รัฐบาลทั่วโลกต้องเตรียมพร้อมรับมือปัญหาสุขภาพจิต คือ การสนับสนุนให้มีสวัสดิการด้านสุขภาพ หรือระบบประกันสุขภาพ ที่สามารถคุ้มครองประชากรทุกกลุ่มได้ทันเวลาและเพียงพอต่อความต้องการ

อย่างไรก็ตาม หลายประเทศกำลังประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากรด้านนี้ รัฐบาลจึงจำเป็นจะต้องหาทางพัฒนาระบบให้ดีขึ้นกว่าเดิม และกลุ่มคนที่ต้องช่วยเหลือเป็นอันดับแรก ควรมุ่งเน้นที่กลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางสังคมและผู้ที่ตกอยู่ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: