ไม่พบผลการค้นหา
กรมชลประทาน เร่งสร้างความเข้าใจแก่เกษตรกรของดทำนาปรัง เพื่อให้มีปริมาณน้ำไว้ใช้อย่างเพียงพอจนกว่าจะเข้าฤดูฝน

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า จากการที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ปีนี้จะมีอากาศร้อนมาก ร้อนนาน รวมทั้งอาจเกิดขึ้นหลายพื้นที่และเป็นเวลายาวนานมากขึ้น ดังนั้น จึงเร่งรัดให้ทุกโครงการชลประทานจังหวัดจัดทำข้อมูลสำรวจและวางแผนบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำต้นทุนที่กรมชลประทานรับผิดชอบดูแล รวมถึงแหล่งน้ำธรรมชาติในเขตชลประทาน 

ทั้งนี้ ขอให้ประเมินว่าพื้นที่ดังกล่าวมีปริมาณน้ำเพียงพอหรือไม่ และพื้นที่ใดมีความอ่อนไหวหรือเสี่ยงต่อปัญหาการขาดแคลนน้ำ ส่วนพื้นที่นอกเขตชลประทานให้บูรณาการทำกับกรมพัฒนาที่ดินและเกษตรจังหวัดสำรวจแหล่งน้ำในพื้นที่ว่ามีจุดใดบ้าง เพียงพอต่อความต้องการหรือไม่ ถ้าประเมินแล้วไม่เพียงพอให้พิจารณาว่าอยู่ใกล้แหล่งน้ำหรืออ่างเก็บน้ำใด สามารถสูบหรือชักน้ำมาใช้ได้หรือไม่ หรือสำรวจดูว่ามีบ่อน้ำบาดาลบริเวณใกล้เคียงหรือไม่ หากไม่มีจะต้องใช้รถบรรทุกน้ำขนส่งน้ำไปให้ประชาชนในพื้นที่นั้น ๆ ตามลำดับ

นอกจากนี้ ให้รวบรวมข้อมูลสถานการณ์น้ำจดทำเป็นรายงานสรุปนำเรียนผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดให้รับทราบถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อวางแผนการดำเนินการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดนั้น ๆ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ที่สำคัญได้สั่งการให้ทุกหน่วยงาน โดยเฉพาะกรมชลประทานจัดเตรียมและกระจายเครื่องจักร เครื่องมือเข้าไปประจำไว้ในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งให้ทั่วถึง พร้อมที่จะเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที ได้เน้นย้ำถึงการประชาสัมพันธ์ให้ทุกภาคส่วนร่วมกันประหยัดน้ำ ภาคการเกษตรนั้นรณรงค์ปรับเปลี่ยนการปลูกพืชใช้น้ำน้อยมาอย่างต่อเนื่อง การรายงานสถานการณ์น้ำให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยการสื่อสารผ่านกำนัน ผู้ใหญ่บ้านหรือผู้นำชุมชน เพื่อให้ข่าวสารเรื่องน้ำเผยแพร่ไปยังประชาชนอย่างทั่วถึง อีกทั้งยังได้สั่งการให้ทำการสำรวจพื้นที่หรือสำรวจหาตาน้ำที่ยังมีน้ำไหลออกมาพอสมควร เพื่อหาจุดที่เหมาะสมสร้างฝายเก็บกักน้ำไว้ใช้ตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9

นายทองเปลว กล่าวว่า กรมชลประทานได้วางแผนการใช้น้ำฤดูแล้งตั้งแต่ 1 พ.ย.2561 โดยทั้งประเทศมีปริมาณน้ำใช้การได้จากอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และแหล่งน้ำอื่น ๆ ทั้งประเทศรวมกันขณะนั้นประมาณ 39,570 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) วางแผนจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 2561/2562 รวมกันประมาณ 23,100 ล้าน ลบ.ม. สำหรับสถานการณ์น้ำปัจจุบันมีปริมาณน้ำใช้การได้คงเหลือประมาณ 27,492 ล้าน ลบ.ม. จัดสรรน้ำฤดูแล้งประมาณ 15,639 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 68 ของแผนฯ ทั้งประเทศ ยืนยันว่าเพียงพอที่จะสนับสนุนการใช้น้ำ เพื่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศน์ การเกษตร(พืชใช้น้ำน้อย) และอุตสาหกรรม ในเขตชลประทานประมาณ 30 ล้านไร่อย่างแน่นอน

สำหรับในพื้นที่ชลประทานลุ่มน้ำเจ้าพระยาใช้น้ำไปแล้วประมาณ 6,183 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 77 ของแผนฯ (แผนฤดูแล้งลุ่มน้ำเจ้าพระยาปี 61/62 กำหนดปริมาณการจัดสรรน้ำไว้ 8,000 ล้าน ลบ.ม. เริ่มตั้งแต่ 1 พ.ย. 2561 – เม.ย. 2562) คงเหลือปริมาณน้ำที่ใช้การได้ตามแผนฯ ประมาณ 1,817 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้ ผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2561/2562 ทั้งประเทศมีการเพาะปลูกไปแล้วประมาณ 8.59 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 82 ของแผนฯ เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้วประมาณ 0.87 ล้านไร่ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการเพาะปลูกข้าวนาปรังไปแล้วประมาณ 5.85 ล้านไร่ จากแผนที่กำหนดไว้ 5.30 ล้านไร่ จึงเกินแผนไปแล้วร้อยละ 10 เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้วประมาณ 0.52 ล้านไร่ ซึ่งได้ให้ชลประทานทุกพื้นที่เร่งทำความเข้าใจกับเกษตรกรขอให้งดทำนาปรัง (นารอบที่ 3) ต่อเนื่อง เพื่อให้มีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้อย่างเพียงพอจนเข้าสู่ฤดูฝน