ไม่พบผลการค้นหา
คืนที่ 6 ต.ค. 64 สิ่งหนึ่งที่ถูกนำเสนออย่างเด่นชัดคือ ภาพเจ้าหน้าที่ คฝ. ถูกยิงเจาะหมวกนิรภัย อาการสาหัส แต่หลายสิ่งหลายอย่างที่เกิดขึ้นในคืนเดียวกันยังคงเป็นภาพเบลอ ปฏิบัติการจู่โจมอย่างรวดเร็วนี้สื่อมวลชนไม่สามารถเข้าไปรายงานข้อเท็จจริงได้ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าข้อเท็จจริงของผู้ถูกจับกุมจะถูกลบออกจากความทรงจำ

“ก่อนหน้านี้หน้านี้ผมจับกล้องถ่ายภาพเพื่อเก็บงานศิลปะ แต่ตอนนี้ผมมองว่าหากเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาใช้ความรุนแรงกับพี่น้องของผม กับบ้านของผม ทุกคนจะต้องได้รู้ ทุกคนจะต้องได้รับทราบว่าภาครัฐทำอะไรกับดินแดง ภาครัฐปกปิดอะไร ไม่ต้องการให้รู้อะไรในดินแดง ผมจะทำให้ได้รู้” แอดมินนินจา

Live Real_6 ตุลา_Voice_003.jpg

แอดมินนินจา : อะไรที่รัฐปกปิด ผมจะทำให้ทุกคนได้รับรู้

ในคืนวันที่ 6 ต.ค. 2564 แอดมินนินจา สื่อมวลชนอิสระ เข้ามาในพื้นที่ประมาณสองทุ่ม ระหว่างนั้นเขาได้รับข่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจเตรียมเข้าบุกเพื่อเปิดเกมที่แยกดินแดงภายในคืนนั้น เขาจึงเตรียมตัวหามุมที่จะบันทึกภาพเหตุการณ์กับกลุ่มสื่อมวลชนคนอื่นๆ 

แต่ระหว่างกำลังปรึกษากันว่า จะเข้าไปประจำอยู่จุดไหน ก็เกิดเสียงดัง 'ปัง' ขึ้นมา เมื่อหันไปตามทิศทางเสียงพบว่ามีเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน หน่วยเคลื่อนที่เร็ว ขับรถออกมาจากซอยมิตรไมตรี ขณะที่ผู้ชุมนุมกำลังตอบโต้การบุกเข้ามาด้วยการจุดพลุไฟ และประทัด 

แอดมินนินจารีบวิ่งข้ามฝั่งมาที่บริเวณซอยต้นโพธิ์ และเริ่มต้นถ่ายทอดสดเพื่อบันทึกภาพเหตุการณ์ เพียงไม่กี่นาทีเจ้าหน้าที่หน่วยอรินทราชซึ่งเคลื่อนที่เร็วมาจากทางอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ได้บุกเข้าจู่โจมใส่กลุ่มผู้ชุมนุมทันที พร้อมกันสื่อมวลชนที่อยู่ในบริเวณดังกล่าวให้ออกไปรวมตัวกันที่ใต้ทางด่วนแยกดินแดง เมื่อสื่อมวลชนถูกกันออกไปนั้นหมายความว่าหูและตาของประชาชนก็ถูกปิดไปด้วย ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่เขายอมไม่ได้

ระหว่างที่สื่อกำลังเดินไปรวมกันตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่รัฐ เขาแอบย่องเข้าไปบันทึกภาพในอีกมุมหนึ่งของซอยต้นโพธิ์ สิ่งที่เขาเห็นคือภาพเจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังเข้าจับกุมทุกคนที่อยู่ภายในซอย โดยไม่แยกแยะว่าคนเหล่านั้นเป็นผู้ชุมนุม หรือเป็นคนทั่วไปที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ ไม่นานเขาก็ถูกเจ้าหน้าที่เข้ามาเตือนและไล่ให้ออกไป แต่ด้วยความที่เป็นคนดินแดง ทุกตรอกซอกซอยเขารู้หมด ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่เขาจะแอบเข้าไปดูเหตุการณ์อีกครั้ง

“ถ้าผมยอมไปยืนอยู่กับสื่อมวลชนที่ถูกต้อนไปอยู่ที่แยกดินแดง ก็คงไม่มีใครทำหน้าที่สื่อ หรือบันทึกเรื่องราว สถานการณ์ใดๆ ผมเลยเอารถมอไซค์ขี่วนไปในทางที่มีเฉพาะผู้อยู่อาศัยในพื้นที่เท่านั้นที่จะทราบเส้นทางนี้ แต่พอจอดรถแล้วก็มีเจ้าหน้าที่มาตรวจค้น มาค้นตัว ถามหาเอกสารสื่อมวลชนต่างๆ ตอนนั้นผมมีแค่ปลอกแขนสื่อมวลชน และเป้าหมายของเจ้าหน้าที่เองก็ไม่ได้ต้องการควบคุมตัวสื่อ เขาเลยไม่ได้สนใจอะไรผมมากนัก ผมเลยได้ติดตามเจ้าหน้าที่กลุ่มนั้นไปจนถึงปากซอยเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ”

ระหว่างติดตามเจ้าหน้าที่กลุ่มดังกล่าวไป เขาพยายามทำตัวให้ไม่เป็นจุดสังเกตโดยการแกล้งทำเป็นเอากล้องที่กำลังถ่ายทอดสดเหตุการณ์อยู่มาคล้องคอ จากนั้นไม่นานก็พบว่ามีรถฉุกเฉินมารับตัวเจ้าหน้าที่ คฝ. ที่ได้รับบาดเจ็บออกมา หลังจากนั้นสักระยะหนึ่ง พบว่ามีนายตำรวจท่านหนึ่งเดินออกมาด้วยความไม่พอใจที่รู้ว่าเขาแอบบันทึกภาพเหตุการณ์อยู่ จึงสั่งการให้เจ้าหน้าที่เข้าควบคุมตัว ตรวจค้น พร้อมพาตัวออกไปขึ้นรถห้องขังที่จอดอยู่หน้าแฟลต 1 ซึ่งที่นั่นมีผู้ชุมนุมถูกจับมาอยู่ก่อนแล้ว

“จุดประสงค์ที่ผมเลือกที่จะเข้าไปบันทึกภาพเหตุการณ์ ก็เพราะเราต้องการเข้าไปบันทึกเรื่องราวทุกอย่าง ซึ่งเวลานั้นไม่มีสื่อหลักช่องใดเข้าบันทึกภาพได้ อีกอย่างหนึ่งพื้นที่ตรงนี้มันเป็นบ้านของผม ผมเป็นคนในพื้นที่ ครอบครัวผมเกิดที่นี่ ทุกคนเปรียบเสมือนพี่น้อง แล้วถ้าคนในพื้นที่ไม่ดูแล ไม่เห็นค่า การที่จะไปขอร้องให้ใครมาเห็นค่าก็คงเป็นเรื่องยาก ผมก็แค่อยากดูแลบ้านตัวเอง ปกป้องผู้คน มันจำเป็นที่จะเข้าไปเพื่อสื่อสารให้คนทั่วไปได้รับรู้ว่า เหตุการณ์ในวันนั้นมันเกิดอะไรขึ้นบ้าง การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐที่ถือว่าเป็นผู้ดูแลกฎหมาย ดูแลบ้านเมืองจริงๆ แล้วมันเป็นแบบที่พูดหรือไม่”

ด้วยความหนักแน่นต่อหลักการของการทำหน้าที่สื่อ ทำให้เขาได้เห็นภาพการรุมทำร่างกายผู้คนระหว่างถูกจับกุม โดยที่ไม่มีการถามก่อนว่าเขาเหล่านั้นเกี่ยวข้องกับการชุมนุมของกลุ่มวัยรุ่นหรือไม่

“บางคนแค่ออกมาซื้อข้าวเหนียวไก่ทอด แล้วตอนนั้นมันก็ประมาณ 4 ทุ่ม มันก็ปกติที่คนเราจะออกมาซื้ออะไรกิน เพราะเขามองว่านี่มันคือระแวกบ้านของเขา แต่แค่ออกมาซื้อข้าวเหนียวไก่โดนกระทืบ ออกมาซื้อขนมปังกับนมข้นโดนกระบองตีจนหัวแตกและรุมกระทืบ อีกคนหนึ่งทะเลาะกับแฟน เลิกกับแฟน สั่งเบียร์หน้าร้านชำมานั่งกินด้วยความทุกข์ โดนเตะลงจากม้านั่ง แล้วรุมกระทืบ เอากระบองตี”

Live Real_6 ตุลา_Voice_005.jpg

หากคิดว่าเป็นเรื่องที่หนักหนาสาหัสแล้ว อาจจะต้องยอมรับข้อเท็จจริงอีกหนึ่งอย่างว่า การทำร้ายร่างกายระหว่างการจับกุมเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ในคืนวันปิดกล่องเท่านั้น เพราะหลังจากที่ผู้ถูกจับกุมถูกนำตัวมาขึ้นรถควบคุมตัว เพื่อเตรียมนำตัวไปยังสถานีตำรวจ สิ่งที่พวกเขาไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะเกิดขึ้นกับตัวเองคือ การกระชากหัวลงจากรถมากระทืบซ้ำอีกครั้ง

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นบริเวณช่วงทางลัดถนนพหลโยธิน-วิภาวดีรังสัต ข้างโรงพยาบาลทหารผ่านศึก ในยามวิกาล ไม่มีผู้คนสัญจรผ่านไปมา

เขาเล่าว่า สำหรับตัวเขาเองหลังจากถูกจับกุม ก็ถูกเจ้าหน้าที่นำตัวขึ้นรถควบคุมตัว เมื่อรอจนมีจำนวนผู้ถูกจับเพิ่มขึ้นจำนวนหนึ่ง เจ้าหน้าที่ได้ขับรถออกเพื่อนำตัวพวกเขาไปยังสถานีตำรวจ ทว่าเมื่อรถเคลื่อนไปถึงบริเวณทางยกระดับตัดข้ามถนนพหลโยธินมายังถนนวิภาวดีรังสิต ช่วงระหว่างกรมดุริยางค์ทหารบก กับโรงพยาบาลทหารผ่านศึก รถที่เขานั่งมาได้จอดลง ในบริเวณดังกล่าวที่เจ้าหน้าที่ คฝ. หลายสิบคนประจำการอยู่ เจ้าหน้าที่แจ้งกับพวกเขาที่อยู่บนรถว่า นี่คือการค้นตัวอีกครั้ง แต่กระบวนการนี้เริ่มต้นด้วยการกระชากหัวลงจากรถทีละคน ปลดสัมภาระทุกอย่างออก รวมทั้งกระเป๋าสตางค์ และโทรศัพท์มือถือ ขอรหัสปลดล็อคด้วยกำลัง เพื่อตรวจสอบการโทรเข้าออก รวมทั้งข้อความที่พูดคุยกับคนอื่นๆ พร้อมกับการรุมทำร้ายร่างกาย และพูดจาเหยียดหยามศักดิ์ความเป็นมนุษย์

ส่วนตัวเข้าเองถือว่ายังดีที่มีปลอกแขนสื่อ และตอนลงจากรถเขาพบกับนายตำรวจที่เห็นหน้าคร่าตากันมาก่อน เขาจึงถูกกันตัวไว้เพื่อไม่ให้ถูกทำร้ายร่างกายเหมือนคนอื่นๆ

“พอมาถึงเขาก็เข้ามาถอดสิ่งของต่างๆ ของผมออก แมส รองเท้า หมวก และค้นตัวทุกอย่าง แต่ในการค้นตัวของพวกเขามันเป็นเป็นความบันเทิงมากกว่า ระหว่างที่ค้นตัวมีการดูถูกเหยีดหยาม พูดด้อยค่าการเป็นสื่อมวลชนของผม เช่น ถามหาบัตรนักข่าวต่างๆ ผมก็แจ้งไปว่าองค์กรของผมให้มาเพียงปลอกแขน เขาก็หัวเราะ แล้วก็บอกว่าพรุ่งนี้ไปซื้อปลอกแขนสื่อมวลชนมาใส่ แล้วพรุ่งนี้กูไปเป็นนักข่าววันหนึ่ง”

“สิ่งที่มากไปกว่านั้นคือ เขานำตัวผู้ถูกควบคุมตัวลงมาจากรถทีละคน จิกหัวลงมา ต่อย ตบ เตะ และกระทืบ ทีละคน หลังจากนั้นเอามากองรวมกันตรงกลางถนน และรุมกระทืบพร้อมกันอีกครั้ง ระหว่างที่กระทืบมีการตะโกนบอกว่า มึงรู้ไหมว่าเพื่อนกูโดนอะไร มึงรู้หรือเปล่า มีเด็กคนหนึ่งโดนกระทืบจนไม่ไหวแล้วยกมือไหว้ เจ้าหน้าที่ก็บอกว่ามึงไปไหว้พ่อ ไหว้แม่มึง ไม่ต้องมาไว้พวกกู แล้วก็เตะสวนด้วยรองเท้าคอมแบท และกระทืบต่อ นายตำรวจคนหนึ่งก็หันมาบอกผมว่า น้องเห็นไหมพี่ห้ามไม่ได้แล้ว นอกจากนี้ยังมีการถ่มน้ำลายใส่ ใช้บุหรี่จี้ที่คอ”

“ผมก็ทำได้แค่มองแล้วสังเกตุการณ์ แล้วก็จำเรื่องราวทั้งหมดมาถ่ายถอด แต่ระหว่างที่ผู้ถูกควบคุมคนอื่นๆ ถูกทำร้ายร่างกายมีเจ้าหน้าที่คนหนึ่งจับผมไว้ เพื่อที่จะแสดงให้เห็นว่าผมคือสื่อมวลชน เหมือนเป็นการช่วยไม่ให้ผมถูกทำร้ายร่างกาย แต่ก็มีเจ้าหน้าที่อีกคนอ้อมมาด้านหลัง และใช้เข่ากระแทกที่น่องด้านซ้ายเพื่อให้ผมล้มนั่งลง”

“การกระทำเหล่านี้ไม่เหมาะสมที่จะเป็นข้าราชการของแผ่นดิน ไม่เหมาะสมที่จะเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ หรือแม้แต่สุภาพบุรุษ”

เขาเล่าว่าเหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นในระยะเวลาประมาณ 30 นาที ก่อนที่นายตำรวจคนหนึ่งซึ่งคาดว่าเป็นหัวหน้าชุดเดินเข้ามาแจ้งข้อกล่าวหาที่ถูกจับกุม พร้อมสั่งให้นำตัวพวกเขาทั้งหมดกลับไปขึ้นรถ และพาตัวไปยัง สน.พหลโยธิน

ท้ายที่สุดกลุ่มผู้ถูกจับกุมทั้งหมดที่ถูกนำตัวมายัง สน.พหลโยธิน ถูกแจ้งข้อหาฝ่าฝืนเคอร์ฟิว ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งหมดถูกเทียบปรับและปล่อยตัวกลับไป แต่ความช้าเร็วนั้นขึ้นกับความเร็วในการทำสำนวนเพื่อส่งศาล บางคนได้กลับในวันรุ่งขึ้น บางคนได้นอนอยู่ในตารางต่ออีกคืน

“ดูเหมือนภาครัฐพยายามขอความร่วมมือ ให้ทุกหน่วยงาน ให้ประชาชนอยู่กันอย่างสงบสุขและเรียบร้อย มีเจตนารมณ์ที่จะสร้างให้บ้านเมืองมีความสุข แต่สิ่งที่เขาทำมันตรงกันข้าม และ ณ ที่ตรงนี้ ดินแดง มันคือบ้านของผม มันยิ่งทำให้เรารู้สึกว่าจะต้องเพิ่มความทุ่มเท หวงแหน สามัคคี ไม่ให้ใครมารังแกพี่น้องของเรา”

“จริงๆ ทุกคนที่ออกมาต่อสู้ เขาไม่ได้ขออะไรมากเลย ขอแค่ให้มีอยู่มีกิน ขอให้คุณภาพชีวิตของเขาดีขึ้น แต่ภาครัฐเลือกที่จะไม่ฟัง และหยิบยื่นความรุนแรงให้ซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า”

“ถ้าภาครัฐมองว่าความรุนแรงความเด็ดขาด จะเป็นสิ่งที่แก้ปัญหา วันข้างหน้าดินแดงจะไม่ต่างอะไรกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ความรุนแรงไม่ได้ช่วยอะไร การรับฟัง และความเข้าใจต่างหากที่ช่วยได้ แทนทีจะส่งเจ้าหน้าที่มาถือปืนและคุม ส่งรองเท้าหัวแข็งๆ มาเตะชาวบ้าน ผมว่าส่งไมโครโฟนมาร้องเพลงดีกว่า ส่งไม้แบต ส่งลูกฟุตบอล หรือส่งถนนดีๆ ส่งเศรษฐกิจดีๆ มาให้พวกเขาดีกว่าที่จะเอาความรุนแรงมาให้เขา”

ผู้ชุมนุม_6 ตุลา_Voice_003.jpg

วินาทีนั้นผมพูดไม่ออกมันเจ็บอยู่ข้างใน

เรื่องราวนี้ได้รับการยืนยันอีกหนึ่งเสียงจาก โอม ชายวัยกลางคน เขาเป็นผู้ถูกจับกุมคนแรกในคืนวันที่ 6 ต.ค. บริเวณซอยต้นโพธิ์ ข้างแฟลต 1 ดินแดง แม้จะเป็นคนที่เกิดและเติบโตในดินแดง แต่กับการต่อสู้ร่วมกับกลุ่มวัยรุ่นนับได้ว่าเขาคือ 'หน้าใหม่' ครั้งแรกของเขากับการเคลื่อนไหวนี้คือ คืนวันที่ 3 ต.ค. เพียงไม่กี่วันก่อนหน้าที่วันปิดกล่องจะมาถึง 

โอมอาศัยอยู่กับพ่อ และแม่ ในทาวน์โฮมที่อยู่ในพื้นที่แฟลตดินแดง แต่หลังจากการระบาดในระลอกที่ 3 บ้านหลังที่ว่าก็เหลือเขาอยู่เพียงคนเดียว พ่อและแม่ของเขากลายเป็นเพียงจำนวนนับของผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา

เมื่อมองเข้าไปในบ้านไม่เห็นคนที่คุ้นเคย เมื่อมองออกไปนอกบ้านก็พบเห็นผู้คนที่ตกอยู่ในปัญหาคล้ายๆ กันออกไปเรียกร้องด้วยแนวทางของการปั่นป่วน และถูกเจ้าหน้าที่กระทำอย่างเกินกว่าเหตุหลายต่อหลายครั้ง บางคนเป็นคนรู้จัก บางคนเป็นแค่เด็ก การมองเห็นและรู้สึกกับสองสิ่งนี้ทำให้เขาที่เคยจำนนยอมรับชะตากรรม และความสูญเสีย ก้าวออกมายืนจุดพลุไฟร่วมกับสู้กับกลุ่มวัยรุ่นดินแดง

คืนวันที่ 6 ต.ค. โอมเพิ่งกลับจากที่ทำงานได้ไม่นาน ระหว่างกำลังนั่งกินข้าวอยู่ในซอยต้นโพธิ์ได้สักพัก พบว่ามีเด็กวิ่งมาตะโกนว่า คฝ. บุกมาจากซอยมิตรไมตรี เขาจึงรีบนำพลุไฟยิงไปในทิศทางดังกล่าว แต่ช่วงเวลาเพียงเสี้ยวนาที ปรากฎว่าในเส้นทางที่มุ่งหน้ามาจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มีเจ้าหน้าตำรวจหน่วยเคลื่อนที่เร็วบุกเข้าจู่โจมทันที เมื่อหันหลังกลับไปพร้อมกับประเมินสถานการณ์ว่าหนีไม่ทัน เขาจึงตัดสินใจหยุดเพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าควบคุมตัว ถึงอย่างนั้นก็ยังถูกเจ้าหน้าที่ยิงด้วยกระสุนยางในระยะประชิดบริเวณข้อศอกด้านซ้าย พร้อมถูกด้ามปืนลูกซองกระแทกเข้าที่หัวจนล้มลงกับพื้น 

โอมเล่าว่าวินาทีนั้นรู้สึกว่ามีเลือดไหลออกมาที่หัว เขาจึงพยายามหมอบและใช้มือทั้งสองข้างประคองหัวเพื่อป้องกันไม่ถูกตีซ้ำที่จุดเดิม เจ้าหน้าที่จึงเหยียบหลังให้เขานอนราบกับพื้น และใช้เท้าที่สวมทับด้วยรองเท้าคอมแบทหัวเหล็กเตะเข้าบริเวณหัวเข่าด้านขวา จนเข่าหลุด ก่อนที่จะพาตัวเขาไปยังรถควบคุมตัว เมื่อเขาบอกกับเจ้าหน้าที่ว่า หัวเข่าหลุดเดินไปไม่ได้แล้ว จึงได้รับการประคองแขนทั้งสองข้างและลากตัวไปแทน

หลังจากนั่งเจ็บปวดกับบาดแผลที่ถูกทำร้ายร่างกาย ภายในรถควบคุมตัวก็มีสมาชิกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทีละคน จนครบ 8 คน ซึ่งหนึ่งในนั้นมีแอดมินนินจารวมอยู่ด้วย เจ้าหน้าที่ได้แจ้งกับพวกเขาว่าจะนำตัวไปยังสถานีตำรวจ ทว่าก่อนจะเดินทางไปถึงสถานีตำรวจ อยู่ๆ รถคันดังกล่าวก็จอดลงบริเวณทางลัดถนนพหลโยธิน-วิภาวดีรังสิต และเรื่องราวก็เป็นไปตามที่แอดมินนินาจาให้ข้อมูลไว้ 

สำหรับตัวเขาเป็นคนที่ 3 ที่ถูกจิกหัวลงจากรถ แน่นอนการเป็นคนที่ 3 ย่อมรู้ชะตากรรมดีอยู่แล้วว่าเมื่อลงจากรถไปแล้วสิ่งจะเกิดขึ้นคืออะไร โอมสะท้อนว่า ภาพที่เกิดขึ้นตอนนั้นทำให้เขารู้สึกเหมือนกับว่า กำลังถูกรับน้องใหม่ สิ่งที่ทำได้มากที่สุดคือการเกรงตัวรอรับแรงกระแทก จากมือ เท้า เข่า และกระบอง แต่สิ่งที่มากไปกว่านั้นซึ่งเขาไม่รู้จับรับมือมันได้อย่างไร คือไฟจากปลายบุหรี่ที่จี้มาตามจุดต่างๆ ของร่างกาย และน้ำลายที่ถูกถ่มลงมาใส่หน้า 

“พวกเขาเอารูปเจ้าหน้าที่ที่ถูกยิงมาให้ผมดู แล้วก็พูดว่าพวกมึงทำอะไรเพื่อนกูไว้ มึงเก๋ามากเหรอ มึงเฟี้ยวเหรอ ผมก็พยายามบอกว่าผมไม่รู้ เพราะผมโดนจับมาคนแรกจะไปรู้ได้ไง แต่ก็ไม่ช่วยอะไร ผมพูดอะไรไม่ออกอีกเลย มันเจ็บทั้งตัว และเจ็บอยู่ในใจ”

“จากที่โดนรอบแรกผมก็คิดว่าจบแล้ว เดี๋ยวเขาก็คงเอาตัวไปส่งโรงพักใครเจ็บมากก็คงพาไปโรงพยาบาล ไม่คิดเลยว่าจะมาโดนรอบสองอีก”

หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวผ่านพ้นไปพวกเขาทั้งหมด 8 คนถูกนำตัวมาส่งยัง สน.พหลโยธิน รวมผู้ถูกจับกุมทั้งหมดที่ถูกนำตัวมาที่นี่เป็น 29 คน โดยกลุ่มเจ้าหน้าที่ซึ่งอยู่ในชุดเดียวกันกับที่ทำร้ายร่างกายพวกเขา ทว่าเมื่อมาถึงสถานีตำรวจ ท่าทีของเจ้าหน้าที่เหล่านั้นก็เปลี่ยนไป จากการรุมกระทืบก่อนหน้านี้ก็กลายเป็นการประคองตัวพวกเขาเข้าไปในสถานีตำรวจ พร้อมกับสอบถามด้วยความห่วงใยว่าบาดเจ็บตรงไหนบ้าง 

โอมไม่แน่ชัดว่า ทำไมคนเราถึงเปลี่ยนไปได้เร็วขนาดนั้น หรืออาจจะเป็นแสงสว่าง และกับสายตาของผู้คนที่ทำให้คนเราเปลี่ยนไปได้อย่างกับคนละคน

สำหรับตัวโอมเอง เป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับบาดเจ็บสาหัส เขาใช้เวลาอยู่นานกว่าที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะยอมนำตัวเข้าไปส่งที่โรงพยาบาลตำรวจ สำหรับค่ารักษาพยาบาลราวๆ 5 พันบาทเขาจะต้องเป็นผู้จ่ายเองทั้งหมด และก่อนหน้านั้นกระเป๋าเงินที่เขาถูกยึดไประหว่างการจอดรถทำร้ายร่างกาย เงินที่เคยอยู่ในกระเป๋าจำนวนกว่า 3 พันบาทได้หายไป เขาจึงไม่ยอมหากจะต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง สุดท้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.หพลโยธินจึงยอมควักกระเป๋าตัวเองจ่ายค่ารักษาพยาบาลแทน แต่สำหรับผู้ได้รับบาดเจ็บคนอื่นๆ ที่ไม่ได้ทักท้วงเรื่องนี้ ทุกคนเป็นผู้จ่ายค่ารักษาพยาบาลเองทั้งหมด 

โอมได้รับยาแก้ปวด และยาแก้อักเสบมาจากโรงพยาบาล พร้อมกับใบนัดให้ไปตัดไหม และเอกซเรย์ร่างกายอีกครั้ง แต่เขาเลือกที่จะไม่ไปตามที่หมอนัดเพราะไม่มีค่ารักษาพยาบาล เขาและเพื่อนรุ่นน้องต้องตัดไหมกันเอง ส่วนอาการที่พอสังเกตได้ด้วยสายตา และความรู้สึกคือ หัวเข่าด้านที่ถูกเตะจนหลุดมีลักษณะผิดรูปไปจากปกตินิดหน่อย ส่วนหัวที่ถูกด้ามปืนกระแทกจนโชกเลือด โอมบอกได้เพียงว่า ตอนนี้ยังไม่รู้สึกว่ามีอะไรแปลกไป

ผู้ชุมนุม_6 ตุลา_Voice_009.jpgผู้ชุมนุม_6 ตุลา_Voice_006.jpgผู้ชุมนุม_6 ตุลา_Voice_004.jpg

ติดตามจับตาทุกย่างก้าว : กระบวนการคุกคามหลังการจับกุม

“ถามว่ามันส่งผลอะไรก็เราไหม มันเหมือนแบบว่า เราแทบจะไม่มีที่อยู่อยู่แล้ว เหมือนว่าเราเป็นคนไร้บ้านไปเลย จากที่เรามีบ้าน เราเหมือนเป็นคนเร่ร่อน ไปพักบ้านโน่นที บ้านนี้ที มันทำให้สูญเสียงานด้วย และที่ทำงานก็เหมือนสนับสนุน คือทางตำรวจเขาไปติดต่อที่บริษัท แล้วบริษัทก็ได้เเจ้งมา ผมก็เลยต้องลาออก”

แม้ว่าการถูกจับกุมดำเนินคดีครั้งนั้นสำหรับโอม จะจบด้วยการจ่ายค่าปรับข้อหาฝ่าฝืนเคอร์ฟิว แต่หลังจากนั้นใช่ว่าทุกอย่างจะจบ เขา และเพื่อนอีกหลายคน เชื่อว่ากำลังถูกจับตาโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างใกล้ชิด เขาว่า การติดตามในลักษณะนี้ดูออกได้ไม่ยาก เพราะมีรูปแบบคล้ายๆ กัน เช่น หากเขาและเพื่อนกลับเข้าไปในพื้นที่แฟลตดินแดง หรือแม้กระทั่งบ้านที่เคยอาศัยอยู่กับพ่อแม่ ไม่นานนักก็จะมีรถไม่ติดป้ายทะเบียนมาจอดมองเป็นเวลานาน เมื่อเขาออกจากพื้นที่ก็พบว่ามีคนขับรถตามเข้ามาตลอดทางจนทำให้ต้องเลือกใช้เส้นที่ไกลกว่าเดิมเพื่อให้หลุดพ้นจากการติดตาม แต่สิ่งที่แย่ที่สุดสำหรับคือ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจไปที่บริษัทที่เขาทำงานอยู่ จนกลายเป็นเหตุให้เขาถูกเรียกคุย และต้องยอมลาออกจากบริษัท มากไปกว่านั้น เมื่อเขารักษาอาการบาดเจ็บจนทุเลาลง กำลังจะเริ่มต้นใหม่กับชีวิตด้วยการเป็นไรด์เดอร์ แต่ก็พบว่า ทุกครั้งที่ขี่มอเตอร์ไซค์ไปส่งของให้ลูกค้าก็จะมีคนติดตามมาตลอดทาง 

เรื่องนี้ได้รับการยืนยันว่าเกิดขึ้นจริงกับหลายคนที่ถูกจับกุมในคืนนั้น เขาสะท้อนว่าเจ้าหน้าที่พยายามทำทุกวิธีให้พวกเขากลัว และรู้สึกตลอดเวลาว่ากำลังถูกจับตาอย่างใกล้ชิด รวมทั้งพยายามสืบหาตัวผู้ก่อเหตุยิง คฝ. ด้วย แต่ที่มากไปกว่านั้นคือการเข้าไปกดดันเจ้าของห้องเช่าที่แฟลตดินแดงว่า ห้ามปล่อยให้เด็กวัยรุ่นมาเช้าห้อง หรือเข้ามาพัก ไม่เช่นนั้นจะถูกข้อหาสนับสนุนการชุมนุมที่สร้างความวุนวาย

ทนายณรงค์รัตน์ .JPG

ปิดกั้นสิทธิพบทนาย ถูกผลักออกจากห้องสอบ พร้อมด่าไล่หลัง

หากคิดว่าการจับกุมผู้คนสิ้นสุดลงในคืนวันที่ 6 ต.ค. เท่านั้น นั่นอาจจะเป็นความเข้าใจที่ผิด การจับกุม และการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับกลุ่มวัยรุ่นลากยาวมาตลอดคืน ถึงช่วงเช้าของวันถัดมา

ณรงค์รัตน์ ขำสุวรรณ ทนายหนุ่ม จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เล่าว่า ในช่วงเช้าวันที่ 7 ต.ค. เวลาประมาณ 08.00 น. ได้รับการแจ้งมาว่า มีผู้ชุมนุมกลุ่มหนึ่งประมาณ 40 คนถูกควบคุมตัวตั้งแต่ช่วงกลางดึกรอยต่อระหว่างวันที่ 6 จนถึงเช้าวันที่ 7 ต.ค. โดยทั้งหมดถูกควบคุมตัวอยู่ที่ สน.ดินแดง 

เขาจึงเดินทางไปยัง สน.ดินแดง และเข้าไปขอพบผู้จับกุม แต่ถูกเจ้าหน้าที่ปฏิเสธ และไม่ให้ข้อมูลใดๆ ทั้งสิ้น เขาจึงตัดสินใจเดินเข้าไปในห้องสืบสวน แต่ก็ถูกเจ้าหน้าที่ผลักออกมาพร้อมพูดจาหยาบคายใส่ว่า "นี่มันเรื่องกฎหมาย ทนายยุ่งอะไรด้วย" โดยก่อนที่เจ้าหน้าที่จะปิดประตูและล็อคห้อง เขาได้ยินเสียงไล่หลังมาจากเจ้าหน้าที่ด้วยว่า "ทนายหัวควย"

“ตอนเข้าไปในห้องเห็นผู้ถูกควบคุมตัวประมาณ 10 คน มีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบอีก 15 คน พอเราเข้าไปทุกคนก็มองเป็นตาเดียวกัน เราเองก็ตกใจ แต่พอตั้งสติได้ เราก็เลยถามเขาว่า กระบวนการตอนนี้ได้เเจ้งข้อหากับพวกเขาหรือยัง จับมาตั้งแต่เช้าแล้ว เขาก็นิ่ง เราก็เลยถามต่อว่านี่เป็นการจับซึ่งหน้าหรือเปล่า เพราะถ้าไม่ได้เป็นการจับซึ่งหน้าตำรวจก็ไม่มีสิทธิที่จะควบคุมตัวพวกเขา แล้วพอเราถามมากเข้า เขาก็ถามกลับคุณเป็นใคร ก็บอกไปว่าเป็นทนาย จากนั้นเขาก็เข้ามาปิดไม่ให้เรามองหน้าผู้ถูกควบคุมตัว เราก็ตะโกนบอกไปว่า พวกคุณไม่ได้ถูกจับซึ่งหน้า ไม่ได้ถูกแจ้งข้อหา ตอนนี้พวกคุณอยู่ในกระบวนการที่ไม่ถูกต้อง ตามสิทธิแล้วพวกคุณเดินออกมาได้เลย แต่ก็ไม่มีใครกล้าที่จะลุกออกมา จนตำรวจนอกเครื่องแบบเข้ามาผลักอกออกมา แล้วก็ด่าไล่หลังมากว่า ทนายมายุ่งอะไรด้วย ทนายหัวควย”

ณรงค์รัตน์ เล่าถึงกระบวนการของเจ้าหน้าที่ตำรวจในวันนั้นว่า เป็นไปเพื่อการเค้นข้อมูลเพื่อตามหาตัวผู้ก่อเหตุยิงเจ้าหน้าที่ คฝ. ที่หัวจนได้รับบาดเจ็บสาหัส แต่กระบวนการทั้งหมดเกินเส้นที่กฎหมายกำหนดไว้มาก ยิ่งกับคำพูดที่ถูกด่าว่า “ทนายมายุ่งอะไรด้วย” ยิ่งทำให้เขาตั้งถามต่อกระบวนการยุติธรรมเพิ่มมากขึ้นไปอีก เพราะหากมีอาชีพเป็นทนายความแล้วไม่สามารถเข้าไปให้ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายกับผู้ถูกควบคุมตัวได้ กระบวนการที่เกิดขึ้นในสถานีตำรวจนั้นควรจะมีนิยามว่าเป็นกระบวนการแบบใด 

“โอเคตามสภาพคือเราเข้าใจว่า ตำรวจชุดสืบสวนมักจะไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามขั้นตอนของกฎหมายเปะๆ แต่สุดท้ายแล้วเขาก็ควรที่จะเคารพกฎหมาย เพราะตัวพวกเขาเองเป็นตำรวจ มันเป็นอาชีพที่ถูกออกแบบมาให้พิทักษ์รักษากฎหมาย เขาเป็นผู้บังคับใข้ และเขาไม่ควรทำอะไรที่อยู่นอกกฎหมายเสียเอง และพอเราโต้กันเรื่องกฎหมายแทนที่เขาจะคุยดีๆ กลายเป็นว่า เขาใช้คำด่าหยาบคายแทน”

หลังจากที่นั้นเขาจึงถอนตัวออกมาจาก สน.ดินแดง เหลือให้ผู้สังเกตการณ์คอยเฝ้าดูสถานการณ์ไว้ ต่อมาเขาได้รับการติดต่อกลับมาให้ไปเป็นทนายความในช่วงดึกคืนวันที่ 7 ต.ค.หลังจากที่ตำรวจทำบันทึกการจับกุมเสร็จแล้ว และมีผู้ถูกควบคุมตัวให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมไปหลายคน