ไม่พบผลการค้นหา
วอยซ์ สรุปประเด็นร้อน กรณี ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับก้าวไกล ที่เหลือเวลาอีก 1 วัน ก็จะครบกำหนดรับฟังความเห็นก่อนบรรจุวาระในสภา และรวบรวมท่าทีจากหลายฝ่ายทางการเมืองที่แตกออกเป็นหลายแง่ ทั้งเห็นด้วยและเห็นต่าง

เรื่องนิรโทษกรรม เป็นอีกปมใหญ่ของรัฐบาล

ในด้านหนึ่ง ตั้งแต่จุดตั้งต้น รัฐบาลอยู่ในสถานะไม่มั่นคงนักและพยายามอย่างยิ่งในการกอบกู้เศรษฐกิจที่ปัญหารุมเร้าทุกด้าน พ่วงกับต้องประนีประนอมกับองคาพยพอำนาจเก่าเพื่อให้การเมืองเกิดเสถียรภาพ  ทำงานได้ตลอดรอดฝั่ง

ในอีกด้านหนึ่ง ก็มีคดีการเมืองมากมายกำลังทยอยตัดสิน โดยเฉพาะคดี 112 อันเป็นผลสืบเนื่องจากกระแสการตื่นตัวทางการเมืองของ ‘คนรุ่นใหม่’ เมื่อปี 2563-2564 

เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ยังเห็นต่าง และรัฐบาลไม่อาจเลี่ยงการตัดสินใจ เพราะดูความใหญ่ของปัญหา จะพบว่า ผู้ต้องหาคดีที่เกี่ยวพันกับการแสดงออกทางการเมืองทั้งหมด มีมากถึง 1,935 คน ใน 1,262 คดี

ถ้านับเฉพาะคดี 112 พบว่า มีผู้ถูกดำเนินคดี 262 คน ในจำนวนนี้เป็นเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีอยู่ 20 คน

แม้ปรากฏแนวโน้มที่ดีในกระบวนการยุติธรรมช่วงหลายปีมานี้ว่า คดี 112 ส่วนใหญ่ จำเลยมักได้รับการประกันตัว มีการยกฟ้องไปก็นับสิบคดี แต่หลายคดีสุดท้ายแล้วยังคงตัดสินจำคุกในศาลชั้นต้น แล้วก็ไม่ได้ประกันตัวอีก เช่น กรณีของอานนท์ นำภา ความแน่นอนของอิสรภาพของคนรุ่นใหม่จำนวนมากจึงยังอยู่บนเส้นด้าย

12 ธ.ค.นี้ สภาผู้แทนราษฎรจะเปิดสมัยประชุมอีกครั้ง พรรคก้าวไกลเตรียมผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่ตนเองนำเสนอให้บรรจุวาระพิจารณา

ทันทีที่ก้าวไกลนำเสนอเรื่องนี้ สายอนุรักษนิยมไม่ว่า พรรคร่วมรัฐบาลต่างๆ พรรคร่วมฝ่ายค้าน หรือตัวละครสำคัญอย่าง สว. (ที่จะหมดวาระเดือน พ.ค.67) ต่างออกมาคัดค้านการนิรโทษกรรม มาตรา 112 เป็นเสียงเดียว  

‘หัวหอกสายเหลือง’ อย่าง ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ จากนิด้าก็ออกมาขยี้ว่า พรรคก้าวไกลนำเสนอเรื่องนี้เพราะ ส.ส. หลายคนมีคดีทั้ง 112 และคดีอื่น พร้อมเผยแพร่ตารางคดียาวเป็นหางว่าว ทั้งที่ก่อนหน้านี้ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ว่า ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และแกนนำพรรคอนาคตใหม่ที่โดนคดี 112 น่าจะยื่นขอยกเว้น ไม่รับการนิรโทษกรรมเพื่อเลี่ยงปัญหา ‘ผลประโยชน์ทับซ้อน’

ส่วนท่าทีของพรรคเพื่อไทยยังก้ำกึ่ง สส. บางส่วนไม่ต้องการให้แตะเรื่องนี้ บางส่วนเสนอให้ตั้ง กมธ.วิสามัญหารือจนตกผลึกก่อนจะพิจารณาร่างกฎหมาย เพราะรู้ดีว่า ประเด็นที่เกี่ยวกับสถาบันยังเป็นเรื่องเซนสิทีฟที่คลื่นใต้น้ำนั้นทรงพลัง

ปัจจุบัน ร่างของก้าวไกล ( ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิด อันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง พ.ศ. ....) อยู่ในขั้นที่สภากำลังเปิดรับฟังความคิดเห็นทางเว็บไซต์ ตามที่ ม.77 ของรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าต้องทำก่อนบรรจุวาระในสภา กำหนดการรับฟังความเห็นคือ 9 พ.ย.-9 ธ.ค.นี้

เหลือเวลาอีก 1 วันจะครบกำหนดรับฟังความเห็น ผลลัพธ์หน้าเว็บไซต์ระบุว่า มีผู้แสดงความคิดเห็นทั้งหมด 630 คน แบ่งเป็น เห็นด้วย 28.25%  ไม่เห็นด้วย 71.43%

เนื้อหาร่างของก้าวไกล สรุปประเด็นสำคัญมีดังนี้ 

  • นิรโทษกรรมประชาชน ผู้ร่วมชุมนุมตั้งแต่ 11 ก.พ.2549 ถึงวันที่กฎหมายบังคับใช้ หรืออาจไม่ได้ชุมนุมแต่กระทำความผิดที่มีมูลเหตุเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมือง
  • ความผิดมาตรา 112 ก็เข้าข่ายนิรโทษกรรมได้ 
  • ความผิดที่ยกเว้นไว้ชัดเจนว่าไม่นิรโทษกรรม คือ เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมอันเป็นการกระทำเกินกว่าเหตุ ทั้งผู้สั่งการและผู้ปฏิบัติ, ความผิดต่อชีวิต, ความผิดฐานกบฏ
  • การวินิจฉัยว่า คดีของบุคคลใดเข้าข่ายต้องได้รับนิรโทษกรรม อยู่ที่อำนาจของ “คณะกรรมการวินิจฉัย”
  • กรรมการวินิจฉัยมี 9 คน ประกอบด้วย
  1. ประธานสภาผู้แทนราษฎร 1 คน
  2. ผู้นำฝ่ายค้าน 1 คน 
  3. ครม.เลือก 1 คน 
  4. สส. 2 คน (ฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลอย่างละคน) 
  5. ผู้พิพากษาหรืออดีตผู้พิพากษา 1 คน 
  6. ตุลาการหรืออดีตตุลาการศาลปกครอง 1 คน 
  7. อัยการหรืออดีตอัยการ 1 คน 
  8. เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร 1 คน 
  • การพิจารณาการนิรโทษกรรมของบุคคลต่างๆ ต้องแล้วเสร็จภายใน 2 ปี หากมีการขยายระยะเวลารวมแล้วไม่เกิน 1 ปี
  • ผู้ที่คิดว่าควรได้นิรโทษกรรมหรือผู้เกี่ยวข้องกับบุคคลผู้นั้น สามารถยื่นคำร้องต่อกรรมการวินิจฉัยได้  
ตัวอย่างความเห็นของฝ่ายต่างๆ มีดังนี้

พรรคเพื่อไทย (สรวงศ์ เทียนทอง): พรรคเพื่อไทยอยู่ระหว่างหารือว่าจะมีการเสนอร่างกฎหมายประกบกับร่างของพรรคก้าวไกลหรือไม่ แต่มีแนวความคิดเบื้องต้นว่าจะตั้ง กมธ.วิสามัญ เพื่อหาทางออกเรื่องนิรโทษกรรม ม.112 ให้ได้ข้อยุติ ก่อนนำเสนอร่างกฎหมาย 

สว. (สมชาย แสวงการ): สนับสนุนนิรโทษกรรมคดีการเมือง รัฐบาลออกเป็น พ.ร.ก.ได้เลย แต่คัดค้านนิรโทษกรรม 3 คดีมั่นคงสำคัญ คือ การทุจริต คดีความผิดอันถึงแก่ชีวิต และโดยเฉพาะคดี ม.112 หากผู้กระทำผิดสำนึกก็สามารถขอพระราชทานอภัยโทษได้ ดังนั้น จึงไม่เห็นด้วย 100% กับร่างของพรรคก้าวไกล ที่มีรากมาจากการเคลื่อนไหวของพรรคอนาคตใหม่ในการสนับสนุนให้มวลชน สมาชิก สส. คณะกรรมการบริหาร รวมถึงผู้นำทางความคิดหลายคนไปจาบจ้วงละเมิดจนผิดกฎหมาย เชื่อว่าหากเสนอมา สว. ก็คงไม่ให้ความเห็นชอบ

จตุพร พรหมพันธุ์: เสนอให้นิรโทษกรรม รวม ม.112 ด้วย เป็นการลดความขัดแย้ง สร้างความเข้มแข็งให้สถาบัน ถือว่ากระบวนการยุติธรรมให้โอกาสกลับตัว และสามารถเขียนกันเอาไว้ว่าจะไม่กระทำผิดซ้ำอีก 

ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ: เรื่องนิรโทษกรรมเป็นของแสลงของพรรคเพื่อไทย เนื่องจากเคยเสนอและถูกต่อต้านถึงขั้นเกิดรัฐประหาร อย่างไรก็ตาม เวลาผ่านไปนาน บริบทเปลี่ยนแล้ว ควรจะนิรโทษกรรมทุกคนทุกฝ่ายในทุกคดี ยกเว้นคดีทุจริตกับความผิดอันถึงแก่ชีวิต รัฐบาลจึงควรร่วมผลักดันเรื่องนี้ โดยจะมีร่างกฎหมายของตนเองประกบก็ได้ 

พรรครวมไทยสร้างชาติ (ธนกร วังบุญคงชนะ): เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมทางการเมือง แต่ต้องไม่รวมมาตรา 112 และคดีทุจริต 

พรรคไทยสร้างไทย (ชวลิต วิชยสุทธิ์):  เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมคดีการเมือง แต่ต้องไม่รวม ม.112 ดังที่เคยได้ข้อสรุปในรายงานการศึกษาเรื่องแนวทางสร้างความปรองดองของ กมธ.การกฎหมายฯ ของสภาชุดที่แล้วว่า นิรโทษกรรมคดีอาญาที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง แต่ไม่นิรโทษกรรมคดี 112 และคดีทุจริต อย่างไรก็ตาม ความเห็นส่วนตัวเห็นว่า ถ้าผู้ที่ถูกกล่าวหาหรือผู้ที่ต้องโทษได้สำนึกในการกระทำของตนว่าเป็นการล่วงละเมิด ก็อาจขอพระราชทานอภัยโทษ ซึ่งเป็นพระราชอำนาจที่จะพระราชทานอภัยโทษหรือไม่ ที่สำคัญควรมีเงื่อนไขไม่กระทำความผิดซ้ำ

พรรคชาติไทยพัฒนา (วราวุธ ศิลปอาชา): เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมทางการเมือ แต่จะต้องไม่มีความเกี่ยวข้องกับ ม. 112 และคดีอาญาที่ทำให้บุคคลบาดเจ็บหรือเสียชีวิต 

ไพศาล พืชมงคล: พรรคการเมืองต่างๆ สามารถยื่นร่างกฎหมายตามแนวทางตนเองเพื่อให้สภาได้พิจารณาร่วมกันในคราวเดียวได้เลย จะได้หมดปัญหาเรื่องมาตรา 112 เพราะเป็นอำนาจของรัฐสภาว่าจะพิจารณาอย่างไร และหากมีข้อขัดแย้งก็ส่งศาลรัฐธรรมนูญได้อีกชั้นหนึ่ง หากยังมีคนบางกลุ่มกังขาเรื่อง ม.112 กมธ.วิสามัญอาจขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสเข้าเฝ้า เพื่อขอรับพระมหากรุณาธิคุณรับพระบรมราชวินิจฉัยเป็นแนวทางปฏิบัติ และปฏิบัติให้เป็นไปตามพระบรมราชวินิจฉัยนั้น เรื่องราวทั้งหมดก็จะยุติไป