ไม่พบผลการค้นหา
ศุภวุฒิ สายเชื้อ วิเคราะห์การท่องเที่ยวฟื้น ช่วยประคองเศรษฐกิจไทย จับตาเงินเฟ้อพุ่งแรง ธปท.ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ไม่พอรับมือ ต้องเร่งกระตุ้นจ้างงาน เงินเฟ้อยังจะทำให้ดอกเบี้ยหนี้สาธารณะเพิ่มมาก ประชาชนลำบาก พร้อมแนะติดตามความขัดแย้งไต้หวันใกล้ชิด

ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวในงานโครงการพัฒนาอบรมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจระดับสูง ปี 2565 Next chapter for wealth : เปิดโลกสร้างความมั่งคั่งสู่ความมั่นคง” จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ และธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย 

ศุภวุฒิมองว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2565 จะขยายตัว 3% และในปี 2566 จะขยายตัวราว 4.3% โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ตัวเดียวที่จะช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ตามเป้าหมาย เป็นการเติบโตสวนทางกับเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาที่เข้าสู่ภาวะชะลอตัว 

หากปี 2565 มีนักท่องเที่ยวกลับเข้ามา 10 ล้านคน จากที่ครึ่งปีนี้เข้ามาแล้ว 2 ล้านคน คำนวณค่าใช้จ่ายต่อหัวต่อคนที่ 50,000 บาทจะทำให้ประเทศมีรายได้ประมาณ 300,000 ล้านบาท หรือประมาณ 2% ของจีดีพี และในปีหน้าถ้ามีนักทีองเที่ยวเข้ามา 20 ล้านคน ก็จะมีรายได้ 1 ล้านล้านบาท หรือ 5-6% ของจีดีพีประเทศ

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่น่ากังวลคือ การเร่งตัวของเงินเฟ้อซึ่งหากสูงกว่ากรอบเงินเฟ้อหลัก1-3% เหตุที่น่ากังวลเพราะการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท) 0.25% ไม่น่าจะเพียงพอในการรับมือเงินเฟ้อที่พุ่งแรงได้ และรัฐต้องหามาตรการกระตุ้นให้เกิดการจ้างงาน การสร้างรายได้ต่อหัวให้เพิ่มขึ้น 

ศุภวุฒิระบุด้วยว่า ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลต่อภาระหนี้สาธารณะของประเทศ เพราะหนี้สาธารณะที่มีภาระดอกเบี้ยจ่าย มีอยู่ประมาณ 8.9 ล้านล้านบาทจากภาระหนี้รวม 10.12 ล้านล้านบาท โดยหนี้ที่มีภาระดอกเบี้ยจะเริ่มทยอยครบกำหนดชำระตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป 

อย่างไรก็ตาม การที่เงินเฟ้อสูงขึ้น ในทางเทคนิคจะทำให้ภาระหนี้สาธารณะต่อจีดีพีลดลงโดยปริยาย แต่นั่นไม่เป็นผลดีต่อค่าครองชีพของประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศ

ศุภวุฒิยังกล่าวอีกว่า ปัจจัยที่ต้องจับตาในอนาคต คือประเด็นความขัดแย้งระหว่างไต้หวันกับจีนที่จะรุนแรงในอนาคต 10 ปีข้างหน้า ไต้หวันเป็นผู้ผลิต เซมิคอนดักเตอร์ที่มีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดในระบบเศรษฐกิจโลก หากไต้หวัน มีปัญหาจากความขัดแย้งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกรุนแรงมาก และเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด 

"ทุกวันนี้ภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนไป จากสหรัฐ ยุโรป ที่เคยเป็นอันดับ 1 อันดับ 2 เปลี่ยนมาจีนเป็นอันดับ 1 แล้วในปีปัจจุบัน"