ศาลอาญานัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีชุมนุมล้อมบ้านพักสี่เสาเทเวศร์ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เมื่อปี 2550
โดยคดีนี้ พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายนพรุจ หรือนพรุฒ วรชิตวุฒิกุล อดีตแกนนำกลุ่มพิราบขาว 2006 นายวีระศักดิ์ เหมะธุลิน นายวันชัย นาพุทธา นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท และนพ.เหวง โตจิราการ อดีต แกนนำ นปช. เป็นจำเลยที่ 1-7
บรรยากาศก่อนอ่านคำพิพากษา นายจตุพร พรหมพันธุ์ และนางธิดา ถาวรเศรษฐ อดีตประธาน นปช. พร้อมอดีตแกนนำ นปช.หลายคนได้เดินทางมาให้กำลังใจ โดยนายจตุพร กล่าวว่า เส้นทางของ นปช.มี 2 เส้นทาง คือถ้าไม่ตายก็ต้องติดคุก จึงมาให้กำลังใจไม่ว่าจะเป็นโชคชะตาของใคร ถือว่าเป็นพี่น้องพี่ที่อยู่ในชะตากรรมเดียวกัน โดยตั้งแต่เริ่มต้นได้ยกชีวิตและอิสรภาพให้กับการต่อสู้แล้ว จึงพร้อมน้อมรับคำตัดสินของศาล
ส่วนคดีของตัวเองนั้นอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น โดยเป็นผู้ต้องหาร่วมกับประชาชนอีกรายหนึ่ง ซึ่งจะเริ่มพิจารณาคดีหลังจากที่ศาลฎีกาได้อ่านคำพิพากษาในคดีนี้เสร็จสิ้นแล้ว
นายแพทย์เหวง กล่าวว่า พร้อมน้อมรับและปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาล ไม่ว่าจะเป็นศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา จึงไม่หนักใจกับคำพิพากษาที่ออกมาในวันนี้ ไม่มีปัญหาหากจะต้องเข้าเรือนจำอีกครั้ง เพราะเคยติดคุกมาแล้วครั้งหนึ่ง
นายณัฐวุฒิ ยืนยันเช่นเดียวกันว่าพร้อมน้อมรับในคำพิพากษาของศาล จึงไม่วิตกกังวลใจ เพราะเป็นเรื่องของการต่อสู้ซึ่งถึงที่สุดตามกระบวนการ ซึ่งมีความเชื่อมั่นและบริสุทธิ์ใจว่าการต่อสู้ที่ผ่านมาเป็นไปด้วยสันติวิธี มีจุดมุ่งหมายเดียวคือเพื่อผลักดันให้สังคมเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยืนยันว่าไม่ได้บุกรุกเข้าไปภายในบ้านสี่เสาเทเวศร์ เป็นการใช้สิทธิ์ชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ ส่วนความวุ่นวายที่เกิดขึ้นเกิดการเผชิญหน้าระหว่างเจ้าหน้าที่กับประชาชนผู้ชุมนม เจ้าหน้าที่ใช้กำลัง ใช้แก๊สน้ำตาเข้ามาสลายการชุมนุม ทั้งที่การชุมนุมหน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ได้พูดคุยหารือและทำความตกลงกับตำรวจที่เป็นหัวหน้าชุดควบคุมสถานการณ์ขณะนั้นแล้ว ซึ่งได้นำเรียนข้อเท็จจริงนี้ต่อศาลฎีกา เพื่อให้ศาลใช้ประกอบการพิจารณาคดี
นายณัฐวุฒิ ย้ำว่า ตั้งแต่วินาทีที่ออกมาต่อสู้และต่อต้านการรัฐประหาร ก็พร้อมสำหรับการสูญสิ้นอิสรภาพ หากในวันนี้จะต้องสูญสิ้นอิสรภาพอีกครั้ง จุดยืนและหลักการในการต่อสู้ยังคงเหมือนเดิม คือไม่ยอมรับการรัฐประหาร ไม่ยอมรับอำนาจเผด็จการในทุกกรณี จึงขอให้พี่น้องประชาชนผู้ร่วมอุดมการณ์อย่าไห��หวั่น
ด้านนายนพรุจ ได้ยื่นเอกสารร้องขอความเป็นธรรมต่อสื่อมวลชนในฐานะจำเลยที่ 1 ของคดีนี้ โดยยืนยันว่าได้ยึดมั่นการต่อสู้แบบสันติวิธี ไม่ได้ทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่กลับถูกตำรวจทำร้ายร่างกาย โดยได้ยื่นเอกสารหลักฐานต่อศาลฎีกาเพื่อต่อสู้คดีแล้ว ทั้งนี้หากถูกพิพากษาให้จำคุกจะขอเป็นจิตอาสาทำงานในคุก จากนั้นจะยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ
สำหรับคดีนี้พนักงานอัยการฯ ได้ยื่นฟ้อง ในความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยมีอาวุธ โดยเป็นหัวหน้า หรือผู้มีหน้าที่สั่งการ , ร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยใช้กำลังขู่เข็ญ และเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้ผู้ที่มั่วสุมเลิกไปแล้วไม่เลิก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสอง , 215 , 216 , 297 , 298 ประกอบมาตรา 33 , 83 , 91
โดยการนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกาในวันนี้ จำเลยทั้ง 5 คนซึ่งก่อนหน้านี้ได้รับการประกันตัว ต้องเดินทางมาฟังคำพิพากษาตามนัด
ส่วนคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 ยื่นฟ้องนายจตุพร และนายศราวุธ หลงเส็ง ผู้ร่วมชุมนุม เป็นจำเลยที่ 1-2 ในคดีหมายเลขดำ อ.2799/2557 เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2557 ในความผิดฐานเดียวกันจากเหตุการณ์เดียวกันนั้น ทั้งสองให้การปฏิเสธ ซึ่งปัจจุบันคดีดังกล่าว ศาลอาญามีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบชั่วคราว เพื่อรอฟังผลคำพิพากษาคดีถึงที่สุดสำนวนแรก เพื่อมาประกอบการพิจารณาตามที่จำเลยร้องขอ
ล่าสุด นายณัฐวุฒิให้สัมภาษณ์หลังจากเข้ารับฟังคำพิพากษาของศาลว่า ในวันนี้มีจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 5 จำเลยที่ 6 และ จำเลยที่ 7 เดินทางมาศาล แต่เนื่องจากว่าจำเลยที่ 4 คือนายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ มีอาการป่วย ต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลลาดพร้าว มีใบรับรองแพทย์ยื่นคำร้องต่อศาลผ่านทนายความว่าไม่สามารถเดินทางมาศาลได้
ซึ่งศาลได้พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 4 ไม่สามารถเดินทางมาศาลเพื่อรับฟังคำพิพากษาและมีใบรับรองแพทย์ปรากฏชัด จึงเห็นสมควรให้เลื่อนวันนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีนี้ ไปเป็นวันที่ 23 ก.ย. 2562 เมื่อถึงวันนัดดังกล่าวก็จะเดินทางมาศาลเพื่อรับฟังคำพิพากษาต่อไป