4 โมงตรงเป๊ะ 2 สาววัยกลางคน ลูกเรือจากสายการบินแห่งชาติของเยอรมนี มายืนรออยู่หน้าตึกแถวกรุกระจกรอบด้าน ในซอยเล็กๆ ตรงข้ามวัดโพธิ์ ช่วงต้นฝนปลายร้อนเช่นนี้ ถนนมหาราชด้านนอกพลุกพล่านด้วยจำนวนนักท่องเที่ยว แต่เมื่อพาตัวเองก้าวเท้าเข้าสู่ซอยท่าเตียน มันก็เหมือนจะกลายเป็นอีกโลกหนึ่ง
คลอเดียร์ เบิร์ซ (Claudia Berze) และเรเน่ เพ็ชแมนน์ (Rene Pechmann) คือชื่อของ 2 สาวจากแฟรงก์เฟิร์ต พวกเธอจะใช้เวลาอยู่กรุงเทพฯ เพียงแค่ 2 วัน อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาหลายชั่วโมงอันแสนมีค่าสำหรับการนอนหลับพักผ่อน พวกเธอกลับเลือกจะใช้มันกับการเข้าครัว ‘เรียนทำอาหารไทย’ ในคลาสที่ทั้งคู่รับคำแนะนำมาจากบอร์ดลูกเรือของสายการบินลุฟท์ฮันซา (Lufthansa) ซึ่งหลายคนจะมาร่วมแชร์ประสบการณ์ หรือสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจในประเทศต่างๆ ที่เดินทางไปทำงาน
‘เคลย์ พ็อต ไทย คุกกิ้ง เมท’ (Clay Pot Thai Cooking Mate) เป็นโรงเรียนสอนทำอาหารขนาดเล็กๆ ของ ‘แอนดี้ - อภิเดช จันทรภูมิง’ หนุ่มวัย 27 ผู้มีผิวสองสี สูงกลางๆ และใบหน้าโดดเด่นด้วยสันกรามชัด เขาเป็นอดีตนักศึกษาภาควิชาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยย่านท่าพระจันทร์ และเคยสวมหมวกเป็นนักสื่อสารมวลชนมาหลายปี ก่อนจะผันตัวไปเป็นมาร์เก็ตติ้ง แต่ด้วยเนื้องานที่ไม่โดนใจนัก บวกกับด้วยแพสชั่นที่ชื่นชอบการทำอาหาร ชอบออกเดินทางท่องเที่ยว และพูดคุยกับผู้คนจากหลากมุมทั่วโลก ทำให้ปัจจุบันเขาเลือกหันมาเปิดคุกกิ้งสตูดิโอของตัวเอง โดยทำหน้าที่เป็นผู้สอนการปรุงอาหารไทยให้กับชาวต่างชาติ
“กลัวฝนจะตกเหมือนกัน แต่วันนี้ไม่น่าหรอก” แอนดี้หันมาบอกกับทีมงาน Voice OnBeing ซึ่งขอตามติดการเรียนการสอนของเขาด้วยน้ำเสียงติดกังวลนิดหน่อย ก่อนจะหันไปสนทนากับ 2 นักเรียนสาวของเขา
ความจริงการจะเรียก ‘เคลย์ พ็อต ไทย คุกกิ้ง เมท’ ว่า ‘โรงเรียนสอนทำอาหาร’ คงทำได้ไม่เต็มปากนัก เพราะขนาดตัวแอนดี้เองก็ยังมิเคยเรียกตัวเองว่า ‘เชฟ’ หรือ ‘ครู’ แต่ด้วยแพสชั่นตลอดหนึ่งปีครึ่งที่ผ่านมา เขาลงมือทำธุรกิจด้วยความต้องการอยากจะสร้างประสบการณ์ พร้อมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมร่วมกับนักท่องเที่ยว ผ่านการเข้าครัวสอนปรุงอาหารไทย อาหารจานอร่อยที่โดนใจคนทั่วโลก ทั้งในแง่รสชาติ และสีสันหน้าตา
“เราอยากให้เขารู้สึกเหมือนมาทำอาหารอยู่บ้านเพื่อน แล้วกินข้าวร่วมกัน” แอนดี้เกริ่นถึงไอเดียแรกเริ่ม
“ผมสอน 2 คลาสต่อวันครับ 10 โมงเช้าแล้วก็กินอาหารกลางวันด้วยกัน แล้วก็ 4 โมงเย็น ทานอาหารเย็นด้วยกัน” ชายหนุ่มอธิบายรายละเอียดของคลาส ก่อนเลื่อนกระดาษเอ 4 เคลือบพลาสติกหลายๆ ใบส่งมาให้ดู
“มีลิสต์รายการอาหารให้ 10 กว่าอย่าง ผัดซีอิ๊ว มัสมั่น ต้มข่าไก่ ต้มยำ แกงเขียวหวาน แพนง ผัดกะเพรา ลาบ ส้มตำ ผู้เรียนจะตัดสินใจเลืือกทำอาหารร่วมกัน 3 เมนู จากนั้นทุกคนจะไปจ่ายตลาดกัน ส่วนเราจะพาพวกเขาไปดูตลาดสด สอนวิธีการเลือกวัตถุดิบ ว่ายังไงสด ยังไงใหม่ แล้วก็อธิบายให้พวกเขาฟัง เช่น เคล (Kale) บ้านเขามันต่างกับผักคะน้าบ้านเรายังไง”
สำหรับคลาสวันนี้ 2 นักเรียนสาวสัญชาติเยอรมันเลือกทำมัสมั่นไก่ ส้มตำ และอีกหนึ่งเมนูที่พวกเธอไม่เคยรู้จักมาก่อนอย่าง ผัดซีอิ๊ว
เมื่อได้เวลา แอนดี้จัดแจงแจกถุงกระสอบสีสันสดใสให้คนละใบ ก่อนพาผู้เรียนออกเดินเป็นระยะทางราว 1 กิโลเมตร เลียบถนนมหาราชเรื่อยๆ ไปจนจรดปากคลองตลาด ที่แม้จะเลื่องชื่อเรื่องตลาดดอกไม้สด แต่ก็มีตลาดสดขนาดไม่เล็ก ไม่ใหญ่ แทรกตัวอยู่ในชุมชน และเป็นคลังอาหารที่มีความหมายแก่ปากท้องของผู้คนละแวกนั้นอย่างยิ่ง
แอนดี้ชวน 2 สาวคุยตั้งแต่เรื่องอาชีพของพวกเธอ ไล่ไปจนถึงเรื่องรถเข็นขายอาหารริมข้างทาง วัฒนธรรมอันแตกต่างที่ทำให้เบิร์ซ และเพซแมนน์ เกิดคำถามมากมาย ส่วนตัวแอนดี้ก็ตอบฉะฉานด้วยภาษาอังกฤษคล่องแคล่ว ประดับด้วยรอยยิ้มตลอดเส้นทาง
ทางเข้าตลาดสดตรงหัวมุมถนนจักรเพชร เฉอะแฉะตามแบบฉบับที่มันควรจะเป็น 2 สาวเดินตามติดแอนดี้ด้วยความสนใจ แม้ตลาดสดยามบ่าย 4 โมงครึ่งจะมีร้านรวงเปิดอยู่ไม่มากนัก แต่ก็มีวัตถุดิบสำคัญขายครบทุกอย่างต่อการประกอบอาหารสักหนึ่งมื้อ เพ็ชแมนน์ยกมือถือถ่ายภาพตั้งแต่ทางเข้า ยันเครื่องแกงแห้งที่เย็บแม็กขายถุงละ 5-10 บาทบนแผง ขณะที่เบิร์ซให้ความสนใจกับผักเมืองร้อนหลากชนิด ซึ่งเธอไม่เคยพบเห็นมาก่อน
“พาเขาไปดูวิถีชีวิต ไปดูตลาด เขาจะเกิดคำถามว่า ปกติคนไทยไปตลาดสดแบบนี้เหรอ ปกติมีซูเปอร์มาร์เก็ตไหม เราก็จะได้พูดคุยตอบคำถามระหว่างทางไปตลาด เกิดการละลายพฤติกรรมไปในตัว”
หลังจากเสร็จภารกิจการเดินตลาด แอนดี้พา 2 นักเรียนของเขาเดินกลับไปยังคุกกิ้งสตูดิโอง ก่อนบรรยายถึงขั้นตอนต่อไปว่า จะต้องลงมือทำอะไรบ้าง แล้วปล่อยให้ทั้งคู่ล้างผัก ปอกเปลือก และเตรียมยกวัตถุดิบมายังสเตชันของตัวเอง
“บางคนออกตัวก่อนเลยว่า ฉันไม่ได้ทำกับข้าวบ่อย นี่อาจจะเป็นครั้งที่ 2 หรือ 3 ที่ทำกับข้าวกินเอง เราก็บอกว่าไม่ต้องห่วง ค่อยๆ ทำไป เราจะเป็นผู้ช่วย ไม่ได้สั่งให้เขาต้องทำ 1 2 และ 3 แต่ให้เขาลอง ให้ได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง” แอนดี้บอก
กรรมวิธีทำอาหารเป็นไปตามขั้นตอนอย่างถูกหลักการ วิธีการหั่น หรือกระทั่งวิธีการใช้ความร้อนในการต้มกะทิ แม้แอนดี้จะออกตัวแต่แรกว่า เขาไม่ได้เรียนจบเชฟมาแต่อย่างใด ความน่าสนใจคือ วิธีการสอนของเขา ที่ไม่มีการให้มานั่งช็อตโน้ตจดสูตร หรือฟังทฤษฎีเกี่ยวกับการต้ม หั่น ผัด ซอย ใดๆ เขาเล่าทุกเรื่องที่นักเรียนของเขาอยากรู้ตลอดเวลาที่อยู่ด้วยกัน ทำให้ดู และให้ทำตาม
ราว 1 ชั่วโมงเศษ จานอาหารหน้าตาน่ารับประทาน 3 เมนูถูกยกมาเสิร์ฟในถ้วยจานดินเผา ตรงกับคอนเซ็ปต์ชื่อคุกกิ้งสตูดิโอของแอนดี้ 2 สาวยิ้มดีใจก่อนจะยกมือถือกดถ่ายผลงานฝีมือตัวเอง
ทุกคนนั่งลงรับประทานอาหารพร้อมกันตามคำเชิญของแอนดี้ และลูกเรือทั้ง 2 แอนดี้ผู้เป็นเจ้าบ้านแวบไปปอกมะม่วง เพื่อทำเมนูข้าวเหนียวมะม่วงเพิ่มเป็นขนมหวานสำหรับนักเรียนของตัวเอง ซึ่งช่วยให้มื้ออาหารสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น
“ฉันชอบอาหารไทย เพราะความสดชื่นของมันค่ะ” เบิร์ซบอกด้วยรอยยิ้ม “มันเป็นรสชาติที่หาไม่ได้ในอาหารชาติเรา”
“แน่นอนว่า ฉันจะบอกต่อเกี่ยวกับสตูดิโอของแอนดี้ในบอร์ดของลูกเรือลุฟท์ฮันซา ถ้ามีโอกาสฉันจะกลับมาอีกแน่นอ” เพ็ชแมนน์เสริม
หลังจากจบมื้ออาหาร เจ้าบ้านเรียกรถรับ-ส่งผ่านแอปพลิเคชัน เพื่อพา 2 สาวกลับโรงแรมย่านสุขุมวิท แม้จะเหนื่อยจากการงานมาทั้งวัน แต่ตามสไตล์คนพลังงานเหลือล้น แอนดี้ส่งรอยยิ้มพร้อมบอกว่า พร้อมแล้วกับการนั่งพูดคุยต่อกับ Voice OnBeing ในสตูดิโอที่ยังกรุ่นด้วยกลิ่นอาหาร
“เชื่อไหม ทึ่งมาก ในมุมมองคนไทยคนทำอาหารคือ ผู้หญิง แต่กลายเป็นส่วนใหญ่ต่างชาติเป็นผู้ชายมาเรียนเยอะมาก ต่อมาถึงจะเริ่มมีเท่ากันแบบ 50-50” แอนดี้เปรยขึ้นทันที แชร์ประสบการณ์ของเขาตลอดระยะเวลาที่ปลุกปั้นธุรกิจมา ตั้งแต่ 1 ปีครึ่งที่แล้ว ที่มันยังเป็นแค่ไอเดียในหัว
เมื่อถามต่อว่า ส่วนใหญ่ลูกค้าเป็นใครบ้าง? แอนดี้ตอบว่า มีทุกอายุ ทุกชาติ ทุกรูปแบบ ทั้งเด็กวัยรุ่นมาเที่ยวหาประสบการณ์ช่วงรอยต่อระหว่างมัธยมปลาย และมหาวิทยาลัย คู่รัก หรือกระทั่งคนเกษียณแล้วมาพักร้อนใช้ชีวิต รวมถึงครอบครัวที่พาเด็ก 7 ขวบมาทำอาหารด้วยกัน
“เคยรับเยอะสุด 150 คนต่อ 1 เดือน” แอนดี้บอก “ส่วนผัดไทเป็นจานเบสิกที่ถูกเลือกบ่อยสุด แต่เราก็บอกลูกค้าทุกคนว่า ‘แอนดี้กินผัดไทเยอะมากนะต่อวัน’ เรามี 2 คลาสต่อวันใช่ไหม บางวันกินผัดไท 2 จาน เกือบจะเป็นคนกินผัดไทมากสุดในโลกแล้ว (หัวเราะ) เราเข้าใจนะว่า เขาไม่กินเผ็ดเหมือนบ้านเรา ผัดไทเป็นอาหารสำหรับปรับตัว เป็นอาหารมื้อแรกที่สามารถปรับระบบย่อย ท้องไส้ของเขาได้ มันรสไม่จัด ทานง่าย ซึ่งการเลือกทำมันก็ไม่ได้ง่ายนะ แต่เขาก็อยากจะกลับไปทำเองที่บ้านด้วย เพราะบ้านเขาเมนูผัดไทก็มีชื่อเสียง”
แอนดี้เล่าต่อว่า ธุรกิจของเขาเป็นส่วนหนึ่งในเทรนด์ใหม่ที่ผุดขึ้นทั่วโลก นั่นคือ ‘การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์’ หรือการท่องเที่ยวที่เน้นประสบการณ์ ความรู้ การได้สัมผัสผู้คน ท้องถิ่น และทำกิจกรรมร่วมกัน ซึ่งแตกต่างจากการท่องเที่ยวเดิมๆ ที่เน้นสถานที่ ชื่อเสียง ถ่ายรูป และโพสต์ลงบนโซเชียลมีเดีย
“ส่วนตัวผมไม่ได้จบเชฟโดยตรง เพราะฉะนั้นต้องสร้างความแตกต่าง และจุดขาย สิ่งที่ผมมองว่าเป็นจุดขายคือ นอกจากแพสชั่นในการสอนทำอาหารที่ต้องมีแล้ว ผมต้องการแบ่งปันประสบการณ์เรื่องของวัฒนธรรมการกิน หรืออาหารไทยให้กับคนที่เข้ามา” ซึ่งในฐานะนักศึกษาด้านประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม ตลอดจนการได้ใช้ชีวิตในหลายพื้นที่ ทั้งในและนอกประเทศ เขามีความรู้พร้อมจะส่งมอบ
แอนดี้อ้างอิงตัวเลขว่า ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวเฉลี่ยปีละ 40 ล้านคน หลายคนมาครั้งแรก แล้วกลับมาอีก พวกเขาต้องการประสบการณ์การท่องเที่ยวที่แตกต่างออกไป
“เราแชร์เรื่องอาหาร และวัฒนธรรมไทย มันเป็นการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์แบบหนึ่ง ในการท่องเที่ยวยุคใหม่ นักท่องเที่ยวบางคนเขามาไทยไม่ต่ำกว่า 5-6 รอบ เขาต้องการความแปลกใหม่ เขาคงไม่ไปวัดเดิมๆ ทุกครั้งที่มา การท่องเที่ยวลักษณะนี้จึงเกิดขึ้น สร้างกิจกรรมใหม่ๆ เพื่อเอ็นเตอร์เทนนักท่องเที่ยวที่เข้ามา”
ปัจจุบัน เคลย์ พ็อต ไทย คุกกิ้ง เมท รับบุ๊กกิ้งจากออนไลน์เป็นหลัก ผ่านช่องทางหลากหลายเว็บไซต์ ทั้งแอร์บีเอ็นบี (Airbnb) รวมไปถึงทริปแอดไวเซอร์ (TripAdvisor) เพื่อนคู่คิดนักเดินทางทั่วโลก แอนดี้แจกแจงด้วยว่า โลกยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีทำให้ทุกอย่างรวดเร็ว และสะดวกสบาย คนเข้าถึงข้อมูลหลากหลายมากขึ้น การเดินทางข้ามโลกก็ราคาถูกลง มีสายการบินโลว์คอสเกิดขึ้นมากมาย นั่นคือปัจจัยหลากหลายทำให้การท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์มีตลาดที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ และมีลูกค้ากลุ่มเฉพาะ (Niche Market) พร้อมจะมาลองตามรีวิวอันน่าประทับใจ
การท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ไม่ได้หมายถึงแค่สตูดิโอสอนทำอาหารอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงธุรกิจนำปั่นจักรยานทัวร์ชุมชนริมคลองย่านตลิ่งชัน การเข้าคลาสสอนทำผ้าปาเต๊ะที่ภาคใต้ ศึกษาวิธีการทำบาตรพระที่ชุมชนบ้านบาตร ฯลฯ เหล่านี้ล้วนแต่เป็นการนำวิถีชีวิต และวัฒนธรรมที่มีอยู่อย่างยาวนาน ยกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยว
“เป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กันทั่วโลก อย่างที่ญี่ปุ่นมีคลาสสอนตีกลองแบบญี่ปุ่น (ไทโกะ) ด้วย”
บอกได้เลยว่า ความตั้งใจของแอนดี้ที่ต้องการทำให้ตึกแถวเล็กๆ ห้องหนึ่ง เป็นเหมือนบ้านเพื่อนมันประสบความสำเร็จแล้ว เพราะเรานั่งคุยกับเขาระหว่างรอฝนหยุดตกได้ไม่รู้จบ ไม่ว่าจะด้วยบรรยากาศ หรือพลังงานในการสร้างสรรค์ของแอนดี้เองก็ตาม
แอนดี้เล่าเรื่องโน้น นี้ นั้น แล้ววกกลับมาถึงตอนเริ่มต้นทำคุกกิ้งสตูดิโอแห่งนี้ด้วยว่า จริงๆ แล้วเขาไม่คิดว่าจะมาได้รับการตอบรับดีขนาดนี้
“ตอนเปิดใหม่ๆ อย่าว่าแต่คนในตลาดจะงงเลย ชุมชนรอบข้างผมแรกๆ เขายังสงสัยว่า มันจะเป็นไปได้เหรอ? คุณทำอะไรน่ะ? ซึ่งที่เรารีเสิร์ชก่อนหน้านี้ เรามองเห็นความเป็นไปได้แล้วจึงทำ โดยไม่ได้ฟังเสียงชุมชนรอบๆ ข้างมากนัก เพราะเขามีไอเดียอีกแบบหนึ่งที่เขาจะมองไม่เห็นว่า มันเป็นไปได้ แต่พอเราทำจริง ทุกคนก็แบบ เฮ้ย! มันเป็นไปได้ว่ะ มันประสบความสำเร็จนะ มีลูกค้ามาตลอดเลย” หนุ่มผิวแทนหัวเราะชอบใจ
“จากที่พ่อแม่เคยโทร. มาบอกให้หยุดได้แล้ว ไปสมัครราชการสิ พ่อแม่ก็เลิกทำแบบนั้นแล้ว เพราะเขาเห็นว่าเราทำได้”
“จริงๆ แล้วการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์เป็นการสร้างรายได้จากการพึ่งพากันด้วย (Sharing Economy) รายได้จากเรากระจายไปสู่ชุมชน” แอนดี้ยกตัวอย่างต่อว่า การสอนทำอาหารของเขา ไม่ใช่ธุรกิจที่เขาได้คนเดียว ราคาค่าเรียนต่อหนึ่งหัวที่ 1,400 บาท เขานำรายได้ดังกล่าวไปจับจ่ายซื้อของที่ตลาด ซื้อเครื่องแกง ซื้อผัก ซื้อหมู ซื้อเครื่องปรุง ซื้อข้าวเหนียว และมะม่วง
“เกิดการแบ่งปันจริงๆ กับชุมชนรอบๆ เราจริงๆ”
ดังนั้น ความฝันถัดไปของแอนดี้ คือการกลับบ้านเกิด เขามีไอเดียอยากทำโฮมสเตย์ที่บึงกาฬ โมเดลคล้ายๆ กัน เน้นลูกค้าชาวต่างชาติที่อยากแลกเปลี่ยนประสบการณ์แตกต่าง และหลากหลาย กับคนในชุมชนแถวนั้น
“เราจะครีเอทกิจกรรมแบบนี้แหละ อาจจะให้ไปสอนภาษาเด็ก ให้เด็กในชุมชนมีความกล้าที่จะสื่อสารหรือใช้ภาษามากขึ้น”
แม้ไม่รู้จะเป็นไปได้หรือไม่ แต่แอนดี้ขอวาดฝันไว้ก่อน
พอดีกับที่ฝนหยุดตก เราขอตัวลากลับ ส่วนแอนดี้ขอตัวไปจัดการสะสางสิ่งที่คั่งค้างในครัวให้เสร็จเรียบร้อย เขาร่ำลาเราด้วยรอยยิ้ม พร้อมย้ำคำเดิมๆ อีกครั้งว่า ให้แวะมาใหม่ ‘บ้านเพื่อนยินดีต้อนรับเสมอ’