งานวิจัยก่อนหน้าในปี 2018 จากมหาวิทยาลัยฮาวาย พบว่า พลังงานไฟฟ้าจำนวนมหาศาลที่ใช้ในการโอนถ่ายคริปโตเคอร์เรนซี หรือเงินดิจิทัลอย่างบิทคอยน์นั้น อาจทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นถึง 2 องศาเซลเซียสในปี 2033 ซึ่ง 2 องศาที่แตกต่างอาจทำให้ปริมาณน้ำในบางพื้นที่อย่างแอฟริกา หรือแถบเมดิเตอเรเนียนลดลงถึง 30 เปอร์เซ็นต์ ทำให้หมีขั้วโลกเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ และผู้คนกว่า 10 ล้านได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมพื้นที่ชายฝั่ง
เนื่องจากบิทคอยน์นั้นไม่มีเซิร์ฟเวอร์ศูนย์กลางหนึ่งเดียวแบบธนาคาร หรือรัฐบาล การทำธุรกรรมผ่านบิทคอยน์แต่ละครั้งนั้น คอมพิวเตอร์จำนวนมหาศาลทั่วโลกจะประมวลผลสมการทางคณิตศาสตร์ เพื่อยืนยันรายการโอนต่างๆ ตลอดเวลา โดยการประมวลผลที่ว่าซึ่งมีค่าตอบแทนเป็นบิทคอยน์นี่เองที่เรียกว่าการขุดบิทคอยน์
กล่าวได้ว่า การขุดบิทคอยน์เกิดขึ้นทุกครั้งที่มีการโอนบิทคอยน์ การขุดที่ต้องใช้ชิปประมวลจำนวนมากของนักขุดทั่วโลกนี้ย่อมใช้พลังงานมหาศาล และโรงงานขุดบิทคอยน์ก็มักใช้พลังงานถ่านหินราคาถูกเป็นแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้าสำหรับเครื่องประมวลผลเพื่อขุดบิทคอยน์ การทำธุรกรรมผ่านบิทคอยน์จึงเป็นที่มาของการใช้พลังงานไฟฟ้าจำนวนมหาศาลซึ่งก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก
ในงานวิจัยล่าสุดที่เผยแพร่ผ่านวารสารจูล (Joule) เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2562 อเล็กซ์ เดอ ฟรีส์ (Alex de Vries) ผู้ชำนาญการพิเศษด้านบล็อกเชนจากบริษัท PwC ประเมินว่า การทำธุรกรรมผ่านบิทคอยน์แต่ละครั้งใช้พลังงานระหว่าง 491 ถึง 765 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง (1 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง = 1 ยูนิต เครื่องปรับอากาศกินไฟชั่วโมงละประมาณ 1 ยูนิต) ซึ่งสูงมากเมื่อเทียบกับการโอนเงินที่ไม่ใช่เงินสดด้วยระบบของธนาคารปกติ ซึ่งใช้พลังงานเฉลี่ย 0.4 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง
แม้จะไม่สามารถประมาณได้ว่าการขุดบิทคอยน์นั้นใช้พลังงานเท่าไร เนื่องจากไม่สามารถทราบแน่ชัดว่าขณะนี้ในโลกมีเครื่องประมวลผลที่ใช้ขุดบิทคอยน์ทั้งหมดกี่เครื่อง แต่จากการประมาณการณ์ด้วยรางวัลที่มีผู้ได้รับจากการขุดบิทคอยน์ พบว่าในปี 2018 ทั้งระบบมีการใช้พลังงานในการขุดอย่างน้อย 40.0 เทราวัตต์ต่อชั่วโมง (1 เทราวัตต์ต่อชั่วโมง = 1 พันล้านกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง) และอาจสูงสุดถึง 62.3 เทราวัตต์ต่อชั่วโมง ซึ่งเทียบเท่าได้กับปริมาณการใช้ไฟตลอดทั้งปีของประเทศฮังการี (40.3 เทราวัตต์ต่อชั่วโมง) และประเทศสวิตเซอร์แลนด์ทั้งประเทศ (62.1 เทราวัตต์ต่อชั่วโมง)
นอกจากนี้ ในปี 2018 พลังงานที่บิทคอยน์ใช้ ยังก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 19.0 ถึง 29.6 ล้านเมตริกตัน คาร์บอนฟุตพรินต์ของคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดในการทำธุรกรรมแต่ละครั้งเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ 233.4 ถึง 363.5 กิโลกรัม ขณะที่การทำธุรกรรมด้วยวีซ่านั้นอยู่ที่ 0.4 กรัม ต่อครั้ง และการเซิร์ชข้อมูลด้วยกูเกิลอยู่ที่ 0.8 กรัมต่อครั้ง
ข้อโต้แย้งประการหนึ่งที่มักถูกยกมาอ้างคือ โรงงานขุดบิทคอยน์จำนวนมากตั้งอยู่ในพื้นที่ๆ มีการใช้พลังงานทดแทนราคาถูก อย่างเช่นการประมาณการณ์ว่า 48 เปอร์เซ็นต์ของกำลังการขุดทั้งโลกอยู่ที่มณฑลเสฉวน สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งมีไฟฟ้าจากพลังน้ำเหลือใช้มากมาย
ทว่าเดอฟรีส์ชี้ว่า กำลังการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำของเสฉวนในช่วงฤดูที่มีฝนนั้น สูงกว่าในฤดูกาลที่อากาศแจ่มใสถึง 3 เท่า แม้เหล่านักขุดบิทคอยน์จะมีโอกาสใช้ไฟฟ้าพลังน้ำที่เหลือเฟือเหล่านั้นในช่วงเวลาหนึ่ง แต่ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจากการขุดไม่ขึ้นกับฤดูกาล ส่งผลให้ในช่วงแล้งฝนความต้องการใช้ไฟฟ้าส่วนเกินนี้มักจะต้องใช้พลังงานไฟฟ้าจากถ่านหินแทน
ดังนั้น การใช้พลังงานทดแทนจึงยังคงไม่ได้แก้ไขปัญหามลพิษจากบิทคอยน์ รวมถึงไม่อาจแก้ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดขึ้นหลังชิปประมวลผลที่ใช้ในการขุดบิทคอยน์ตกรุ่นไปอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม เดอฟรีส์อธิบายว่า เทคโนโลยีบล็อกเชนที่บิทคอยน์ใช้นั้น โดยตัวมันเองไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมีนัยสำคัญ แต่อัลกอริทึมกระบวนการใช้กำลังการประมวลผลอย่างสุดโต่งแบบ Proof of Work ที่ใช้อยู่ (ระบบที่เครื่องประมวลผลของนักขุดทั่วโลกจะแข่งขันกัน และผู้ขุดคนแรกที่แก้ไขสมการทางคณิตศาสตร์ของบล็อกนั้นๆ ได้สำเร็จก็จะได้คริปโตเคอร์เรนซีนั้นไป) ไปใช้กระบวนการแบบ Proof of Stake (ไม่มีการขุด แต่เลือกเครื่องประมวลผลที่มีสัดส่วนถือสกุลเงินนั้นๆ มากเป็นตัวยืนยันธุรกรรม ได้รับค่าธรรมเนียมตอบแทน และริบสิทธิการครอบครองเหรียญเมื่อมีการทำผิดกฎ) ซึ่งใช้โดยคริปโตเคอร์เรนซีบางสกุลอย่างแดช (Dash) หรือเอ็นเอ็กซ์ที (NXT) และแม้แต่เงินสกุลใหญ่อย่างอีเธอเรียม (Ethereum) ก็พิจารณาที่จะใช้ Proof of Stake ควบคู่ไปกับ Proof of Work เช่นกัน
อ้างอิง :