ลีออง โกติเยร์ เข้าประจำการร่วมกับหน่วยคอมมานโดนาวิกโยธินฝรั่งเศส ซึ่งเป็นหน่วยเดียวของกองทหารฝรั่งเศสอิสระ ที่ยกพลขึ้นบกในช่วงวัน D-Day เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2487 โดยในเวลาต่อมา โกติเยร์ได้เรียกสงครามในวันนั้นว่าเป็น "ความทุกข์ยาก" ที่ "ลงเอยด้วยการมีแม่หม้ายและเด็กกำพร้า"
เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส กล่าวถึงโกติเยร์และสหายร่วมรบของเขาว่าเป็น "วีรบุรุษแห่งการปลดปล่อย" พร้อมกันนี้ มาครงทวีตข้อความลงบนทวิตเตอร์ว่า “เราจะไม่ลืมเขา” ในขณะที่ โรมังน์ บายี นายกเทศมนตรีภูมิภาค กล่าวยกย่องว่าโกติเยร์เป็น "วีรบุรุษในท้องถิ่นที่ทุกคนรู้จัก" และเป็น "ผู้ปกป้องเสรีภาพอย่างขะมักเขม้น"
โกติเยร์เกิดที่เมืองแรนส์ แคว้นบริตตานีทางตะวันตกเฉียงเหนือของฝรั่งเศส และสมัครเป็นทหารในกองทัพเรือฝรั่งเศส ตั้งแต่เขายังเป็นวัยรุ่นไม่นานหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เริ่มต้นขึ้น เนื่องจากเขายังเด็กเกินกว่าจะเข้าร่วมกองทัพบกฝรั่งเศส
ในเวลาต่อมา โกติเยร์หลบหนีไปยังสหราชอาณาจักรในปี 2483 ก่อนที่กองกำลังของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำเผด็จการนาซีเยอรมนี จะกวาดล้างด้วยกองกำลังของตัวเองไปทั่วยุโรปตะวันตก รวมทั้งฝรั่งเศส โดยในกรุงลอนดอน โกติเยร์เข้าร่วมขบวนการฝรั่งเศสเสรี ที่ทำหน้าที่รักษารัฐบาลพลัดถิ่น และกองทัพที่ประสานงานกับพันธมิตรเพื่อต่อต้านนาซีเยอรมนี
โกติเยร์เข้าร่วมการสู้รบในคองโก ซีเรีย และเลบานอน ก่อนเข้าร่วมหน่วยทหารปืนไรเฟิลนาวิกโยธินที่รู้จักกันในนามหน่วยคอมมานโดคีเฟอร์ ซึ่งได้รับการฝึกในที่ราบสูงของสกอตแลนด์
ระหว่างการรบเพื่อยึดคืนนอร์มังดี หน่วยรบกว่าครึ่งของหน่วยรบฝรั่งเศสเสรี 177 นายที่มีโกติเยร์ร่วมอยู่ด้วยถูกสังหาร ทั้งนี้ ในการยกพลขึ้นบกเมื่อวัน D-Day โดยกองกำลังพันธมิตรของสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และแคนาดา ได้เริ่มการโจมตีที่กินเวลานาน 11 เดือน โดยในที่สุด ยุทธการณ์ดังกล่าวได้นำไปสู่ความพ่ายแพ้ของนาซีเยอรมนีและการปลดปล่อยยุโรปที่ถูกยึดครอง
หลังจากสงครามจบลง และเข้าสู่ช่วงบั้นแปลายชีวิต โกติเยร์ได้ตั้งรกรากในเมืองท่าอุยสเตรฮัมของนอร์มังดี และกลายเป็นนักรณรงค์เพื่อสันติภาพ
“ไม่นานมานี้... ผมคิดว่าบางทีผมอาจฆ่าเด็กหนุ่ม” โกติเยร์กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์ในปี 2562 ขณะอายุ 96 ปี "บางทีผมอาจจะทำให้เด็กคนหนึ่งเป็นกำพร้า บางทีผมอาจจะทำให้ผู้หญิงคนหนึ่งเป็นหม้าย หรือทำให้คนเป็นแม่ร้องไห้... ผมไม่อยากทำอย่างนั้น ผมไม่ใช่คนเลว"
ที่มา: