ไม่พบผลการค้นหา
ภาคี SAVEบางกลอย จี้ 'ประยุทธ์' ปลด 'วราวุธ ศิลปอาชา' จากประธานแก้ปัญหา เหตุ!เป็นปฏิปักษ์กับชาวบ้านมาแต่ต้น

ภาคี SAVEบางกลอย นำโดย ธัชพงศ์ แกดำ แกนนำและเครือข่ายภาคสังคม นำโดย นายจำนงค์ หนูพันธ์ ประธานขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ 'พีมูฟ' ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กรณีแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยชาวกระเหรี่ยงบางกลอย 

และขอให้ถอด วราวุธ ศิลปอาชา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน รวมทั้งการพัฒนาและฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่บ้านบางกลอย อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้งมาแทน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่พ้นจากตำแหน่งไปก่อนหน้านี้ 

โดยมี อนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้มารับหนังสือ ด้านภาคีSAVEบางกลอย ให้เหตุผลว่า วราวุธ มีทัศคติเชิงลบและเป็นปฏิปักษ์ต่อการแก้ปัญหาบางกลอยมาโดยตลอด โดยยก 5 ข้อว่าทำไมจึงต้องพ้นจากตำแหน่งประกอบด้วย

1.) ไม่เคยมาพบหรือรับฟังปัญหาจากชาวบางกลอย ที่ได้เดินทางไปขอเข้าพบนายวราวุธ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพย์ฯ อย่างน้อย 3 ครั้งตั้งแต่ต้นปี

2.) วราวุธ รับฟังแต่ข้าราชการกระทรวง ที่ให้ข้อมูลที่ผิดพลาด เคยแถลงว่ามีชาวบ้านเพียง 6 % หรือประมาณ 80 คน ที่ยังไม่พอใจการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล ส่วนชาวบ้านอีก 90 กว่า% พอใจแล้ว ซึ่งถือเป็นการให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ 

3.) วราวุธ กล่าวเมื่อเดือนกุมภาพันธ์และในเดือนมีนาคมปีนี้ว่าปัญหาบางกลอยไม่ใช่เรื่องสิทธิมนุษยชน และประเทศไทยไม่มี ‘ชนเผ่าพื้นเมือง’ หรือ ‘indigenous people’ ซึ่งเป็นการลดทอนขบวนการเคลื่อนไหวของชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อทวงคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์กลับคืน 

4.) วราวุธ มีส่วนเกี่ยวข้องกับปฏิบัติการจับกุมชาวบ้านบางกลอย ละเมิด MOU ระหว่างรัฐบาลกับชาวบางกรวยเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ตกลงกันว่าให้ยุติการใช้กำลังเจ้าหน้าที่เข้าไปตั้งจุดตรวจและลาดตระเวนในหมู่บ้านบางกลอยล่าง รวมทั้งยุติการข่มขู่ คุกคาม หรือใช้ความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นกับชาวบ้าน 36 ครอบครัวที่กลับไปอยู่อาศัยและทำกินอยู่ที่บ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน แต่ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 นายวราวุธ ได้สั่งการให้มีปฏิบัติการยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร อันนำมาสู่การจับกุมชาวบางกลอยทั้งหมดในวันที่ 5 มีนาคม 2564 ซึ่งถือว่านายวราวุธถือเป็นคู่ขัดแย้งกับชาวบ้านตั้งแต่นั้นมา จึงไม่ควรมาเป็นกรรมการแก้ไขปัญหา

5.) วราวุธ ผลักดันมรดกโลกกลุ่มป่าแก่งกระจานจนได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2564 ท่ามกลางกระแสคัดค้านเรื่องละเมิดสิทธิมนุษยชนและความเดือดร้อนรวมถึงคดีความของกะเหรี่ยงบางกลอย ถือเป็นการไม่รับฟังเสียงของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งภาคีSAVEบางกลอย กังวลว่า การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกนั้นอาจเป็นการปิดประตูการแก้ปัญหาทั้งหมด โดยเฉพาะการกลับไปทำกินที่ถิ่นฐานดั้งเดิมของชาติพันธุ์กระเหรี่ยงบางกลอย

นอกจากนี้ยังได้มอบหนังสือสะท้อนปัญหาและความเดือดร้อนของตัวแทนกระเหรี่ยงบางกลอย ทั้งในเรื่องที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน การถูกดำเนินคดีและวิถีชีวิตรวมถึงชุมชนที่จะสูญสลายไป ให้แก่อนุชา ไว้ด้วย