ไม่พบผลการค้นหา
'จุรินทร์' ชี้ตำแหน่งประธานสภาฯ ขึ้นอยู่กับผลลงคะแนนที่ประชุมร่วม ไม่มีกฎว่าต้องเป็นพรรคใด หากคุณสมบัติเหมาะไม่เกี่ยงรุ่น

วันที่ 29 พ.ค. ที่กระทรวงพาณิชย์ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงประเด็นการเลือกประธานรัฐสภา ว่า ขึ้นอยู่ที่การลงคะแนนในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่าจะเลือกบุคคลใดเป็นประธานสภา โดยไม่มีกฎเกณฑ์ใดที่จะแน่นอนว่าต้องเป็นของพรรคการเมืองใดอย่างไร อยู่ที่เมื่อถึงเวลามีผู้เสนอชื่อให้เข้ารับเลือกตั้งเป็นประธานรัฐสภาในที่ประชุมกี่คน และที่ประชุมสภาก็ลงคะแนน เป็นข้อเท็จจริงที่เป็นเช่นนั้นมา

ส่วนที่เป็นห่วงว่าประธานรัฐสภาจะมีผลต่อการเลือกคนที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ตนมองว่ารัฐธรรมนูญและกฎเกณฑ์กติกาเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต ในอดีตเวลาจะมีการนำชื่อนายกรัฐมนตรีขึ้นทูลเกล้าฯ อยู่ที่พรรคการเมืองใดจะรวมเสียงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้มากเพียงใด และเรียนให้ประธานรัฐสภารับทราบและประธานตรวจสอบและนำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ 

"แต่ในปัจจุบันนี้รัฐธรรมนูญเปลี่ยนไป เพราะนายกรัฐมนตรีจะต้องเลือกลงคะแนนในที่ประชุมรัฐสภา คือที่ประชุมร่วมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา เพราะฉะนั้นจึงขึ้นอยู่กับผลการลงคะแนน บทบาทของประธานสภาฯ ในการนำชื่อนายกรัฐมนตรีขึ้นทูลเกล้าฯ ก็น้อยลง เพราะขึ้นอยู่กับผลการลงคะแนนในที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ต้องเป็นเช่นนั้น” จุรินทร์กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า จำเป็นหรือไม่ ที่ประธานสภาฯ จะต้องมาจากพรรคการเมืองที่ได้คะแนนมากที่สุดจุรินทร์ ตอบว่า อยู่ที่ผลการลงคะแนนในที่ประชุม ซึ่งที่ผ่านมาก็มีทั้งกรณีที่พรรคที่ได้คะแนนมาอันดับหนึ่ง และไม่ได้คะแนนมาอันดับหนึ่ง ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในแต่ละยุคสมัย กับผลการลงคะแนน

ผู้สื่อข่าวถามว่า ตำแหน่งประธานรัฐสภาควรจะเป็นบุคคลที่มีความอาวุโสหรือไม่ จุรินทร์ ระบุว่า คุณสมบัติของประธานรัฐสภาเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ว่าจะต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพราะหากไม่เป็น ก็เป็นประธานรัฐสภาไม่ได้อยู่แล้ว และคุณสมบัติ ส.ส. เป็นอย่างไรบ้างก็มีระบุให้ชัดเจน และต้องประกอบกับที่ประชุมเลือกมาเป็นลำดับหนึ่ง จะเป็นบุคบุคคลรุ่นไหนก็ได้ เป็นบุคคลที่มีศักยภาพและเป็นบุคคลที่สภาเลือกมา 

ผู้สื่อข่าวถามว่ามองว่าไทม์ไลน์การเลือกประธานสภาฯ จะเป็นช่วงไหน จุรินทร์ กล่าวว่า ตนไม่สามารถตอบได้ ต้องนับหนึ่งที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับรองสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสียก่อน หากมีการรับรองแล้วจึงจะเรียกประชุมรัฐสภาได้