เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 12 ก.พ. 2566 จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังเปิดศูนย์เลือกตั้งพรรคประชาธิปัตย์ เขตทวีวัฒนา เขตหนองแขม พร้อมเปิดตัว วัชระ เพชรทอง ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม. ว่า การเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้ พรรคประชาธิปัตย์ในฝั่งธนบุรีจะปักธงได้ภายใต้การสนับสนุนของพี่น้องชาวฝั่งธนบุรี ความจริงแล้วไม่ได้ต้องการจะแยก แต่ในอดีตเคยมีจังหวัดธนบุรี และพรรคประชาธิปัตย์มีผู้ก่อตั้งคนหนึ่งในปี 2489 คือ สอ เสถบุตร เป็น ส.ส. ฝั่งธนบุรี จึงถือว่าพรรคประชาธิปัตย์ก่อกำเนิดมาจากเลือดเนื้อเชื้อไขของพี่น้องชาวฝั่งธน ดังนั้นฝั่งธนบุรีจึงถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน และสำคัญต่อไปในอนาคต
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวอีกด้วยว่า สำหรับฝั่งธนบุรีในการเลือกตั้งครั้งที่แล้วมี 9 เขต แต่ในครั้งหน้าจะเพิ่มเป็น 10 เขต ขณะนี้พรรคมีผู้สมัครพร้อมเกือบจะทั้งหมดแล้ว รออีก 1 เขต ที่ กกต. จะประกาศความชัดเจน แต่อย่างน้อยเขตทวีวัฒนา หนองแขม พรรคประชาธิปัตย์จะส่ง วัชระ เพชรทอง ลงสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งถือว่าเป็นนักการเมืองที่มีศักยภาพ และมีคุณภาพคนหนึ่ง ที่ชาวฝั่งธนบุรีสามารถพึ่งพิงได้ เพราะเป็นอดีตผู้แทนมาแล้ว 2 สมัย เป็นนักกิจกรรมตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัย และยังมีบทบาทในพื้นที่มาอย่างสม่ำเสมอ ไม่เคยทิ้งพื้นที่แม้จะไม่ได้เป็นผู้แทนราษฎรก็ตาม ที่สำคัญเป็นคนที่มีอุดมการณ์มั่นคง ชัดเจนกับพรรคประชาธิปัตย์ จึงมั่นใจว่าเขตนี้จะเป็นเขตเป้าหมายอีกเขตหนึ่งของพรรคประชาธิปัตย์ ที่จะได้รับการสนับสนุนจากพี่น้องชาวหนองแขม ทวีวัฒนาในการเลือกตั้งที่จะมาถึง
ผู้สื่อข่าวถามถึงผลโพลที่คะแนน ส.ส. เขตของพรรคประชาธิปัตย์มาเป็นอันดับหนึ่ง แต่ในส่วนอันดับของหัวหน้าพรรคมาเป็นอันดับ 5 นั้น จุรินทร์กล่าวว่า ตนไม่ขอไปวิจารณ์โพล ไม่ว่าจะเป็นโพลไหนก็ตาม เพราะแต่ละโพลก็มีเป้าหมายที่แตกต่าง หรือเป็นของตัวเอง แต่สิ่งหนึ่งที่พูดได้ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ก็คือ เรามั่นใจในสิ่งที่เราได้ลงมือทำตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา และที่จะเดินหน้าทำต่อไปสำหรับพี่น้องชาวนครศรีธรรมราช
“ผมยังมั่นใจว่าการเลือกตั้งเที่ยวหน้า นครศรีธรรมราช 9 เขต 9 คน เราจะได้ยกทีมทั้งจังหวัด ได้ทั้งคะแนนคน คะแนนเขต และคะแนนพรรคมาเป็นที่หนึ่ง ผมยืนยัน ผมมั่นใจ ทีมงานของเราทุกคนก็มั่นใจในนครศรีธรรมราช” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าว
ถามว่าการที่มี ส.ว. ออกมาระบุว่า ในมือของ ส.ว. มี 250 เสียงเพื่อโหวตนายกรัฐมนตรี ตั้งตนเหมือนเป็นพรรคการเมืองนั้น นายจุรินทร์กล่าวว่า ตนก็ไม่ไปวิจารณ์ แต่มันยังติดค้างอยู่ในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ซึ่งเราก็พยายามแก้ไข เพื่อจะให้คนที่มีหน้าที่ในการลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีในสภา เป็นเฉพาะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่การเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้ก็ไม่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภา โดยเฉพาะร่างของพรรคประชาธิปัตย์ 1 ใน 6 ร่าง ก็มีเรื่องนี้อยู่ด้วย เมื่อไม่ผ่านก็ต้องถือว่ารัฐธรรมนูญยังเป็นกติกาเดิม ก็คือ ส.ว. ยังโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ จนกว่าจะมีการแก้ไขต่อไปในอนาคต
“เมื่อถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เที่ยวหน้าหลังการเลือกตั้ง ถ้ายังไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปจากนี้ จะโหวตอย่างไรนั้น ผมก็ไม่สามารถที่จะไปคาดการณ์ได้ แต่ถ้าเป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่ยังไม่แก้ ส.ว. ก็ยังมีอำนาจในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในที่ประชุมรัฐสภาอยู่ ร่วมกับ ส.ส. ส่วนจะเปรียบเสมือนพรรคการเมือง หรือไม่เปรียบนั้น ก็ถือว่าตามรัฐธรรมนูญ ส.ว. ก็ยังมีอำนาจโหวตอยู่ เราจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง แต่ประชาธิปัตย์นั้นชัดเจน เราได้เสนอแก้ไขไปแล้ว แต่มันไม่ผ่าน ก็สุดความสามารถ แต่ในอนาคตนั้น อะไรที่จะนำไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น ในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประชาธิปัตย์ก็ยังยืนอยู่จุดเดิม และพร้อมที่จะสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นใด เพื่อให้นำไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าว
จุรินทร์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราเห็นด้วยกับประชาชน จึงได้มีการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่บังเอิญว่าการแก้รัฐธรรมนูญนั้นทำได้ยากมาก นอกจากเสียงข้างมากในที่ประชุมรัฐสภาแล้ว ยังจะต้องมีเสียง ส.ว. ไม่น้อยกว่าเท่าไหร่ๆ ต้องมีเสียงฝ่ายค้านไม่ต่ำกว่ากี่เปอร์เซนต์ๆ อันนี้จึงเป็นเงื่อนไขบังคับที่ทำให้การแก้รัฐธรรมนูญนั้น ทำได้ยากมาก แล้วก็การแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ผู้เสนอจะต้องมีเสียงไม่ต่ำกว่า 1 ใน 5 หรือไม่ต่ำกว่า 100 ที่นั่ง แต่ประชาธิปัตย์มี 52 คน กว่าจะเสนอร่างแก้ไขเข้าสภาได้ ก็ต้องไปขอความช่วยเหลือจากพรรคการเมืองอื่น แต่พอเข้าสู่การพิจารณาก็ไม่ผ่านความเห็นชอบอีก แต่เราก็ไม่ละความพยายาม เรามีนโยบายแก้ไขรัฐธรรมนูญไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น ยังเป็นนโยบายสำคัญข้อหนึ่งในทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์
ส่วนที่ผู้สื่อข่าวถามถึงการที่ ส.ว. ออกมาประกาศว่า หากพรรคการเมืองไม่สามารถรวมเสียงได้ 370 เสียงขึ้นไป ก็ไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้ เพราะมีเสียง ส.ว. 250 เสียง ถือเป็นการไม่ให้เกียรติประชาชนหรือไม่ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีต้องใช้เสียง 375 เสียงขึ้นไป แต่แม้จะได้เป็นนายกฯ ถ้ายังไม่เข้าองค์ประกอบประการที่ 2 คือ มีเสียงข้างมากในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ก็เป็นได้แต่นายกฯ แล้วจะเป็นนายกฯ รัฐบาลเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทน ก็จะอยู่ไม่ได้ อยู่ยาก อยู่ได้ไม่กี่วัน พอถึงเวลาเสนอกฎหมาย ถ้ากฎหมายไม่ผ่านก็ต้องยุบสภา หรือลาออก หรือถ้าถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจก็ไปยาก
“ถ้าจะอาศัยแต่เสียงที่ประชุมร่วม ส.ส. กับ ส.ว. เกิน 375 หรือเกินกึ่งหนึ่งของ 750 เสียง เพื่อเป็นนายกฯ อย่างเดียว แต่เสียงในสภาไม่ถึงครึ่ง มันก็เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย ประวัติศาสตร์มันสอนเราอยู่แล้ว ประเทศไหนก็ตาม ก็ไปยาก มันต้องครบ 2 องค์ประกอบ” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าว
ส่วนแนวคิดเรื่องการปิดสวิตช์ ส.ว. จะเป็นไปได้หรือไม่นั้น หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เรื่องนี้ได้สะท้อนให้เห็นว่าแม้จะใช้ความพยายาม ก็ยังไม่ผ่านจนเดี๋ยวนี้ คำตอบมันมีของมันในตัวอยู่แล้ว
สำหรับการที่มีบางพรรคการเมืองจะขอไม่ร่วมอภิปรายทั่วไป โดยไม่ลงมติ ตามมาตรา 152 นั้น สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ โดย จุรินทร์ กล่าวว่า ประชาธิปัตย์จะเข้าร่วมประชุม ตนได้สั่งการไปแล้ว และเป็นหน้าที่ของเราในฐานะที่เป็นผู้แทนราษฎร เราต้องเข้าร่วมประชุม และเราสนับสนุนกระบวนการตรวจสอบในระบอบประชาธิปไตย
“เราเป็นนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตย เป็นพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตย เป็นฝ่ายบริหารในระบอบประชาธิปไตย ต้องไม่กลัวการตรวจสอบ ไม่ว่าใครตรวจสอบก็ตาม เพราะฉะนั้นแค่ญัตติอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ มันไม่ใช่เรื่องที่จะต้องไปหนีการตรวจสอบ ผมถึงเคยให้ความเห็นไปก่อนหน้านี้ว่า ถ้าจะยุบสภา จะยุบเมื่อไหร่ก็เป็นอำนาจนายกฯ แต่ไม่ควรมายุบก่อนญัตตินี้เข้าสภา เพราะมันจะกลายเป็นการหนีการตรวจสอบ หนีการอภิปราย ซึ่งนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยตัวจริงเขาไม่ทำกัน เราจะทำหน้าที่ของเรา ประชาธิปัตย์จะทำหน้าที่ของประชาธิปัตย์ แม้จะถูกอภิปราย ถูกตรวจสอบด้วย ก็ไม่มีปัญหา รัฐมนตรีของพรรคก็พร้อมชี้แจง มันเป็นวิถีทางประชาธิปไตย เพราะเราเป็นนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตย” ” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าว