ไม่พบผลการค้นหา
รู้จักตัวเต็ง ว่าที่นายหญิงคนใหม่แห่งเพนตากอน ผู้เสนอแผนจมทัพเรือจีนใน 72 ชั่วโมง

ชัดเจนว่า 'โจ ไบเดน' ต่อคิวขึ้นเป็น ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 46 ซึ่งสิ่งที่หลายฝ่ายจับตาต่อมาคือ นโยบายและท่าทีของสหรัฐฯ ที่จะมีต่อโลก ภายใต้ 'คณะบริหารไบเดน' ชุดใหม่ โดยช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่าที่ผู้นำสหรัฐฯ ทยอยเปิดเผยรายชื่อบุคคลที่ได้รับคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวง และหน่วยงานสำคัญต่างๆ 

หนึ่งในตำแหน่งสำคัญด้านความมั่นคงที่หลายฝ่ายจับตาคือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งในโผ ครม.ไบเดนจากการคาดการของสื่อสหรัฐฯ หลายสำนักนั้น มีชื่อของสตรีสองท่านที่อาจกลายเป็นนายหญิงคนใหม่แห่งเพนตากอน คือ 'ลัดดา แทมมี ดักเวิร์ธ' และ 'มิเชล โฟลวร์นอย' ไม่ว่าใครจะได้รับเลือกตำแหน่งนี้ จะถือเป็นรัฐมนตรีกลาโหมหญิงคนแรกของสหรัฐฯ


สายเหยี่ยวเพนตากอน

แต่ชื่อของ 'มิเชล โฟลวร์นอย' (Michèle Flournoy) วัย 59 ปี ถูกจับตามองเป็นพิเศษ ด้วยประวัติการทำงาน ที่เป็นอดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมฝ่ายยุทธศาสตร์ภายใต้ประธานาธิบดีคลินตัน และอดีตปลัดกลาโหมด้านนโยบาย (Under Secretary of Defense for Policy) สมัยประธานาธิบดีบารัก โอบามา ส่งผลให้เธอเข้านอกออกใน และรู้จักกับบรรดานายพลระดับสูงของกองทัพสหรัฐฯ 

โฟลวร์นอย เกิดที่รัฐแคลิฟอร์เนียเมื่อปี 2503 เข้าเรียนรัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด แล้วไปศึกษาต่อปริญญาโทด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ของอังกฤษ ก่อนจะกลับมาทำงานวิจัยเกี่ยวกับการเมืองความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่อที่ฮาร์วาร์ด

มิเชล โฟลวร์นอย

เธอร่วมงานด้านกลาโหมกับรัฐบาล ปธน.บิล คลินตัน ในปี 2536 ดูแลแผนด้านยุทธศาสตร์ทางทหาร ในภูมิภาคแถบเอเชียกลาง รัสเซีย และยูเครน เมื่อหมดยุคคลินตัน โฟลวร์นอย กลับไปทำงานเป็นที่ปรึกษาในหน่วยงานความมั่นคงหลายแห่ง รวมถึงงานด้านการเมือง

ช่วงรัฐบาลบารัก โอบามา เธอกลับเข้าเพนตากอนในฐานะผู้ช่วย รมว.กลาโหม ด้านนโยบาย มีผลงานโดดเด่น อาทิ สนับสนุนการเพิ่มกำลังทางทหารในอัฟกานิสถาน สนับสนุนการใช้กำลังทางทหารในลิเบีย สนับสนุนการเพิ่มงบประมาณกลาโหม และ สนับสนุนอาวุธให้ยูเครนจัดการปัญหาในภูมิภาคไครเมีย

ปี 2554 ช่วงก่อนสิ้นสุดรัฐบาลโอบามา โฟลวร์นอย ได้ร่วมตั้งสถาบันคลังสมองที่ว่า ศูนย์ความปลอดภัยใหม่แห่งอเมริกา (Center for a New American Security) รวมถึงยังร่วมจัดตั้งบริษัทเอกชนที่ให้คำปรึกษาด้านความเสี่ยงและยุทธศาสตร์ ซึ่งมีแอนโทนี บลิงเคน ผู้ที่ไบเดนเลือกให้มานั่งเก้าอี้รัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ ร่วมตั้งบริษัทดังกล่าวด้วย

ในการเลือกตั้งสหรัฐฯ ปี 2016 หากฮิลลารี คลินตัน ชนะการเลือกตั้งเธอคือตัวเต็งเบอร์หนึ่งที่จะได้นั่ง รมว.กลาโหมเช่นกัน แต่เมื่อเป็นรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ กระทรวงกลาโหมภายใต้การนำของ พล.อ.เจมส์ แมตทิส ยังได้พยายามทาบทามให้เธอเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีด้วยเช่นกัน


'จมทัพเรือจีนใน 72 ชั่วโมง'

นอกจากโปรไฟล์การทำงานซึ่งเคยดำรงตำแหน่งสำคัญในงานด้านความมั่นคง อีกหนึ่งสิ่งที่ถูกจับตาคือ บทความที่เธอเขียนในวารสาร Foreign Affairs เมื่อเดือนมิถุนายน เรื่อง 'How to Prevent a War in Asia' หรือ ทำอย่างไรเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดสงครามในเอเชีย 

แม้ชื่อบทความจะดูเหมือน 'สันติวิธี' แต่ยืนอยู่บนหลักการที่ว่า 'การจะสร้างสันติภาพได้นั้นจะต้องสร้างสงครามก่อน' สงครามในที่นี้ไม่ได้มุ่งหมายสร้างความเสียหายแก่พลเรือนของประเทศใด แต่คือการตัดกำลังของฝ่ายศัตรูซึ่งหมายถึงกองทัพจีน ที่ทรงอิทธิพลในเอเชีย

โฟลวร์นอยอธิบายในบทความว่า ความสามารถและความตั้งใจของรัฐบาลวอชิงตัน ที่จะตอบโต้การแผ่ขยายอิทธิพลของปักกิ่งในภูมิภาคเอเชียได้ลดลงในช่วงที่ผ่านมา จึงจำเป็นต้องมีมาตรการป้องกันและปราบปรามที่มั่นคงเพื่อลดความเสี่ยงที่ผู้นำจีนจะคำนวณสถานการณ์ผิดพลาด

โดยหากจีนมีท่าทีแข็งกร้าวที่จะบุกเกาะไต้หวัน สหรัฐฯ ในฐานะผู้สนับสนุนไต้หวันก็ไม่อาจนิ่งเฉยต่อภัยคุกคามรูปแบบนั้นได้

"ยกตัวอย่าง หากกองทัพสหรัฐฯ ขู่ด้วยความน่าเชื่อถือว่าสามารถจบเรือรบ เรือดำน้ำ และเรือสินค้าของจีนทั้งหมดในทะเลจีนใต้ภายใน 72 ชั่วโมง ผู้นำจีนอาจทบทวนอีกครั้งที่จะปิดล้อม หรือโจมตีไต้หวัน พวกเขาต้องคิดว่าคุ้มค่า หรือไม่ที่จะเอาทั้งกองเรือไปเสี่ยง" 

มิเชล โฟลวร์นอย

ข้อความที่โฟลวร์นอยระบุในบทความ ไม่ใช่สิ่งที่เกินเลยจากความเป็นจริง เนื่องมีงานวิจัยของสถาบันคลังสมองในออสเตรเลียที่ระบุว่า กองทัพจีนครอบครองขีปนาวุธในจำนวนมากพอจะสามารถทำลายฐานทัพสหรัฐฯ ในเอเชียได้อย่างราบคาบ แต่หากเทียบศักยภาพด้านกองทัพ ดูเหมือนทัพเรือจีนจะยังไม่มีศักยภาพด้านการโจมตีเทียบเท่ากับทัพเรือสหรัฐฯ แถมจีนมีประสบการณ์ด้านการรบน้อยกว่า ดังนั้นหากในอนาคต หากสหรัฐฯ จะป้องกันการโจมตีของจีน ต้องวางแผนยุทธศาสตร์เสริมแสนยานุภาพจัดกองทัพเรือจีนในทะเลจีนใต้ให้ได้ ภายใน 72 ชั่วโมง 

โฟลวร์นอย ยังเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางทหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบโจมตีแบบไร้นักบิน การป้องกันทางไซเบอร์ ขีปนาวุธ และเครือข่ายสื่อสารรูปแบบอนาคต เธอกล่าวว่า กองทัพสหรัฐฯ "ลงทุนในแพลตฟอร์มและระบบอาวุธแบบเดิม" มากเกินไป ขณะที่ควรลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะช่วยให้ได้เปรียบด้านความมั่นคงในอนาคต

มิเชล โฟลวร์นอย

อู๋ซินโป๋ ผู้อำนวยการศูนย์อเมริกันศึกษา มหาวิทยาลัยฟูตัน (Fudan University) ในเซี่ยงไฮ้ เผยว่า แม้สหรัฐฯ จะเปลี่ยนแปลงกองทัพให้ทันสมัยหรือเพิ่มแสนยานุภาพป้องกันจีนอย่างไร ท่าทีของจีนที่มีต่อไต้หวันก็ไม่เปลี่ยนแปลง "คำขู่เช่นนี้อาจไม่ค่อยเป็นผล เพราะกองทัพจีนมักคำนวณการแทรกแซงของสหรัฐฯ เอาไว้แล้วในการวางแผนปฏิบัติการต่อไต้หวัน" 

เช่นเดียวกับผู้เชี่ยวชาญด้านกลาโหมและการทูตยอมรับว่า ไอเดียของโฟลวร์นอยมีราคาที่ต้องจ่ายมหาศาล โดยเฉพาะในแง่งบประมาณ ซึ่งการที่มีชื่อ 'สายเหยี่ยว' อย่างเธอติดโผตัวตัวเต็งนั่งเก้าอี้ รมว.กลาโหมคนต่อไป ย่อมแสดงให้เห็นถึงท่าทีของรัฐบาลสหรัฐฯ ในยุคไบเดน ที่อาจมีท่าทีแข็งกร้าวกับจีนมากกว่ายุคทรัมป์เสียอีก ซึ่งจะส่งผลต่อภูมิภาคเอเชีย และอาเซียนอย่างแน่นอน 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

ที่มา : SCMP , Washingtonpost , foreignaffairs , defensenews