วันที่ 3 กรกฎาคม ของทุกปี ถือเป็นวันปลอดถุงพลาสติกสากล (International Plastic Bag Free Day) โดยจุดประสงค์ของวันดังกล่าวคือเพื่อให้ทั่วโลกตระหนักถึงปัญหาของการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง (Single-use plastics) ที่ก่อให้ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและทุกชีวิตบนโลก
สำหรับประเทศไทยนั้น มีจำนวนขยะพลาสติกสูงถึงประมาณร้อยละ 12 ของขยะทั้งหมดหรือประมาณ 2 ล้านตันต่อปี ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นพลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง เช่น ถุงร้อน ถุงหูหิ้ว แก้วพลาสติก หลอดพลาสติก และกล่องโฟม เป็นต้น ซึ่งจากสถิติงานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน Science Advances เมื่อปี 2563 ระบุว่าประเทศไทยมีสัดส่วนในการสร้างขยะพลาสติกในขยะทั่วไปมากเป็นอันดับที่ 3 ของโลก
ขยะพลาสติกเป็นวัสดุที่ไม่สามารถย่อยสลายด้วยตัวเองได้เนื่องจากเป็นสารสังเคราะห์ ทำให้ขยะพลาสติกสามารถคงอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นาน และยังก่อให้เกิดปัญหาตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น พลาสติกบางชนิดหากเกิดการเผาไหม้จะก่อให้เกิดควันพิษในอากาศและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน ซึ่งในปัจจุบันมีหลายหน่วยงานที่ตระหนักถึงปัญหานี้มากขึ้นและได้มีการจัดแคมเปญเพื่อลดปัญหาดังกล่าว ซึ่ง 5 แบรนด์ที่มีแนวคิดในการลดขยะพลาสติก ดังนี้
บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด ที่เป็นผู้ผลิตกาแฟปรุงสำเร็จชนิดผงตราเบอร์ดี้ 3 อิน 1 มีเป้าหมายที่จะลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมให้ได้ 50% ภายในปี 2030 บริษัทจึงเริ่มหาแนวทางที่จะลดจำนวนขยะพลาสติกด้วยการนำแนวคิดเรื่องบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาปรับใช้กับผลิตภัณฑ์ของบริษัท โดยเบอร์ดี้ 3 อิน 1 ได้มีการยกเลิกการใช้ถุงพลาสติกพอลิเอทิลีน (PE Bag) สำหรับห่อหุ้มบรรจุภัณฑ์ภายนอก ทำให้สามารถลดปริมาณาขยะพลาสติกได้สูงถึง 39 ตัน/ปี
บริษัท ซี ดริ้ง จำกัด ได้เล็งเห็นว่าปัญหาขยะพลาสติกนั้นเป็นปัญหาระดับโลก ซึ่งมีเป้าหมายที่จะออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่จะไม่เป็นขยะในอนาคต จึงเกิดเป็นผลิตภัณฑ์น้ำดื่ม C2 ซึ่งบริษัท ซี ดริ้ง จำกัดมองว่าปัญหาใหญ่ที่สำคัญและทำให้ขวดพลาสติกไม่สามารถรีไซเคิลในกระบวนการได้ มีส่วนมาจากกาวที่ใช้ติดฉลาก ด้วยเหตุนี้ บริษัทจึงพยายามคิดค้นและออกแบบขวดไร้ฉลากและฝาน้ำซึ่งใช้เทคนิคพิเศษในการยิงเลเซอร์บาร์โค้ดลงไปบนฝา ทำให้ทั้งขวดไร้ฉลากและฝาที่ไม่ต้องสกรีน และเป็นพลาสติกประเภท PET ที่รีไซเคิลได้ 100%
สำหรับ Yves Rocher ซึ่งเป็นอีกแบรนด์หนึ่งที่ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กำลังเสื่อมถอยลง จึงมีการออกแบบบรรจุภัณฑ์ตามแนวคิด Eco Design มาเป็นเวลาหลายปีแล้ว ซึ่งตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 Yves Rocher จะผลิตจากพลาสติกที่สามารถรีไซเคิลได้ 100% เท่านั้น จากรายงานที่ผ่านมาทางแบรนด์ได้ผลิตขวดพลาสติกมากถึง 135 ล้านขวดต่อปี ซึ่งหลังจากที่แบรนด์หันมาใช้พลาสติกที่รีไซเคิลได้ 100% ทำให้ใน 1 ปี ทางแบรนด์สามารถลดการใช้พลาสติกใหม่ได้ถึง 2,700 ตันเลยทีเดียว
Starbucks มีเป้าหมายที่จะลดปริมาณขยะให้ได้ 50% ภายในปี 2573 จึงมีการเริ่มแคมเปญแจกแก้ว “Reusable Cup” เพื่อรณรงค์การรีไซเคิล และลดการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวโดยหันมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ โดยบริษัทมีเป้าหมายที่จะส่งมอบแก้วให้กับลูกค้ากว่า 2 ล้านคนทั่วเอเชียแปซิฟิก ซึ่งมุ่งหวังว่าแก้ว Reusable Cup 1 ใบ จะสามารถทดแทนการใช้แก้วแบบครั้งเดียวทิ้งได้ถึง 30 ใบ
บริษัท Coca-Cola ได้จัดโครงการ World Without Waste ที่บริษัทตั้งเป้าว่าภายในปี 2568 จะทำให้บรรจุภัณฑ์ทั้งหมดของบริษัทจะต้องสามารถรีไซเคิล และภายในปี 2573 วัสดุที่ใช้ทำบรรจุภัณฑ์กว่า 50% จะต้องเป็นวัสดุรีไซเคิล และนอกจากนี้บริษัทยังตั้งเป้าในการรวบรวมบรรจุภัณฑ์ที่ถูกขายออกไปกลับมารีไซเคิลเองด้วย
เรื่อง: นันทวรรณ เขียวม่วง
อ้างอิง
https://www.onep.go.th/4-มิถุนายน-2565-ไทยสร้างขยะมา/
https://www.onep.go.th/ขยะพลาสติก/
https://www.ryt9.com/s/prg/3397443#google_vignette
https://thestandard.co/yves-rocher-cuts-2700-tons-of-plastic-waste-per-year/
https://www.brandbuffet.in.th/2021/10/starbucks-greener-store-and-reusable-cup-policy/
https://thestandard.co/coca-cola-reusable-bottles/