Council on Foreign Relations (CFR) สมาคมนโยบายระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา เผยแพร่บทความ Comparing Six Health-Care Systems in a Pandemic เปรียบเทียบระบบประกันสุขภาพใน 6 รัฐและประเทศต่างๆ ที่มีผลต่อการรับมือสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา
บทความดังกล่าวมองว่าแต่ละประเทศมีจุดแข็งและจุดอ่อนที่แตกต่างกัน และบางประเทศทุ่มงบใช้จ่ายด้านสุขภาพสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่กลับคุ้มครองสุขภาพประชาชนได้ไม่ดีนัก เช่นเดียวกับ 'ไม่พร้อม' ในการรับมือโรคโควิด-19
ขณะที่บางประเทศมีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ครอบคลุมประชาชนแทบทุกกลุ่ม แต่ก็ยังประสบภาวะวิกฤตด้านสุขภาพในช่วงโควิด-19 อยู่ดี จึงน่าศึกษาเป็นบทเรียน เพื่อนำไปพัฒนาระบบประกันสุขภาพและสาธารณสุขในพื้นที่อื่นๆ
สำนักงานบริการสาธารณสุขแห่งชาติ (NHS) ของอังกฤษ เป็น 'ระบบประกันสุขภาพโดยรัฐ' ที่ให้บริการแก่ประชาชนและผู้อาศัยในอังกฤษเกือบทุกกลุ่ม โดยได้รับจัดสรรงบประมาณในแต่ละปี เพื่อให้บริการด้านสุขภาพขั้นพื้นฐาน ทั้งการตรวจโรค การป้องกันโรค การจัดหายา และการดูแลด้านสุขภาพจิต
รัฐบาลอังกฤษจัดสรรงบประมาณรายปีให้แก่ NHS ราว 9.8 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) และประชากรอังกฤษอีกราว 10 เปอร์เซ็นต์มีประกันสุขภาพของเอกชนเพิ่มเติม ทำให้อังกฤษถูกประเมินว่าเป็นประเทศที่มีความพร้อมด้านระบบสาธารณสุขมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และน่าจะควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ดีในช่วงที่มีรายงานข่าวออกมาช่วงเดือน มี.ค.
อย่างไรก็ตาม อังกฤษกลับเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตมากจนติดกลุ่ม 10 อันดับแรกของโลกในเดือน เม.ย. ซึ่ง CFR ระบุว่า ความล้มเหลวส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ 'บอริส จอห์นสัน' นายกรัฐมนตรีอังกฤษคนปัจจุบัน ตัดสินใจไม่เร็วพอเรื่องการสั่งปิดกั้นการเดินทางและระงับกิจการต่างๆ ในประเทศ ทำให้สถิติผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในอังกฤษ เมื่อวันที่ 8 พ.ค. มีจำนวนเกือบ 1 แสนคน และผู้เสียชีวิตอีกนับหมื่นราย ซึ่งนายกฯ จอห์นสัน เป็นคนหนึ่งที่ติดเชื้อ แต่หายแล้ว
เว็บไซต์ NHS Funding ระบุด้วยว่า รัฐบาลอังกฤษปรับลดงบประมาณสนับสนุน NHS นับตั้งแต่ปี 2558 และ CFR รายงานว่า สัดส่วนงบประมาณสาธารณสุขของอังกฤษเมื่อเทียบกับจีดีพีแล้ว ถือว่า 'ต่ำสุด' เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของประเทศสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) อื่นๆ
งบประมาณด้านการป้องกันและรักษาโรคต่างๆ ก็ถูกลดทอนลงไปด้วย ผู้ป่วยต้องร่วมจ่ายเพื่อบริการที่อยู่นอกเหนือสิทธิ NHS เป็นเงินเฉลี่ย 670 ปอนด์ หรือ 26,733 บาท ต่อคน-ต่อครั้ง แต่บางคนก็ไม่สามารถจ่ายได้
นอกจากนี้ การตัดงบยังกระทบต่อระบบสาธารณสุขโดยรวม เพราะเมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 บุคลากรการแพทย์ด้านต่างๆ ก็ไม่มีอุปกรณ์ป้องกันตัวเองเพียงพอ และสัดส่วนเครื่องช่วยหายใจ เตียงพยาบาล และแพทย์ ก็ไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ
แม้จะมีพรมแดนใกล้กับจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่ไต้หวันก็สามารถควบคุม ติดตาม และรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็ว สถิติผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจึงไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศ โดยเฉพาะในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ระบบประกันสุขภาพไต้หวันเป็นแบบ Single-Payer System หรือมี 'ผู้จ่าย' เพียงรายเดียว ซึ่งก็คือรัฐบาลไต้หวัน โดยจัดสรรงบประมาณสาธารณสุขรายปี รวมถึงภาษีจากยาสูบและรายได้จากสลากกินแบ่งรัฐบาลมาสมทบ รวมเป็น 6 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี
ในบางกรณี รัฐบาลไต้หวันจะให้ประชาชนร่วมจ่าย แต่การพบแพทย์ให้วินิจฉัยโรคหรือขอใบสั่งยาจะถูกรัฐบาลควบคุมราคาค่าบริการ ไม่ให้เกิน 7-14 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อครั้ง หรือประมาณ 140-434 บาท
ส่วนมาตรการรับมือและป้องกันโรคโควิด-19 'ไช่อิงเหวิน' ประธานาธิบดีไต้หวัน สั่งเฝ้าระวังและเตรียมพร้อมตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีการยืนยันเรื่องโรคโควิด-19 ออกมา แต่เพราะไต้หวันมีบทเรียนจากตอนที่เกิดโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง หรือ 'โรคซาร์ส' เมื่อปี 2545-2546 จึงมีมาตรการป้องกันและตรวจคัดกรองออกมาตั้งแต่เนิ่นๆ เมื่อมีการประกาศอย่างเป็นทางการจากจีนและองค์การอนามัยโลก (WHO) จึงจัดการเรื่องต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว
รัฐบาลไต้หวันออกคำสั่งให้ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายเพื่อคัดกรองผู้ติดเชื้อตามสถานที่ต่างๆ รวมถึงสั่งห้ามส่งออกหน้ากากอนามัยและอุปกรณ์ป้องกันทางการแพทย์ แต่สั่งเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของประชากรในไต้หวัน
ส่วนโรงพยาบาลและหน่วยงานด้านสาธารณสุขทุกพื้นที่ ได้รับคำสั่งให้ตรวจคัดกรองผู้เข้าข่ายว่าอาจติดเชื้อตั้งแต่แรก โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตลอดจนใช้เทคโนโลยีติดตามร่องรอยการแพร่ระบาดของผู้ติดเชื้อที่ยืนยันแล้ว และใช้แอปพลิเคชันในมือถือเพื่อแจ้งข้อมูลการระบาดแก่ประชาชน
ประชากรเกือบทุกกลุ่มในเกาหลีใต้เข้าถึงการบริการขั้นพื้นฐานได้อย่างเท่าเทียมกัน คือ การตรวจโรคทั่วไป การรักษาอาการฉุกเฉิน ยารักษาโรค และทันตกรรม ซึ่งถือเป็นสิทธิในระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ ขณะที่บริการด้านสาธารณสุขต่างๆ จะดำเนินการโดยหน่วยงานรัฐและเอกชนควบคู่กัน
กรณีที่เป็นการรักษานอกเหนือจากสิทธิตามระบบประกันสุขภาพ ผู้รับบริการจะต้องจ่ายเงินสมทบในแต่ละครั้ง ประมาณ 34 เปอร์เซ็นต์ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ถือว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยของการจ่ายร่วมในประเทศสมาชิก OECD อื่นๆ ซึ่งอยู่ที่ 30 เปอร์เซ็นต์ แต่รัฐบาลเกาหลีใต้เป็นผู้กำกับดูแลไม่ให้ค่ารักษาพยาบาลหรือค่ายาสูงเกินกว่าที่ประชาชนส่วนใหญ่จะจ่ายได้
นอกจากนี้ เกาหลีใต้ยังสนับสนุนให้ประชาชนซื้อประกันสุขภาพเพิ่มเติมกับบริษัทเอกชน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกันตนสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างรวดเร็วขึ้น แต่ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า วิธีนี้เป็นการสร้าง 'ความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพ' ในกลุ่มประชากรเกาหลีใต้
เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รัฐบาลเกาหลีใต้ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ควบคุมและป้องกันโรคติดต่อ สั่งให้ระบบประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นผู้รับผิดชอบเงินค่าตรวจคัดกรองและรักษาพยาบาลผู้ป่วย รวมถึงผู้ต้องสงสัยติดเชื้อ ในสัดส่วน 80 เปอร์เซ็นต์ของราคาเต็ม ที่เหลืออีก 20 เปอร์เซ็นต์ รัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นจะเป็นผู้จ่ายสมทบ ทำให้พลเมืองเกาหลีใต้ทุกคนเข้ารับการตรวจและรักษาโรคโควิด-19 ได้ฟรี
ขณะที่ Korea Herald สื่อเกาหลีใต้ รายงานว่า ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลผู้ติดเชื้อโควิดฯ ที่อาการไม่รุนแรง จะอยู่ที่ประมาณ 3.3 ล้านวอน หรือประมาณ 83,000 บาท ส่วนผู้ติดเชื้อที่มีอาการรุนแรง มีค่ารักษาประมาณ 12-70 ล้านวอน (ราว 315,000-1,842,000 บาท) ขึ้นอยู่กับว่าผู้ป่วยต้องใช้เครื่องช่วยหายใจและต้องอยู่ในห้องไอซียูหรือไม่
ปัจจุบัน ผู้ติดเชื้อกว่า 11,000 คนในเกาหลีใต้เข้ารับการรักษาพยาบาล และใช้งบประมาณของระบบประกันสุขภาพไปแล้วกว่า 98,500 ล้านวอน หรือประมาณ 2,592 ล้านบาท
ในปี 2561 รัฐบาลออสเตรเลียจัดสรรงบประมาณสาธารณสุขเป็นเงิน 9.3 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ขณะที่ระบบสาธารณสุขเป็นแบบผสม (hybrid system) ระหว่างประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งรัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณ และอีกส่วนหนึ่ง คือ การสนับสนุนให้ประชาชนซื้อประกันของเอกชนหรือองค์กรไม่แสวงผลกำไรด้วยตัวเอง โดยประกันสุขภาพของเอกชนจะครอบคลุมถึงค่าบริการและค่ารถฉุกเฉิน รวมถึงทันตกรรม
อย่างไรก็ตาม สิทธิการรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐานตามระบบประกันสุขภาพแห่งชาติส่งผลให้สถานพยาบาลในประเทศค่อนข้างแออัด แต่ประชาชนที่มีรายได้น้อยก็ไม่มีกำลังพอที่จะซื้อประกันจากเอกชนเพิ่มเติม โดยสัดส่วนผู้มีรายได้น้อยที่ซื้อประกันเพิ่ม คิดเป็น 1 ใน 5 ของประชากร
ส่วนการรับมือสถานการณ์โควิด-19 ของออสเตรเลีย ถือว่ามีความพร้อมในระดับหนึ่ง และนายกรัฐมนตรี 'สก็อต มอร์ริสัน' ได้ออกคำสั่งควบคุมการเดินทางและกักตัวผู้ต้องสงสัยติดเชื้อ รวมถึงมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) ตั้งแต่เนิ่นๆ เมื่อถึงกลางเดือน เม.ย.ก็สามารถควบคุมสถิติผู้ติดเชื้อรายใหม่ไม่ให้เพิ่มขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ออสเตรเลียรับมือกับสถานการณ์โควิดฯ ได้ค่อนข้างดี เป็นเพราะมีการสุ่มตรวจคัดกรองประชาชนประมาณ 10,000 คนต่อวันนับตั้งแต่กลางเดือน มี.ค.เป็นต้นมา จึงเป็นอีกประเทศหนึ่ง นอกเหนือจากเกาหลีใต้ ที่ใช้วิธีตรวจคนจำนวนมาก เพื่อคัดกรองผู้ต้องสงสัยติดเชื้อและผู้ป่วยเข้าสู่กระบวนการรักษาพยาบาลได้เร็ว
รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ออกกฎหมายให้ประชาชนทุกคนต้องซื้อประกันสุขภาพขั้นพื้นฐานจากเอกชน ซึ่งผู้ประกอบการรายใหญ่ในประเทศมีอยู่ 4 เจ้า และรับผิดชอบผู้ประกันตนราว 90 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ดำเนินการในฐานะองค์กรไม่แสวงผลกำไร ขณะที่โรงพยาบาลเกือบทั้งหมดในประเทศก็เป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรเช่นกัน
พลเมืองเนเธอร์แลนด์จ่ายเงินประกันเฉลี่ย 115-150 ดอลลาร์ต่อเดือน (ประมาณ 3,565 - 4,650 บาท) และต้องจ่ายร่วมในการรักษาพยาบาลต่อปีอีกราว 600 ดอลลาร์ (ประมาณ 18,600 บาท) แต่ก็ถือว่าค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับการซื้อประกันในประเทศพัฒนาอื่นๆ และนายจ้างจะเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่จ่ายเงินสมทบด้านประกันสุขภาพให้แก่ลูกจ้าง
ผู้มีรายได้น้อยจะได้รับการช่วยเหลือด้านสุขภาพจากรัฐบาล เช่นเดียวกับค่ารักษาพยาบาลของเยาวชนที่รัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด แต่ราว 80 เปอร์เซ็นต์ของประชากรสมัครใจซื้อประกันสุขภาพเพิ่มเติมเอง เพื่อให้ครอบคลุมค่ารักษาพยาบาลเฉพาะทาง เช่น จักษุและทันตกรรม งบประมาณด้านสาธารณสุขของเนเธอร์แลนด์จึงอยู่ที่ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี อ้างอิงการสำรวจข้อมูลล่าสุดเมื่อปี 2561
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนเตือนว่า ประชาชนที่รับภาระด้านการประกันสุขภาพเองก็กำลังจะเผชิญกับภาวะยากลำบาก เพราะค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและเร็วเกินกว่ารายได้หรือค่าแรงของประชากรจะเพิ่มตามได้ทัน
ส่วนมาตรการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 ของรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ ค่อนข้างสวนทางประเทศอื่นๆ ทั่วโลก เพราะรัฐบาลยืนยันว่าจะไม่ประกาศมาตรการล็อกดาวน์เต็มรูปแบบ แต่สั่งห้ามกิจกรรมที่ต้องรวมตัวกันเป็นจำนวนมาก และสั่งปรับเปลี่ยนสถานประกอบการ เช่น สถานที่จัดคอนเสิร์ตและโรงแรมต่างๆ ให้กลายเป็นโรงพยาบาลสนาม รับดูแลผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อเป็นการชั่วคราว
กลางเดือน เม.ย. เนเธอร์แลนด์มีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 มากกว่า 2,500 ราย และมีผู้ติดเชื้ออีกกว่า 25,000 คน ซึ่งถือว่าน้อยกว่าประเทศแถบยุโรปอื่นๆ แต่บุคลากรการแพทย์ที่ติดเชื้อจากการปฏิบัติหน้าที่มีสัดส่วนค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับเยอรมนี
ก่อนหน้านี้ กองทุน Common Wealth Fund เผยรายชื่อ 10 ประเทศที่ใช้จ่ายเงินด้านสาธารณสุขมากที่สุดในโลก พบว่า 'สหรัฐอเมริกา' ติดอันดับ 1 ตามด้วย สวิตเซอร์แลนด์, นอร์เวย์, เยอรมนี, สวีเดน, เนเธอร์แลนด์, แคนาดา, ฝรั่งเศส, ออสเตรเลีย. กลุ่มประเทศ OECD (โดยเฉลี่ย) อังกฤษ และนิวซีแลนด์
อย่างไรก็ตาม การจ่ายเงินด้านสาธารณสุขจำนวนมาก ไม่ได้รับประกันว่าจะได้รับความคุ้มครองด้านสาธารณสุขที่ดีและมีประสิทธิภาพทัดเทียมกับเงินที่เสียไป
ส่วนบทความของ CFR ระบุว่า การประกันสุขภาพในสหรัฐฯ ผสมกันระหว่างการซื้อประกันจากบริษัทเอกชนและการสนับสนุนบริการด้านสาธารณสุขจากหน่วยงานรัฐ แต่ต้นทุนด้านประกันสุขภาพส่วนใหญ่ตกอยู่กับประชาชน บวกกับเงินสมทบบางส่วนจากนายจ้าง
ประชากรกลุ่มที่ได้รับการช่วยเหลือด้านสาธารณสุขจากรัฐบาลสหรัฐฯ ได้แก่ กลุ่มผู้มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน ได้รับการช่วยเหลือจากระบบ Medicaid, กลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ได้รับการช่วยเหลือจาก Medicare และ กลุ่มทหารผ่านศึก ผู้พิการ หรือเจ้าหน้าที่รัฐบาลต่างๆ จะมีกองทุนหรือระบบประกันสุขภาพอื่นๆ คุ้มครอง
แต่พลเมืองอเมริกันราว 8.5 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีประกันสุขภาพใดๆ เลย และไม่อยู่ในกลุ่มที่จะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล คนกลุ่มนี้มีทั้งผู้ที่ตกงาน ทำให้สูญเสียสิทธิที่เคยได้รับจากประกันสุขภาพเดิม บางส่วนเป็นผู้ประกอบอาชีพนอกระบบที่มีรายได้สูงกว่าเส้นความยากจน จึงไม่อาจขอความช่วยเหลือจาก Medicaid แต่ก็ไม่มีรายได้มากพอจะซื้อประกันของเอกชน จึงไม่มีความคุ้มครองด้านสุขภาพใดๆ
โดยเฉลี่ยแล้วคนอเมริกันหรือผู้อยู่อาศัยถาวรในสหรัฐฯ ต้องจ่ายเงินราว 10,000 ดอลลาร์ หรือประมาณ 310,000 บาทต่อปี เพื่อการประกันสุขภาพ แต่ก็อาจถูกปฏิเสธความคุ้มครองจากบริษัทประกันเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงด้านอาชีพ
รัฐบาลสหรัฐฯ ใช้งบประมาณด้านสาธารณสุขเกือบ 17 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีเมื่อปี 2561 แต่ก็ไม่สามารถคุ้มครองประชากรทุกกลุ่มได้ และเป็นประเทศกลุ่มรายได้สูงที่ไม่มีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าอีกด้วย
เมื่อสถานการณ์โควิด-19 เริ่มรุนแรงขึ้นในจีนเมื่อเดือน มี.ค. สหรัฐฯ ประกาศให้ผู้เข้าข่ายติดเชื้อได้รับการตรวจคัดกรองโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หากตรวจพบว่าติดเชื้อจะต้องถูกกักตัวหรือเข้ารับการรักษาพยาบาล แต่ค่ารักษาต่อจากนั้น ผู้ติดเชื้อต้องรับผิดชอบเอง ซึ่งถ้ามีประกันสุขภาพอยู่แล้วก็ต้องสอบถามกับบริษัทประกันว่าคุ้มครองค่าใช้จ่ายด้านนี้หรือไม่ เพราะช่วงแรกบริษัทประกันหลายแห่งระบุว่า ประกันสุขภาพที่มีแต่เดิมไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายจากโรคติดต่ออุบัติใหม่
'โดนัลด์ ทรัมป์' ประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีคำสั่งห้ามผู้เดินทางจากจีนเข้าประเทศตั้งแต่เดือน ม.ค. แต่หลังจากนั้นนานนับเดือนก็ไม่ได้ประกาศมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างเป็นทางการออกมา ขณะที่ชุดตรวจคัดกรองที่สำนักงานควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐฯ (CDC) บอกให้ใช้ ก็ถูกประเมินภายหลังว่าได้ผลคลาดเคลื่อน
จนกระทั่งกลางเดือน มี.ค. รัฐบาลท้องถิ่นในหลายรัฐจึงตัดสินใจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ ระงับกิจกรรมและธุรกิจต่างๆ ที่สุ่มเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่สถิติผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตในสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จนติดอันดับสูงที่สุดในโลกกลางเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา
รัฐบาลสหรัฐฯ ถูกสื่อและภาคประชาสังคม รวมถึงรัฐบาลจีน โจมตีว่า ล้มเหลวเรื่องการรับมือโรคระบาด ทั้งที่ก่อนหน้านี้ถูกประเมินว่าเป็นประเทศที่พร้อมมากกว่าที่อื่น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: