ไม่พบผลการค้นหา
เปิดความเชื่อเรื่องเหล็กไหล ว่ากันว่าใครของไม่แรงจริงจะโดนแร่กินตัวได้ แต่ถ้าใครเอาอยู่ จะช่วยให้อยู่ยงคงกระพัน ขนาดนั้น จริงหรือ?

เคยได้ยินคำกล่าวประมาณว่า คนเราเป็นอย่างไร ให้ดูได้จากสิ่งที่กิน และสิ่งที่สะสม คงคล้ายๆ กับการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินนั่นแหละ เพราะทรัพย์สินย่อมมาจากการสะสม และแต่ละอย่างสามารถบอกได้ถึงไลฟ์สไตล์ เช่น บางคนทรัพย์สินเป็นหนังสือ บางคนทรัพย์สินเป็น “วัว”

เหล็กไหล.jpg

แต่ที่ฮือฮา และถือเป็นมิติใหม่แห่งบัญชีทรัพย์สิน ก็คือ “โคตรเหล็กไหล” และ “มหาเหล็กไหล” ของสมาชิกผู้แทนราษฎรท่านหนึ่ง มูลค่า 2 ก้อน รวมกันฟาดไป 1,000 ล้านบาท กินขาดชนิดที่ว่านาฬิกาหรูรวมกันหลายๆ เรือนยังอาจมีมูลค่าไม่สูงเท่านี้ ทำไมถึงกล้า เอ้ย! ทำไมถึงตีมูลค่าสูงขนาดนั้น และคำถามที่ว่า “เหล็กไหล” คืออะไร จึงกลายเป็นที่สนใจในช่วงเวลานี้


สุ่มสี่สุ่มห้าอาจถูก “แร่กิน”

ความเชื่อเรื่อง “เหล็กไหล” มีมานาน ไม่รู้เมื่อไหร่ แต่อย่างน้อยยุคต้นรัตนโกสินทร์ก็มีพูดถึงเหล็กไหลกันแล้ว โดยเฉพาะในวรรณคดีต่างๆ ที่คุ้นเคยกันดี เช่น ขุนช้างขุนแผน ตอนขุนแผนตีดาบฟ้าฟื้น ก็ไปรวบรวมหาเหล็กอาถรรพ์มามากมาย รวมถึง “เหล็กไหล” ด้วย

ตามความเชื่อนั้น เหล็กไหลเป็นแร่กายสิทธิ์ มีอาถรรพ์ในตัว อยู่ในสภาพกึ่งเหลว ยืดได้หดได้ ถึงได้เรียกกันว่า “เหล็กไหล” ขณะที่ทางวิทยาศาสตร์อธิบายว่า อาจเป็นโลหะที่มีจุดหลอมเหลวต่ำ ถึงได้ยืดๆ หดๆ ในอุณหภูมิธรรมดา หรือแค่แรงเทียน บางคนไม่เชื่อเรียกกันว่า “เหล็กเหลวไหล” ก็มี

สำหรับคนที่เชื่อกล่าวกันว่าต้องดั้นด้นไปหาตามถ้ำในป่าลึก และคนไปหาต้องอาศัยวิชาอาคมสูง เพราะเชื่อกันว่ามีเทวดา ภูตผี ยักษ์ ฯลฯ ดูแลเหล็กไหลอยู่ และตัวเหล็กไหลเองก็มีความอินดี้ สามารถขัดขืนคนที่จะมาเก็บเหล็กไหลได้

วิธีการเก็บเหล็กไหลที่แพร่หลาย เล่าขานต่อๆ กันมาว่า ต้องเอา “น้ำผึ้ง” มาเป็นตัวล่อ เหล็กไหลจะยืดตัวตามมากินน้ำผึ้ง ยิ่งยืดมาไกลเท่าไหร่เส้นเหล็กไหลยิ่งบางลงๆ จนเหลือเท่าเส้นด้าย เป็นโอกาสให้ผู้มีวิชาอาคมตัดเส้นเหล็กไหลจนขาดและจัดการเก็บส่วนที่เหลือไป

ฟังดูง่ายๆ น้องชอบกินของหวาน ชอบกินน้ำผึ้งแค่นี้เอง แต่ตามทัศนะคนโบราณการเก็บและถลุงเหล็กไหลอันตรายถึงชีวิต โดย “สุนทรภู่” ครูกวีของเราเป็นคนหนึ่งที่ชอบเล่นแร่แปรธาตุพูดถึงเหล็กไหล ปรอท ฯลฯ อะไรอยู่บ่อยๆ ครั้งบวชเป็นพระเดินทางไปเมืองสุพรรณฯ ไปพบเตาถลุงเหล็กไหล แต่เจ้าของเตานั้นตายเหลือแต่ซาก พร้อมข้าวของเครื่องใช้ที่เดาได้ว่าเป็น “พระสงฆ์” สุนทรภู่เห็นแบบนี้เข้าท่านลงความเห็นว่า พระเล่นแร่รูปนี้มรณภาพเพราะถูก “แร่กิน”

๏ ตวันบ่ายหายเลื่อยล้า      คลาไคล

ค่ามโป่งดงเหลกไหล                           แล่งขมิ้น

ภบเตาเก่าก่อไฟ                                 ผ้าพาด บาตแฮ

ตายแน่แร่กินสริ้น                              ซากเนื้อเหลือของ

คำว่า “แร่กิน” ของสุนทรภู่ อาจไม่ได้หมายถึงแร่ไล่เขมือบคนจนถึงแก่ชีวิต แต่อาจเป็นการเปรียบถึงพิษร้ายที่คร่าชีวิตนักเล่นแร่แปรธาตุได้ เพราะโคลงบทต่อมาใน “โคลงนิราศสุพรรณ” สุนทรภู่ท่านแต่งว่า การมานั่งถลุงเหล็กไหลแบบนี้ อาจไปถูกแร่โลหะที่ “แสลง” เข้า และการถลุงด้วยไฟแรงก็เกิดควันพิษได้

๏ เหล็กไหลได้แต่บ้า            หาแสวง

ถูกแร่แม่สารแสลง                           เหล็กคล้าย

หลอมถลุงพลุ่งเพลิงแรง                      ราวรศ กรดเอย

ควันพิศฤทธสารร้าย                         ร่ำไซ้ไสร้สูร


แร่อยู่ยงคงกระพัน

นอกจากจะต้องดั้นด้นเดินทางยากลำบาก กว่าจะไปหาที่อยู่ของเหล็กไหล แถมไปแล้วก็อาจเอาชีวิตไปทิ้งอีกต่างหาก แต่ใครๆ ก็ยังคงเสาะแสวงหาเหล็กไหล นั่นเป็นเพราะความเชื่อเรื่องอานุภาพของแร่กายสิทธิ์ชนิดนี้ เชื่อกันว่าใครมีกับตัวจะ “อยู่ยงคงกระพัน” ทำได้ด้วยวิธีฝังไว้ใต้ผิวหนัง หรือแม้แต่ “การอม” อย่างที่ในเสภาเรื่องศรีธนญไชยเชียงเมี่ยง บอกว่า “อาบว่านปรุงยาทั้งอาคม ปากก็อมเหล็กไหลได้อยู่คง”

สรรพคุณหรูหราแฟนตาซีขนาดนี้ ทำให้ผู้คนต่างเสาะหา มีตำราเล่นแร่แปรธาตุหลายสำนัก แต่นั่นแหละ ของระดับ Rare หายากสุดๆ กับของที่ไม่มีอยู่จริง มันมีเส้นบางๆ คั่นเอาไว้ ทำให้ที่ผ่านมามีแต่ตำนาน เรื่องเล่า นิทาน ฯลฯ ที่พูดถึงการผจญภัยตามหาเหล็กไหล และสรรพคุณล้านแปด แต่ไม่มีใครสามารถพิสูจน์ถึงการมีอยู่ของเหล็กไหลได้สักที เสียเงินเสียทองกันมานักต่อนักกับของปลอม เหมือนที่ครูสุนทรภู่ท่านว่าไว้ข้างบนนั่นแหละ ว่า “เหล็กไหลได้แต่บ้า หาแสวง”


มีค่ากับคนหนึ่ง อีกคนหนึ่งเป็นแค่ก้อนเหล็ก

เมื่อหลายปีก่อน มีข่าวผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ท่านลงทุนทุบพิสูจน์วัตถุที่มีการอ้างกันว่าคือ “เหล็กไหล” ที่ได้จากการทำพิธีตัดที่ จ.สุราษฎร์ธานี ปรากฏว่าเจ้าสิ่งนั้นเป็นแค่ “ปรอท” ที่มาจากการเป่าแก้ว ภาพการตัดเหล็กไหลอันเข้มขลังท่ามกลางสายตาชาวบ้าน กลายเป็นปาหี่ในบัดดล

เพราะยังพิสูจน์ไม่ได้ ไม่ได้มีราคาเช่าในตลาดแบบพระเครื่อง ไม่ได้มีใบเซอร์แบบเพชร และการต้มตุ๋นก็มีมากเหลือเกิน เรื่องของ “เหล็กไหล” จึงยังเป็นความเชื่อส่วนบุคคล คนๆ หนึ่งอาจยินยอมทุ่มเงินหลักร้อยล้านเพื่อหามาครอบครอง ในขณะที่อีกคนหนึ่งให้ฟรีก็อาจไม่เอา

เพราะถ้าไม่ได้เชื่อเรื่องแร่วิเศษ โคตรเหล็กไหลก็อาจเป็นแค่ก้อนเหล็ก

วิฬาร์ ลิขิต
เสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์ตามแต่ปากอยากจะแกว่ง เรื่องที่คนทั่วไปสนใจ หรือใครไม่สนใจแต่ฉันสนใจฉันก็จะเขียน การตีความที่เกิดขึ้นไม่ใช่ที่สุด ถ้าจุดประเด็นให้ถกเถียงได้ก็โอเค แต่ถึงจุดไม่ติดก็ไม่ซี เพราะคิดว่าสิ่งที่ค้นๆ มาเสนอ น่าจะเป็นประโยชน์กับใครบ้างไม่มากก็น้อยในวาระต่างๆ จะพยายามไม่ออกชื่อด่าใครตรงๆ เพราะยังต้องผ่อนคอนโด แต่จะพยายามเสนอ Hint พร้อมไปกับสาระประวัติศาสตร์ที่คิดว่าน่าสนใจและเทียบเคียงกันได้
2Article
0Video
66Blog