เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์นโยบายและวิชาการพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์กรณี นายกรัฐมนตรีพอใจภาพรวมผลการแก้ไขปัญหาความยากจน ภายหลังสภาพัฒน์รายงานสถานการณ์ความยากจนในปี 2562 ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น ตามข่าว
ศูนย์นโยบายและวิชาการพรรคเพื่อไทย เห็นว่า การนำตัวเลขปีต่อปีในลักษณะนี้มาวิเคราะห์ จะนำไปสู่การตีความที่คลาดเคลื่อนและได้ข้อสรุปที่ผิดพลาด ซึ่งตามปกติแล้ว ตัวเลขคนจน หรือจำนวนคนที่อยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจนนั้น มีแนวโน้มลดลงอยู่แล้วโดยปรกติ จากปัจจัยการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การพัฒนาเทคโนโลยี การศึกษา การพัฒนาของทุนและแรงงาน ฯลฯ
ทั้งนี้ ตามข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในประวัติศาสตร์ไทย ตั้งแต่มีการรายงานมา ประเทศไทยมี 'คนจนเพิ่มขึ้น' ทั้งหมด 5 ครั้ง และเป็นไปได้สูงที่จะมีครั้งที่ 6 จากวิกฤติโควิด-19 ซึ่งได้แก่
1. ปี 2541 จากวิกฤติต้มยำกุ้ง
2. ปี 2543 ผลพวงต่อเนื่องจากวิกฤติต้มยำกุ้ง และวิกฤติ Dot-com
3. ปี 2551 จากวิกฤติซับไพรม์
4. ปี 2559 รัฐบาล คสช.
5. ปี 2561 รัฐบาล คสช.
6. คาดว่าปี 2563 จากวิกฤติโควิด รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์
ข้อมูลระยะยาวนี้บ่งชี้ว่า ภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ คนไทยจะจนมากขึ้นถึง 3 ครั้ง จากทั้งหมด 6 ครั้ง มากครั้งที่สุดในประวัติศาสตร์ มากกว่าผู้นำทุกคนของไทย ตั้งแต่มีการรายงานมา นอกจากนั้น 2 ครั้งในช่วงรัฐบาล คสช. (ปี 2559 และ 2561) ไม่ได้เกิดจากวิกฤติเศรษฐกิจ แต่หากเกิดขึ้นจากปัญหาด้านประสิทธิภาพของรัฐบาลโดยตรง
"รัฐบาลควรจะใช้ข้อมูลระยะยาวลักษณะนี้ในการประเมินประสิทธิภาพ มากกว่าใช้ข้อมูลระยะสั้นปีต่อปี เพราะนอกจากจะทำให้เกิดข้อสรุปเชิงนโยบายที่ผิดพลาดแล้ว ยังแสดงให้เห็นว่าขาดความรู้ความเข้าใจในการวิเคราะห์ตัวเลขหรือดัชนีดังกล่าว" เผ่าภูมิ ระบุ
จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด เขต 5 ในฐานะคณะทำงานทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่สหรัฐอเมริกาประกาศตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร หรือ GSP กับสินค้าไทยเพิ่มอีก 231 รายการ คิดเป็นมูลค่าราว 25,000 ล้านบาท มีผลวันที่ 30 ธ.ค. 2563 ว่า เดิมสหรัฐฯ เคยตัดสิทธิ GSP สินค้าไทยไปแล้วจำนวน 573 รายการ เมื่อเดือนเม.ย. 2563 จึงเท่ากับว่าสหรัฐฯ ตัดสิทธิ GSP สินค้าไทยไปทั้งสิ้น 804 รายการ รวมมูลค่าราว 65,000 ล้านบาท โดยการถูกสหรัฐฯ ประกาศตัดสิทธิ GSP ติดกันถึงสองครั้งในห้วงเวลาห่างกันไม่นาน สะท้อนว่ารัฐบาลที่สืบทอดอำนาจมาจากการทำรัฐประหารไม่มีเครดิตในการเจรจาการค้าในเวทีต่างประเทศ และยิ่งตอกย้ำว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และทีมเศรษฐกิจ ไม่มีพลังการในการเจรจาต่อรอง เสมือนเป็นเบี้ยตัวเล็กไม่มีความสำคัญในสายตาสหรัฐฯ เหมือนที่เคยอวดอ้าง
การที่รัฐบาลให้หน่วยงานรัฐออกมาอ้างว่า การตัดสิทธิ GSP ครั้งล่าสุดนี้กระทบเพียงแค่ภาษีนำเข้าที่ไทยต้องจ่ายเพิ่มเพียง 600 กว่าล้านบาทนั้น เป็นการให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน เพราะการคำนวณความเสียหายเพียงเฉพาะภาษีที่ต้องจ่ายเพิ่มไม่สะท้อนต่อสภาพความเสียหายทางการค้าของไทยในอนาคต การถูกตัด GSP จะทำให้ราคาสินค้าของไทยในตลาดสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อศักยภาพทางการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดสหรัฐฯ ในระยะยาว
นอกจากนี้การอ้างจำนวนมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นเป็นการคำนวณจากสินค้าเพียงไม่กี่รายการ ทั้งๆ ที่มีสินค้าอีกจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะสินค้าของผู้ประกอบการ SME เช่น ผลิตภัณฑ์เซรามิก เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ผลไม้ สัปปะรดกระป๋อง น้ำมันพืช ส่วนประกอบรถยนต์ อุปกรณ์ไฟฟ้า ของตกแต่งบ้าน ฯลฯ ซึ่งจะเป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อยที่กำลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤตโควิด-19 ดังนั้นประเด็นไม่ได้อยู่ที่มูลค่าและจำนวนสินค้าที่ถูกตัดสิทธิเพียงอย่างเดียว แต่รัฐบาลต้องตรวจสอบด้วยว่าสินค้าอะไรและผู้ประกอบการ SME รายใดบ้างที่จะได้รับผลกระทบ และต้องคำนวณรวมกับความเสียหายที่เกิดจากการที่ไทยถูกสหรัฐฯ ตัดสิทธิ GSP ไปก่อนหน้านี้ด้วย การที่รัฐบาลอ้างว่าการตัดสิทธิครั้งนี้ส่งผลกระทบไม่มาก แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ได้มีความจริงใจในการดูแลช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME และการค้าของไทยเลย
เมื่อครั้งไทยถูกสหรัฐฯ ตัดสิทธิ GSP ในเดือนเม.ย. 2563 รัฐบาลก็ชี้แจงไม่ตรงกัน พล.อ.ประยุทธ์อ้างว่าเป็นเพราะเศรษฐกิจไทยโตเร็ว สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นอ้างว่า เป็นเพราะไทยพ้นขีดความยากจนแล้ว ในขณะที่หน่วยงานรัฐออกมาชี้แจงว่าเป็นเพราะการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ มีมูลค่าสูงเกินเพดาน มาวันนี้ถูกประกาศตัดสิทธิ GSP อีกครั้งก็อ้างว่าเกิดจากสาเหตุที่ไทยไม่ยอมเปิดตลาดสุกรให้กับสหรัฐฯ จะเห็นได้ว่ารัฐบาลปัดความผิดออกจากตัวเองตลอด ทั้งๆ ที่เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องดูแลผลประโยชน์ทางการค้าของไทย ทั้งนี้ นอกเหนือจากความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลไทยในการเจรจาต่อรอง GSP แล้ว ในห้วงการบริหารของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ยังมีสินค้าไทยที่ถูกประเทศคู่ค้าห้ามนำเข้าหรือยอดการส่งออกตกต่ำหลายรายการ เช่น กะทิ มะพร้าว ผัก ผลไม้ ข้าว และสินค้าเกษตร เป็นต้น
“รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ทราบถึงแนวโน้มที่สหรัฐฯ จะตัดสิทธิ GSP ไทยมาตั้งแต่หลังการทำรัฐประหารในปี 2557 แต่ก็ปล่อยปละละเลยมาโดยตลอด ไม่สามารถเจรจาเพื่อแก้ปัญหาได้ สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะรัฐบาลมาจากการทำรัฐประหารและสืบทอดอำนาจเข้ามาบริหารประเทศ ทำให้ไม่มีเครดิตในการเจรจาต่อรองในเวทีต่างประเทศและไม่เป็นที่น่าเชื่อถือของผู้นำประเทศคู่ค้า หนำซ้ำตอนนี้สถานการณ์ประชาธิปไตยของประเทศก็เลวร้ายจากการที่รัฐบาลเข้าจับกุมคุมขังนักเรียน นิสิต นักศึกษาที่ออกมาเรียกร้องเพื่อประชาธิปไตยอย่างสันติ ทำให้ภาพลักษณ์ประเทศไทยในขณะนี้เป็นประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตย กระบวนการยุติธรรมมีปัญหา ซึ่งจะส่งผลต่อการดึงดูดการลงทุนในอนาคตอีกด้วย” จิราพร กล่าว
อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรรคเพื่อไทย กล่าวถึงรายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำของสภาพัฒน์ ปี 2562 ว่า ความยากจนของคนไทยในปี 2562 ลดลงกว่า 2 ล้านคน จากเดิมในปี 2561 อยู่ที่ 6.7 ล้านคน เหลือ 4.3ล้านคนในปี 2562 จากมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่รัฐบาลกล่าวอ้างนั้นเป็น "ภาพลวงตา" เพราะมาตรการที่รัฐดำเนินการ คือการแจกเงินด้วยบัตรสวัสดิการทุกเดือน ไม่ได้ก่อให้เกิดการจ้างงาน หรือการสร้างรายได้ของครัวเรือนอย่างยั่งยืน และหากคนจนลดลงจริง เหตุใดตัวเลขคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพีของธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย หรือ ADB จึงระบุว่าจีดีพีประเทศไทยในปีนี้จะติดลบ -6.5% ต่ำที่สุดและต่ำกว่าประเทศลาว เมียนมา เขมร และประเทศน้องใหม่อย่าง อีสต์ ติมอร์
นอกจากนี้ ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 62 ยังเปิดเผยด้วยว่า ระยะหลังการจ้างงานแบบรายเดือนไม่เพิ่มขึ้น แต่มีการจ้างงานแบบลูกจ้างรายวันเพิ่มขึ้น ซึ่งหมายความว่า ธุรกิจไม่มีรายได้เพียงพอที่จะจ้างงานรายเดือนที่มาพร้อมกับภาระด้านสวัสดิการ ขณะที่รัฐบาบกลับไม่มีมาตรการที่ชัดเจนในเรื่องนี้
"ในมุมมองของลูกจ้าง คือ มีงานก็จริง แต่การเป็นลูกจ้างรายวัน วันรุ่งขึ้น ถ้าธุรกิจเป็นอะไรไป เขาก็ไม่มีงานแล้ว ไม่มีความมั่นคงในงานและอาชีพ นี้คือสิ่งเหล่านี้สะท้อนว่า ประชาชนยังไม่ได้หลุดพ้นความยากจนจากมาตรการของรัฐดังที่กล่าวอ้าง" อรุณี กล่าว
นอกจากนี้ รายได้ที่เพิ่มขึ้นของครัวเรือนที่ยากจนในปี 2562 ที่รัฐบาลกล่าวอ้าง สวนทางกับข้อมูลข้อธนาคารโลกประจำประเทศไทยและสภาพัฒน์ฯ โดยระหว่างปี 2558-2561 อัตราความยากจนของประเทศไทยเพิ่มขึ้นจาก 7.21% เป็น 9.85% หรือเพิ่มจาก 4.85 ล้านคน เป็นมากกว่า 6.7 ล้านคน สอดคล้องกับตัวเลขจีดีพีไทยที่เติบโตต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา เมื่อถูกซ้ำเติมจากวิกฤติโควิด-19 ยิ่งทำให้ภาวะเศรษฐกิฐไทยซึ่งมีรายได้จากการส่งและการท่องเที่ยวเป็นตัวขับเคลื่อนประเทศฟื้นตัวยาก
อรุณี กล่าวว่า สิ่งที่น่ากังวลในขณะนี้คือ จำนวนของประชาชนท่ีมีรายได้ลดลงเกือบแตะระดับเส้นความยากจนเพิ่มมากขึ้น ถึง 5.4 ล้านคน แสดงให้เห็นว่า คนไทยกำลังจนลงอีกกว่า 5 ล้านคน
ปัจจัยสำคัญมาจากหลายด้าน ทั้งการระบาดของโควิด-19 แต่การบริหารประเทศของรัฐที่ล้มเหลวมาก่อนเกิดโรคระบาดคือสาเหตุหลักที่ทำให้ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำกว่าที่ควรจะเป็น จนทำให้นักลงทุนในประเทศขาดความเชื่อมั่น นักลงทุนต่างชาติย้ายฐานการผลิตไปยังเวียดนามและประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ส่งผลให้แรงงานในภาคอุตสาหกรรมตกงานเป็นจำนวนมาก ในจำนวนนี้ยังไม่รวมบัณฑิตจบใหม่ในปี 2564 จำนวน 5 แสนคนที่มีความเสี่ยงที่จะตกงานถาวร และคนตกงาน 8.3 ล้านคนตามการประเมินของธนาคารโลกซึ่งรัฐบาลยังไม่มีมาตรการรองรับเช่นกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :