วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานหอการค้าไทย เปิดเผยกรณีศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ชุดใหญ่ ประกาศคุมเข้มสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่สีแดงเข้ม 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ ชลบุรี เชียงใหม่ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด นั้น การออกประกาศดังกล่าว ส่งผลกระทบซ้ำเติมต่อเศรษฐกิจแน่นอน โดยเฉพาะธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดรอบที่ 1-2 อาทิ สถานบันเทิง ท่องเที่ยวและบริการ เป็นต้น
แต่การออกประกาศดังกล่าวเชื่อว่าจะมีมาตรการเยียวยาออกตามมาแน่นอน เพราะต้องช่วยเหลือธุรกิจเหล่านี้ให้ประคองตัวอยู่ได้อีกครั้ง และป้องกันไม่ให้เกิดการเลิกจ้างเพิ่มขึ้นอีกด้วย อีกสิ่งที่สำคัญ คือ ต้องให้ความสำคัญกับกฎหมายที่ได้กำหนดไว้ หากพบสถานที่ใดฝ่าฝืนกฎต้องดำเนินการตามกฎหมายทันที เพื่อเป็นตัวอย่าง ส่วนธุรกิจที่ไม่ได้กระทำผิดกฎควรเร่งหามาตรการช่วยเหลือรองรับไว้ด้วย
ส่วนข้อเสนอแนะภาคเอกชนต้องการให้รัฐช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ อย่างน้อยต้องให้กลุ่มเหล่านี้เข้าถึงแหล่งเงินทุน รัฐจะต้องเข้ามาค้ำประกันมากขึ้นให้ธนาคารยอมปล่อยเงิน เพื่อนำมาหมุนเวียนและประคองการจ้างงานให้ได้โดยเร็ว อาจจะมีการช่วยเหลือตามสิทธิประกันสังคม คือรัฐช่วยเหลือคนละครึ่งกับผู้ประกอบการ
อีกกลุ่มที่น่าห่วงคือแรงงานอิสระ รัฐต้องเร่งออกมาตรการช่วยหรือใช้มาตรการเดิม คือ โครงการคนละครึ่ง และเราชนะ เพื่อให้แรงงานกลุ่มนี้ยังประคองตัวอยู่ได้ รวมถึงการรีบคลี่คลายสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกที่ 3 โดยเร็วที่สุด รัฐบาลต้องอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจให้ได้ประมาณ 2 แสนล้านบาทต่อเดือน เพื่อประคองให้ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ปี 2564 เติบโต 3%
ส่วนเรื่องภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์โมเดล เป็นอีกหนึ่งความหวังของประเทศ เบื้องต้นรัฐบาลยังไม่ปรับเปลี่ยนเป้าหมายเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 คาดว่าในเดือนมิถุนายนนี้จะฉีดวัคซีนให้กับคนในภูเก็ตได้กว่า 70% ของประชากรทั้งจังหวัด อีกทั้งนักท่องเที่ยวที่เข้ามาต้องฉีดวัคซีนป้องกันโควิดแล้ว หากเป็นไปตามแผนที่ตั้งไว้จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญช่วยดันเศรษฐกิจให้ไปถึง 3% ได้