ไม่พบผลการค้นหา
สรท. เตรียมนำข้อเสนอแก้ปัญหาต้นทุนโลจิสติกส์เข้าที่ประชุม กกร. - ศบค. หลังกระทบผู้ส่งออก-ผู้นำเข้า ส่งผลต่อการแข่งขัน พร้อมคงคาดการณ์ส่งออก ปี 2563 ทั้งปีติดลบ 10%

กัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า การประชุม คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ในวันที่ 9 ก.ย. 2563 สรท. จะเสนอต่อที่ประชุมเพื่อหามาตรการช่วยเหลือผู้ส่งออก-ผู้นำเข้า โดยเฉพาะเรื่องของการลดต้นทุนลอจิสติกส์ซึ่งมีทิศทางที่สูงขึ้น พร้อมกับการลดเงื่อนไข กฎหมาย กฎระเบียบบางอย่างที่เป็นอุปสรรคต่อลอจิสติกส์ในปัจจุบัน ซึ่งไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

ทั้งประเด็น 1.ขอให้แก้ไขความสูงของรถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์สำหรับบรรจุสิ่งของขนาด High Cube (HC) และรถบรรทุกรถยนต์ ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 18 เป็น 4.6 เมตร 2.เร่งรัดการทำสัญญาสัมปทานสถานีบรรจุและคัดแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดีลาดกระบัง) ตลอดจนเชื่อมโยงข้อมูลระหว่าง ไอซีดีลาดกระบัง และ SRTO ให้การบริการรับส่งสินค้าในรูปแบบตู้สินค้า ในการขนส่งอย่างมีความต่อเนื่อง และปรับปรุงอสังหาริมทรัพย์ บำรุงรักษาพื้นที่ภายในโครงการ ลงทุนจัดหาเครื่องจักร อุปกรณ์ แรงงาน และสาธารณูปโภค ให้มีความพร้อมสำหรับรองรับปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ที่เพิ่มขึ้น

3.ขอให้เลื่อนการบังคับใช้ประกาศการท่าเรือฯ เรื่องกำหนดอัตราค่าภาระของเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) ท่าเรือแหลมฉบัง ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2561 และ ประกาศการท่าเรือฯ เรื่องให้เรือชายฝั่งที่รับตู้สินค้าขาเข้าที่ท่าเรือแหลมฉบังดำเนินการ บรรทุกตู้สินค้าลงเรือ (Loading Container) ณ ท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) ลงวันที่ 19 มิถุนายน 2563 และกำหนดนโยบายลดต้นทุนการขนส่งชายฝั่งให้สามารถแข่งขันกับการขนส่งรูปแบบอื่น

4.ขอให้พิจารณายกเว้นการเรียกเก็บค่า Cargo Dues สำหรับเรือ Barge ที่ขนส่งสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ขาเข้า ระหว่างท่าเรือแหลมฉบัง ผ่านร่องน้ำสันดอนเจ้าพระยาเข้าไปขนถ่าย หรือส่งมอบ ณ ท่าเรือเอกชน หรือท่าเรืออนุญาตที่ตั้งอยู่ในบริเวณอาณาเขตท่าเรือกรุงเทพ และขอให้พิจารณาหลักเกณฑ์ในการจัดกลุ่มประเภทของสินค้าที่ต้องชำระค่า Cargo Dues และกำหนดอัตราเรียกเก็บสำหรับสินค้าแต่ละกลุ่มให้สอดคล้องกับสัดส่วนต้นทุนของสินค้าเพื่อลดต้นทุนการนำเข้าและการผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายในประเทศและการส่งออก

และ 5. ขอแก้ไขเงื่อนเวลาตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 102, 103 เรื่องถ่ายลำ ผ่านแดน ให้ของถ่ายลำหรือผ่านแดนสามารถอยู่ในราชอาณาจักรได้เป็นเวลา 60 วัน และขอให้แก้ไขบทลงโทษให้สินค้าที่ไม่สามารถส่งออกจากราชอาณาจักรภายในระยะเวลาที่กำหนดเป็นของตกค้างตามกฎหมายศุลกากรแทนการตกเป็นของแผ่นดิน นอกจากนี้ สรท. จะนำข้อเสนอทั้งหมดให้ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด- 19) หรือ ศบศ. และกระทรวงคมนาคม ในระยะต่อไปด้วย

ทั้งนี้ สรท. ได้คงคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2563 จะติดลบที่ 10% เนื่องจากยังมีปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญ ได้แก่ สถานการณ์การระบาดโควิด-19 หลายประเทศทั่วโลกที่ยังคงมีความรุนแรง อาทิ สหรัฐที่ยังมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการกลับมาระบาดครั้งใหม่ในหลายประเทศ ทิศทางการนำเข้าหดตัวลง ประกอบกับความเชื่อมั่นในตลาดโลกที่ยังไม่ดีนัก ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในทิศทางที่แข็งค่า จากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างจีนและสหรัฐที่ยังคงมีแนวโน้มตึงเครียดในหลายประเด็นต่อเนื่อง ระดับราคาน้ำมันที่ทรงตัวอยู่ระดับต่ำกว่าปี 2562 มากกว่าร้อยละ 30 ปัญหาภัยแล้ง รวมถึงปัญหาด้านลอจิสติกส์