ชาวบ้านท่าเว่อ กว่า 100 ครัวเรือน กับชะตากรรมชีวิตเหมือนดั่งถูกรุมเร้าจากนโยบายของภาครัฐ ย่อนไป 20 กว่าปีก่อนเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก“โครงการจัดสรรที่ดินทำกินแก่ราษฎรผู้ยากไร้ในพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม”(คจก.) และโครงการปลูกป่าฯ 20 ปีให้หลัง
กลับต้องมาถูกเคราะซ้ำกรรมซัดจากนโยบายทวงคืนป่าของรัฐบาลยุคลุง ทางเลือกเดียวที่ทำได้คือชาวบ้านจำต้องลุกขึ้นสู้เพื่อสิทธิที่ดิน เพราะหากไม่สู้แล้วในอนาคตอันใกล้สมาชิกในชุมชนหลายร้อยชีวิตต้องกลายเป็นไร้ที่ดินทำกินที่อยู่อาศัย ต้องกลับไปเป็นลูกจ้างขายแรงงานเหมือนดังที่ผ่าน
"ดั้งเดิมชาวบ้านตั้งถิ่นฐานทำกินอยู่อาศัยเป็นคุ้มต่างๆ ตามลักษณะแต่ละพื้นที่ เช่น คุ้มท่าเว่อใน,คุ้มท่าเว่อนอก, (คุ้มภูค้อกับภูคี) มีประมาณ 20 ครัวเรือน รวมกว่า 150 ชีวิต"
จากคำบอกเล่าของพ่อเฒ่าผู้หนึ่ง ที่ถือเป็นผู้อาวุโสที่ได้รับความเคารพนับถือของชาวบ้านท่าเว่อ ม.7 ต.ท่ามะไฟหวาน อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ ทำให้ได้รับรู้ว่า ที่เรียกกันเป็นคุ้ม เพราะก่อนนั้นยังไม่มีชื่อบ้านตั้งกันอย่างเป็นทางการ กระทั่งชาวบ้านที่อยู่ทำกินมาอย่างต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงปี 2531 ได้มีการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านขึ้นเป็นครั้งแรก จึงได้เป็นชื่อบ้านท่าเว่อ มานับแต่นั้น
ผู้เฒ่าแห่งบ้านท่าเว่อ ถือเป็นรุ่นแรกๆที่ติดตามพ่อกับแม่เข้ามาบุกเบิกพื้นที่แถบนี้มาแต่ยังเด็ก ซึ่งก็มีอีกหลายชีวิตที่เริ่มเข้ามาตั้งถิ่นฐานพร้อมๆกัน ในช่วงปี 2512 ส่วนใหญ่มาจากจังหวัดละแวกใกล้เคียง เช่น โคราช บุรีรัมย์
"เราก็เป็นคนไทย จะไม่ให้มีที่ยืนในแผ่นดินนี้เลยหรือ แล้วอนาคตลูกหลานจะอยู่อย่างไร" ผู้อาวุโส คนเดิม เล่าความย้อนหลังถึงชะตากรรมชีวิตที่ถูกกระทำด้วยว่า เหมือนถูกรุมจากนโยบายของรัฐและหน่วยงานราชการในพื้นที่ ส่งผลให้เกิดความเดือดร้อนจนแทบสูญสิ้น ทั้งที่พวกเราเป็นเพียงเกษตรกรคนธรรมดา ทำประโยชน์ทางการเกษตรบนพื้นที่ตนเอง แต่กลับถูกขับไล่ ไร้ที่อยู่และที่ทำกิน ทำอย่างกับพวกเราไม่ใช่คนไทย เพราะหลังจาก คณะ รสช.ทำรัฐประหาร เข้ายึดอำนาจ ได้มีโครงการจัดสรรที่ดินทำกินแก่ราษฎรผู้ยากไร้ในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม (คจก.) ปี 2534 ส่งผลทำให้ถูกไล่รื้อ อพยพออกจากพื้นที่ บางครอบครัวกลับบ้านเกิด หลายคนไม่มีทางเลือกจึงไปหารับจ้าง
"หลังยกเลิก คจก.ก็ถูกขับไล่ออกจากพื้นที่อีก โดยในปี 2540 เจ้าหน้าที่ป่าไม้เข้ามาขอพื้นที่เพื่อทำแปลงเพาะชำ ต่อมาก็ขยายออกไปเป็นแปลงทดลองบ้าง จนขยายเต็มพื้นที่ โดยอ้างโครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ หลายครอบจำต้องย้ายออก ไม่มีที่ไปก็ลงมาอาศัยอยู่กับญาติ ปัจจุบันยังไม่มีที่ทำกินมีแต่ที่อยู่อาศัย ส่วนเจ้าหน้าที่ก็เพิ่มพี้นที่ใหม่ปลูกป่าเรื่อยมาจนถึงปี 2550"
กรณีสวนป่าภูคีในเขตป่าสงวนแห่งชาติภูแลนคาด้านทิศเหนือ ชาวบ้านท่าเว่อ ซึ่งได้รับความเดือดร้อนจากโครงการ คจก.และการขอคืนพื้นที่ปลูกป่าฯ กลับต้องมาถูกทวงคืนป่าซ้ำเติมชีวิต สร้างความเดือดร้อนต่อชาวบ้านกว่า 100 ครัวเรือน ถูกยึดพื้นที่รวมกว่า 2,000 ไร่
ถูกปักป้ายตรวจยึดพื้นที่ทำกิน ตลอดจนมีการข่มขู่ ทําให้ชาวบ้านไม่มีความปลอดภัยในการทำมาหากิน สิทธิที่เรียกร้องไม่ได้รับความสนใจ ทั้งโดนตัดฟันโค่นต้นยางฯ ทั้งต้นน้อยใหญ่ หลายคนอุตส่าห์เก็บสะสมเงินซื้อเบี้ยยางพารา จนอายุยางจะใด้รับผล ต้องมาถูกเจ้าหน้าที่ทหารและป่าไม้ ไล่ตัดทิ้ง
ถาวร ตัวแทนชาวบ้านท่าเว่อ เล่าว่า “ตามที่ คสช.มีนโยบายทวงคืนผืนป่า ได้รับความเดือดร้อนอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากรณีที่ทหารสนธิกำลังร่วมกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้เข้ามาตรวจยึดพื้นที่ทำกินเมื่อเดือนเมษายน 2564 ต่อเนื่องมาถึงเดือนกรกฎาคม ได้เข้ามาติดป้ายตรวจยึด ทำให้ชาวบ้านไม่มีความปลอดภัยในการทำกินในพื้นที่ของตัวเอง เป็นเหตุให้ไม่กล้าเข้าทำกินเพราะเจ้าหน้าที่จะใช้อำนาจฟ้องดำเนินคดีข้อหาบุกรุก”
"พวกเรานัดหมายมาประชุมภายในว่าจะหาวิธีร่วมสู้กันอย่างไร ที่ผ่านมาโดนขับไล่ออกจากที่ทำกิน ต้องมาหาบข้าวหาบของเครื่องครัวอพยพออกไปกันมากแล้ว บางคนก็แก่ชรา ชาวบ้านทำไร่ ทำการเกษตรใช้แค่จอบและเสียม ผลผลิตแทนที่จะได้มาถูกเจ้าหน้าที่เข้ามาไล่ออก พวกเราคิดว่าจะไม่ถอยอีก และจะให้ชาวบ้านที่ทำกินมากว่า 50 ปี ไม่ให้ทำกินอีกได้ยังไง หลายคนอายุก็แก่เฒ่าแล้ว อีกทั้งลูกหลานอีกหลายร้อยชีวิต ที่นาก็ไม่มี"
ตัวแทนชาวบ้านท่าเว่อ บอกอีกว่าทำหากไม่สู้เพื่อสิทธิที่ดินทำกิน ครั้งนี้จะกลายเป็นความไม่ชอบธรรม ในการถูกทวงคืนที่ดินทำกินทั้งหมด จึงได้เข้าร่วมต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดินทำกินกับเครือข่ายปฎิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.)
ผลจากการต่อสู้เพื่อยืนยันสิทธิของตนเองของชาวบ้าน ทำให้เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2566 ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยมีคำสั่งที่ 1602/2566 “แต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหา กรณีราษฎรบ้านท่าเว่อ หมู่ที่ 7 ตำบลท่ามะไฟหวาน อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ ได้รับความเดือดร้อนจากโครงการจัดสรรที่ดินทำกินแก่ราษฎรผู้ยากไร้ในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม (คจก.) ปี พ.ศ.2534 และนโยบายทวงคืนผืนป่าเมื่อปี พ.ศ.2557-2558” โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิเป็นหัวหน้าคณะทำงาน โดยมีหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องและตัวแทนชาวบ้าน 10 คนร่วมเป็นคณะทำงานด้วย
และล่าสุดเมื่อวันที่ 22 ส.ค.66ณ ที่ศาลากลางจังหวัดชัยภูมิ มีการประชุมของคณะกรรมการฯ ดังกล่าว เพื่อติดตามความคืบหน้าการทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหา โดยมีนายพรเทพ วัชกีกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ เป็นประธาน ที่ประชุมเสนอให้สอบถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ตรวจสอบว่าพื้นที่ชุมชนท่าเว่อนั้นอยู่ในเขตรับผิดชอบของหน่วยงานใด
เมื่อทราบแล้วให้คณะกรรมการฯ ตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อดำเนินการพิสูจน์สิทธิ์ให้กับชาวบ้านต่อไป อีกทั้งหาแนวทางแก้ไขกรณีที่มีการแจ้งตรวจยึดและดำเนินคดีในที่ดินทำกินบ้านท่าเว่อ เพื่อให้ชุมชนกับป่าอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุขต่อไป
โดยชาวบ้านท่าเว่อหวังว่า คณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาฯ ที่จังหวัดแต่งตั้งขึ้น
ที่มา:สำนักข่าวปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน