--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
วันนี้เป็นวันครบรอบ 29 ปีของการสิ้นสุดลงของสงครามเย็น... เดี๋ยวๆๆ ขึ้นต้นมาด้วยข้อความล่อเป้าขนาดนี้ก็จะต้องมีเด็กๆ ที่ยังปวดหัวไม่เสร็จกับกระบวนการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยทั้ง TCAS 1-2-3 จนถึง 3/2 ยกมือประท้วงขึ้นมาว่า คุณครูขา... หนูอ่านมาหลายรอบแล้วค่ะ ชัวร์แน่นอนว่าสงครามเย็นไม่ได้สิ้นสุดที่อุบัติการณ์เทียนอันเหมิน วันที่ 4 มิถุนายน 1989 นะคะ สงครามเย็นสิ้นสุดที่การทลายกำแพงเบอร์ลินวันที่ 9 พฤศจิกายน 1989 หรือการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1991 ต่างหาก
อืมมมม... ตอบข้อสอบก็ตอบอย่างนั้นไปเถอะลูก อยู่ประเทศนี้มาคิดต่าง มาตั้งคำถาม มีความเห็นเชิงวิพากษ์มากก็น่ากลัวว่าอนาคตจะไม่สดใส แต่สำหรับคนที่ชีวิตได้ผ่านเลยวัยแห่งความฝันและวัยเอ็นทรานซ์แอดมิชชั่นอะไรมาหลายสิบปีอย่างอิฉันแล้ว วันนี้จะเล่าให้ฟังนะคะว่าทำไมวันนี้จึงควรเป็นวันครบรอบ 29 ปีของการสิ้นสุดสงครามเย็น
นิยามอย่างหนึ่งของสงครามเย็นคือสงครามอุดมการณ์ค่ะ ฝ่ายหนึ่งต่อต้านทุนนิยมและต้องการเผยแพร่ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมและการปกครองโดยเผด็จการของพรรคคอมมิวนิสต์ไปทั่วโลก ฝ่ายนี้แรกเริ่มเดิมทีนำโดยสหภาพโซเวียต อีกฝ่ายหนึ่งต่อต้านระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมและการเมืองเผด็จการแบบคอมมิวนิสต์ (แต่เผด็จการอย่างอื่น โดยเฉพาะเผด็จการทหารในประเทศด้อยพัฒนา กำลังพัฒนา โลกที่ 3-4-5 นี่คบกันได้นะ ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม) ฝ่ายหลังนี้นำโดยสหรัฐอเมริกา
สงครามเย็นเกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงได้ไม่นาน แล้วก็ยืดเยื้อยาวนานมาจนถึงปี 1989 หรือ 1991 นี่แหละแล้วแต่ว่าคุณจะเลือกเหตุการณ์ไหนเป็นสัญลักษณ์ของการสิ้นสุดสงครามเย็น
ทีนี้มันเรียกว่า “สงครามเย็น” ก็เพราะสหภาพโซเวียตกับสหรัฐอเมริกาไม่ได้รบกันโดยตรง แต่ใช้วิธีการแข่งกันแผ่อิทธิพลไปยังประเทศอื่นๆ แล้วก็สนับสนุนกลุ่มที่เห็นต่างในประเทศอื่นๆ ให้สู้กันเอง ดังนั้นสงครามที่รบกันจริงๆ ในสงครามเย็นก็เลยมักไปเกิดในประเทศเกิดใหม่ ประเทศเล็กๆ ประเทศด้อยพัฒนาทั้งหลาย อาทิ สงครามเกาหลี สงครามเวียดนาม และสงครามกลางเมืองในลาวและกัมพูชา เป็นต้น...
แล้วมันเกี่ยวอะไรกับเทียนอันเหมิน 1989?
อุบัติการณ์เทียนอันเหมิน 1989 นั้นเริ่มขึ้นจากการชุมนุมไว้อาลัยให้กับการจากไปอย่างกะทันหันของอดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนคือ นายหู เย่าปัง เมื่อวันที่ 15 เมษายน 1989
ว่ากันว่านายหูเป็นขวัญใจของเหล่าเด็กๆ นักศึกษา ปัญญาชน และคนรุ่นใหม่ของจีนเพราะเป็นผู้นำระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์คนเดียวที่พยายามรับฟังความเห็นต่างและข้อเรียกร้องเพื่อการปฏิรูปจากกลุ่มนักศึกษาและคนรุ่นใหม่ อันเป็นเหตุให้ในช่วงสองปีสุดท้ายของชีวิตเขาถูกลดตำแหน่งและความสำคัญในพรรคคอมมิวนิสต์จีนอย่างมาก และหลายคนก็เชื่อว่าการที่เขาหัวใจวายเสียชีวิตอย่างกะทันหันก็อาจจะเป็นผลมาจากความเครียดที่รู้สึกว่าถูกกลั่นแกล้งทางการเมืองและโดนลงโทษจากผู้นำอื่นๆ ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนด้วย
ช่วงเดือนมีนาเมษาของจีนก็เป็นฤดูกาลเช็งเม้งพอดี พวกนักศึกษาก็เลยพากันออกมาเดินขบวนไว้อาลัยให้หูเย่าปังเสียเลย ไว้อาลัยไปก็เศร้าโศกเสียใจ สงสารหูเย่าปังจริงๆ ทำดีกับพวกเราแล้วก็ต้องมาโดนรังแก โดนกดดันทางการเมืองจนหัวใจวายตาย พรรคคอมมิวนิสต์นี่มันแย่จริงๆ ตั้งแต่เติ้งเสี่ยวผิงปฏิรูปประเทศมาสิบกว่าปีนี่ตอนนี้อัตราการว่างงานในเมืองก็สูงขึ้น เด็กๆ ในเมืองเรียนจบมหาวิทยาลัยแล้วก็หางานดีๆ ทำไม่ได้ เจ้าหน้าที่รัฐทุจริตคอรัปชันก็เยอะ ระบบเส้นสายภายในพรรคคอมมิวนิสต์ก็เยอะมาก อยากไปเรียนเมืองนอก อยากได้งานบริษัทฝรั่ง หรืออยากได้งานดีๆ ในภาครัฐก็ไม่มีทางได้ถ้าไม่ได้เป็นลูกท่านหลานเธอในพรรค นี่มันคอมมิวนิสต์ภาษาอะไรฟะ... ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ
แล้วในที่สุดก็มาลงท้ายที่ พรรคคอมมิวนิสต์ออกไป เราต้องการประชาธิปไตย เราจะเลือกตั้ง ไม่งั้นเราจะอดอาหารประท้วงจนตาย...
ไอ้ที่ผู้นำการชุมนุมประกาศอดอาหารประท้วงจนตัวตายนี่คือช่วงกลางเดือนพฤษภาคมแล้วค่ะ ชุมนุมประท้วงกันอยู่ที่จตุรัสเทียนอันเหมินอย่างยืดเยื้อยาวนานมาตั้งแต่กลางเดือนเมษา จนเช้าตรู่วันที่ 19 พฤษภาคม นายจ้าว จื่อหยาง อดีตสหายร่วมอุดมการณ์ของหูเย่าปังซึ่งได้ขึ้นมาเป็นเลขาธิการพรรคแทนหูจึงตัดสินใจไปเยี่ยมนักศึกษาที่ประท้วงอยู่ที่จตุรัสเทียนอันเหมินเพื่อขอร้องให้เลิกอดอาหารประท้วง การเดินทางไปเทียนอันเหมืนของจ้าวในวันนั้นเป็นเหตุการณ์ที่ทั้งแปลกประหลาด ผิดคาด และน่าจะเรียกได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของโศกนาฏกรรมอันยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติที่เรียกว่า อุบัติการณ์เทียนอันเหมิน 1989 นี่แหละ
เราต้องหมายเหตุไว้ก่อนว่า ณ เวลานั้นจ้าวเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งเป็นตำแหน่งที่สูงเกือบที่สุดในพรรค น่าจะรองจากเติ้งเพียงคนเดียวเท่านั้น และหลังจากที่จ้าวไปพบนักศึกษาแล้วก็ถูกปลดออกจากทุกตำแหน่งในพรรคและในรัฐบาลและถูกกักขังในเคหสถานจนเสียชีวิตในปี 2005
มันอะไรหนักหนากะอีแค่ไปเยี่ยมนักศึกษา? มันเรื่องใหญ่มากค่ะทั่นผู้ชม เพราะจ้าวจื่อหยางรู้ดีว่ารัฐบาลคอมมิวนิสต์ของเติ้งเสี่ยวผิงไม่มีวันยอมคืนอำนาจให้ประชาชนและปฏิรูปประเทศเป็นประชาธิปไตยตามคำขอของนักศึกษาอยู่แล้ว ที่น่ากลัวกว่านั้นคือ จ้าวรู้ว่าเติ้งเตรียมส่งกำลังทหารและอาวุธสงครามไปกวาดล้างผู้ชุมนุมในไม่ช้า จ้าวรู้ว่าจะต้องมีการเสียเลือดเนื้อแน่นอน และแม้จะรู้ว่าหากไปมีท่าทีอ่อนข้อเจรจากับนักศึกษาก็คงจะต้องถูกลงโทษอย่างรุนแรงและคงจะหมดอนาคตทางการเมืองในพรรคคอมมิวนิสต์จีน และก็คงรู้ด้วยว่าไม่ว่าจะขอร้องยังไงนักศึกษาก็คงจะไม่ยอมลดราวาศอกให้แน่ๆ แต่จ้าวก็คงจะรู้สึกว่ายังไงๆ ก็ต้องทำอะไรสักอย่าง เพราะคงจะอยู่กับตัวเองยากหน่อยถ้าจะแค่นั่งกระดิกก้นกบเหตุการณ์นองเลือดซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นที่เทียนอันเหมินนั้นในไม่ช้าไม่นานแน่นอน
และทุกอย่างก็เป็นอย่างที่จ้าวกลัวว่าจะเกิดขึ้น คือนักศึกษาไม่ยอมเลิกอดอาหารประท้วง เพราะคนส่วนใหญ่ที่ชุมนุมอยู่ที่เทียนอันเหมินนั้นไม่เชื่อว่ารัฐบาลจะกล้าใช้ความรุนแรงกับนักศึกษา เพราะเหตุว่า ณ เวลานั้นจีนได้เปิดประเทศมายาวนานกว่าหนึ่งทศวรรษแล้ว มีสื่อต่างชาติอยู่กันเต็มปักกิ่งไปหมด ทั้งบีบีซี ซีเอ็นเอ็น เอบีซี สารพัดสำนักข่าวกำลังจับตาการประท้วงที่เทียนอันเหมินอยู่ รายงานความคืบหน้าออกทีวีดาวเทียมกันวันต่อวัน ทางการจีนจะกล้าใช้ความรุนแรงกับคนหนุ่มสาวที่ชุมนุมโดยสงบและไม่มีอาวุธได้อย่างไร?
แต่โศกนาฏกรรมที่ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในศตวรรษที่ 20 คือเติ้งเสี่ยวผิงได้คิดไว้แล้วว่าเศรษฐกิจจีน ณ ปี 1989 นั้นได้พัฒนามาจนกลายเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่อันดับต้นๆ ของโลกแล้ว และยังเติบโตอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วที่สุดในโลกด้วย สาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นทั้งฐานการผลิต แหล่งแรงงานและวัตถุดิบราคาถูก และตลาดขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ดังนั้นไม่มีประเทศใดในโลกที่จะสามารถคงความสามารถในการแข่งขันในเวทีเศรษฐกิจระหว่างประเทศได้โดยที่ไม่ค้าขายกับจีน เติ้งเชื่อว่าไม่ว่ารัฐบาลจีนจะทำอะไรก็จะไม่มีรัฐบาลของประเทศใดในโลกกล้าคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อจีนอย่างแน่นอน
ในคืนวันที่ 3 และต่อมาจนถึงวันที่ 4 มิถุนายน 1989 กองทัพจึงได้ส่งกำลังพลเข้ากวาดล้างการชุมนุม ณ จตุรัสเทียนอันเหมินโดยใช้รถถังและอาวุธสงครามเต็มอัตราศึก ตัวเลขผู้เสียชีวิตตามข้อสรุปของรัฐบาลจีนอยู่ในราว 300 คนแต่ตัวเลขที่เพิ่งเปิดเผยจากเอกสารรายงานของสถานทูตสหราชอาณาจักรประจำนครปักกิ่งเมื่อไม่นานมานี้บันทึกไว้ว่ายอดผู้เสียชีวิตจากการใช้ความรุนแรงของรัฐอาจสูงถึงกว่า 10,000 คน
สรุปก็คือเติ้งสั่งให้กองทัพเข้าสังหารหมู่ประชาชนโดยรถถังและอาวุธสงครามออกสื่อนานาชาติเลยค่ะ มีภาพข่าวส่งตรงจากที่เกิดเหตุผ่านทุกสถานีข่าวชั้นนำของโลก กลุ่มผู้ชุมนุมตายเกลื่อนท่ามกลางการเฝ้าดูของประชาคมโลก ผู้นำการชุมนุมส่วนใหญ่หนีกระเจิดกระเจิง ที่หนีรอดก็ไปลี้ภัยในต่างประเทศเสียมาก ที่ไม่รอดก็ถูกจับดำเนินคดีติดคุกกันคนละหลายปี ที่ไม่รอดจริงๆ ก็ตายหรือสูญหายไปเลยนับตั้งแต่ 29 ปีก่อนที่เทียนอันเหมินนั้นเลย
ผลที่ตามมาต่อจากนั้นคือไม่มีการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากประเทศใดในโลก มีเพียงสหภาพยุโรปที่มีมติห้ามขายอาวุธสงครามให้จีน แต่มตินั้นก็ถูกฝ่าฝืนโดยฝรั่งเศสเมื่อปี 2004 และยกเลิกไปโดยสิ้นเชิงในปี 2005 เศรษฐกิจจีนยังคงเติบโตแบบก้าวกระโดดอย่างต่อเนื่อง จีนได้เข้าร่วมองค์การการค้าโลกในปี 2001 และแซงหน้าญี่ปุ่นขึ้นมาเป็นเศรษฐกิจมวลรวมประชาชาติที่ใหญ่เป็นอันดับสองรองจากสหรัฐอเมริกาหลังจากนั้นไม่นาน และทั้งหมดนี้เป็นเพราะทุกประเทศในโลก ไม่ยกเว้นแม้แต่สหรัฐอเมริกา และผู้นำสหภาพยุโรปอย่างเยอรมันและฝรั่งเศส ต่างมีความเห็นตรงกันว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจตามแนวทางทุนนิยมนั้นสำคัญที่สุด ความมั่งคั่งร่ำรวยของประเทศและการอยู่ดีกินดีของประชาชนของตนย่อมสำคัญกว่าการเคารพสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
อนุสรณ์สถานเทียนอันเหมินที่ Chinese University of Hong Kong จารึกไว้ตรงฐานว่า The old cannot kill the young
ทั่วโลกได้เลือกแล้วว่าคุ้มที่จะให้คนหนุ่มสาวผู้บริสุทธิ์นับพันนับหมื่นต้องถูกสังหารอย่างเหี้ยมโหด ตายกันเกลื่อนกลาดท้องถนนใจกลางมหานครปักกิ่ง เพื่อให้เศรษฐกิจโลกเติบโตต่อไปอย่างเสรีและไม่สะดุดตามแนวทางทุนนิยม คุ้มกันแล้วที่จะให้ฆาตกรลอยนวลต่อไปเพื่อค้าขายและแบ่งปันความมั่งคั่งร่ำรวยให้นายทุนทั่วโลกต่อไปอีกนานเท่านาน
นี่แหละจุดสิ้นสุดโดยสิ้นเชิงของสงครามเย็น เทียนอันเหมิน 1989 คือวันที่ทุนนิยมได้รับชัยชนะอย่างสมบูรณ์ในสงครามเย็น ไม่มีอุดมการณ์อื่นใดเหลืออีกต่อไป ไม่มีสังคมนิยม ไม่มีประชาธิปไตย ไม่มีเสรีภาพ ไม่มีสิทธิมนุษยชน มีเพียงตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจและตลาดทุนเท่านั้นที่สำคัญในโลกหลังจากวันที่ 4 มิถุนายน 1989