ไม่พบผลการค้นหา
ชมรมอดีตพนักงานของรัฐ ปี 2543-2546 รวมตัวยื่นหนังสือถึง นายกรัฐมนตรีจี้สั่งการ ก.พ. คืนอายุราชการ-เยียวยาความเหลื่อมล้ำเงินเดือน หลัง 2 ปี ไม่ได้รับการแก้ไข

ชมรมอดีตพนักงานของรัฐ สังกัดหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ปี 2543-2546 รวมตัวกันประมาณ 200 คน จากทั่วประเทศ เข้ายื่นหนังสือถึงพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ที่ทำเนียบรัฐบาล เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีเร่งรัดสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ดำเนินการตามข้อเรียกร้องแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำเรื่องเงินเดือน และทวงคืนอายุราชการที่หายไป 4 ปี ที่ไม่ได้นำมาคำนวณในสิทธิประโยชน์กองทุนบำเหน็จบำนาญ หลังหน่วยงานดังกล่าวอ้างว่าอยู่ในขั้นตอนดำเนินการมาแล้ว 2 ปี 

451664.jpg

น.ส.พิมภิลัย จองทอง เลขาธิการชมรมอดีตพนักงานของรัฐ เปิดเผยกับ 'วอยซ์ ออนไลน์' ว่า สถานะพนักงานของรัฐเกิดขึ้นตามนโนบายของรัฐในปี 2543 ที่ต้องการให้นักเรียนทุนของรัฐ กลับมาเป็นทำงานให้กับภูมิลำเนา

แต่เมื่อจบการศึกษาประจวบกับในช่วงเวลานั้น เป็นช่วงเศรษฐกิจฟองสบู่แตก นักเรียนทุนที่จบวิชาชีพต่างๆ เช่น พยาบาล, เภสัชกร,ทันตแพทย์ ไม่มีงานทำ ขณะที่รัฐบาลก็ไม่มีงบประมาณเพียงพอสำหรับรับข้าราชการเพิ่ม จึงรับบรรจุเป็นข้าราชการเพียง 1,000 ตำแหน่ง ส่วนที่เหลือถูกลอยแพ

เกิดความไม่พอใจในกลุ่มนักเรียนทุนที่จบการศึกษาและคาดหวังจะได้ทำงานในถิ่นกำเนิดอย่างมาก จนเป็นชนวนให้เกิด 'ม็อบคุณหนู'

กระทั่ง ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในขณะนั้น อนุมัติให้จ้างงานในรูปแบบ 'พนักงานของรัฐ' จนถึงปี 2547 กลับพบว่าพนักงานของรัฐเหล่านี้ กลับไม่มีชื่ออยู่ในสารบบการเลื่อนขั้นหรือมีสิทธิเทียบเท่ากับข้าราชการ ส่งผลให้มีการลาออกของเจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เกิดการขาดแคลนอัตรากำลัง จนกระทั่งมีการเปิดบรรจุพนักงานของรัฐเป็นข้าราชการ อีกด้านหนึ่ง พบว่าอายุราชการในตำแหน่งพนักงานของรัฐหายไป ส่งผลต่อการเกษียณที่อายุงานหายไป 4 ปี 

451743.jpg

ดังนั้นกลุ่มชมรมอดีตพนักงานรัฐ จึงได้ออกมาเรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ ช่วยเหลือเพื่อขอความเป็นธรรมกับอายุราชการที่หายไป รวมถึงการแก้ไขความเหลื่อมล้ำของเงินเดือน ซึ่งพบว่ามีแตกต่างในการเยียวยาระหว่างข้าราชการระดับปฏิบัติการมีเงินเดือนมากกว่าข้าราชการในระดับชำนาญการ ซึ่งมีความชำนาญในวิชาชีพแต่ค่าตอบแทนน้อยกว่า จึงอยากให้แก้ไขทั้งระบบของข้าราชการ ซึ่งที่ผ่านมา 2 ปี ได้ยื่นหนังสือถึงสำนักงานก.พ.ที่รับผิดชอบโดยตรง ตอบกลับเพียงว่าอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา