อิบติฮัจเป็นนักกีฬาฟันดาบหญิงคนแรกของสหรัฐฯ ที่ยืนยันว่าจะสวมฮิญาบลงแข่งขันกีฬา ทั้งยังสามารถคว้าเหรียญทองแดงมาครองจากการแข่งขันโอลิมปิก 'รีโอเกมส์ 2016' ซึ่งบราซิลเป็นเจ้าภาพเมื่อปีที่แล้วได้สำเร็จ ทำให้อิบติฮัจได้รับการยกย่องเป็นหนึ่งใน 'ผู้หญิงแห่งปี' หรือ Women of the Year จากการคัดเลือกของนิตยสาร Glamour ประจำปี 2017 ซึ่งระบุว่าเธอเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจและเป็นตัวแทนความหลากหลายของผู้หญิงในสังคมอเมริกันและทั่วโลก
การเป็นชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันซึ่งนับถือศาสนาอิสลาม ทำให้การสวมฮิญาบคลุมผมเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของอิบติฮัจ และเธอไม่รู้สึกว่าการสวมฮิญาบเป็นการถูกบังคับหรือละเมิดสิทธิในร่างกายตัวเอง แต่คนในแวดวงกีฬาส่วนหนึ่งไม่ยอมรับการสวมฮิญาบ ทำให้บางครั้งเธอรู้สึกแปลกแยกและกดดัน แต่เธอยังคงยืนยันมาตลอดว่าจะสวมฮิญาบในการแข่งขัน และเหรียญทองแดงที่ได้มาก็เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าการสวมฮิญาบไม่มีผลกระทบต่อความสามารถในการฟันดาบของเธอแต่อย่างใด
เมื่อบริษัทแมทเทลตัดสินใจว่าจะผลิตตุ๊กตาบาร์บีสวมฮิญาบขึ้นมาเป็นครั้งแรกโดยมีอิบติฮัจเป็นต้นแบบ ทำให้เธอรู้สึกตื้นตันใจอย่างมาก โดยเธอได้กล่าวปราศรัยบนเวที Women of the Year ว่า "ทุกครั้งที่คิดถึงประสบการณ์ที่ผ่านมาของตัวเอง ในฐานะที่เป็นผู้หญิงมุสลิมในแวดวงกีฬาฟันดาบ มีคนจำนวนไม่น้อยทำให้ฉันรู้สึกว่าตัวเองไม่เหมาะกับวงการนี้ ฉันจึงขอมอบตุ๊กตาบาร์บีตัวนี้ให้คนที่ไม่เชื่อในตัวฉันมาก่อน"
สำนักข่าวอัลจาซีรารายงานว่า ตุ๊กตาบาร์บีสวมฮิญาบเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Shero ของแมทเทล ซึ่งมีเป้าหมายในการส่งเสริมให้สังคมยอมรับความแตกต่างหลากหลายและอัตลักษณ์เฉพาะกลุ่ม เพื่อลบล้างภาพลักษณ์ของตุ๊กตาบาร์บีในอดีตที่มักจะถูกวิจารณ์ว่าเป็นเครื่องมือส่งเสริมแนวคิดเหยียดเพศ เพราะสร้างมายาคติเรื่องรูปลักษณ์ของผู้หญิง เนื่องจากยุคแรก แมทเทลผลิตแต่ตุ๊กตาบาร์บีที่เป็นผู้หญิงผิวขาว ผมทอง และมีสัดส่วนโค้งเว้าเกินจริง เช่นเดียวกับ 'เคน' ตุ๊กตาผู้ชายที่ออกมาคู่กับบาร์บี ก็มีผิวขาว ผมทอง และรูปร่างสมบูรณ์แบบเกินจริง ทำให้บริษัทแมทเทลยุคหลังผลิตตุ๊กตาที่ใกล้เคียงกับผู้คนจริงๆ ที่มีความหลากหลายในสังคมมากขึ้น
ตุ๊กตาบาร์บีสวมฮิญาบได้รับคำชมและเสียงตอบรับที่ดีในสื่อสังคมออนไลน์ แต่ขณะเดียวกันก็ถูกเสียดสีประชดประชันจากกลุ่มผู้ที่มีแนวคิดเหยียดผิว โดยอัลจาซีรารายงานว่า 'แอน โคลเทอร์' นักวิเคราะห์การเมืองซึ่งมีแนวคิดขวาจัดในสหรัฐฯ ได้เผยแพร่ข้อความในทวิตเตอร์พาดพิงตุ๊กตาบาร์บีสวมฮิญาบ โดยระบุว่า "เดี๋ยวคงมีตุ๊กตาไอซิสเคนตามมา" ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงแบบเหมารวมว่ามุสลิมจะต้องสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายไอซิส หรือไอเอส ผู้ใช้ทวิตเตอร์จำนวนหนึ่งจึงตอบโต้โคลเทอร์ว่าข้อความดังกล่าวสะท้อนว่าเธอเป็นคน 'ไร้รสนิยม' อย่างสิ้นเชิง
อย่างไรก็ตาม ประเด็นถกเถียงเรื่องตุ๊กตายังไม่หมดไปจากสังคมยุคใหม่ เพราะในเวลาไล่เลี่ยกัน เว็บไซต์ดิอินดีเพนเดนท์รายงานว่า 'คริสตจักรแห่งอังกฤษ' ก็ได้จัดทำคู่มือส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องอัตลักษณ์และเพศสภาพของเยาวชนให้แก่โรงเรียนในสังกัดของคริสตจักรกว่า 500 แห่งทั่วอังกฤษ โดยมองว่าค่านิยมบางประการในสังคมเป็นส่วนหนึ่งที่ปิดกั้นหรือบังคับให้เด็กต้องเลือกอัตลักษณ์หรือเพศสภาพจากสิ่งที่ได้เรียนรู้โดยประสบการณ์ ซึ่งในบางครั้งก็ไม่ครอบคลุมถึงความหลากหลายที่มีอยู่จริงในสังคม
การส่งเสริมให้เด็กผู้หญิงเล่นตุ๊กตาหรือเครื่องครัว ในขณะที่เด็กผู้ชายถูกส่งเสริมให้เล่นของเล่นที่เกี่ยวกับอาวุธหรืออาชีพต่างๆ ถือเป็นเรื่องปกติในหลายสังคม เพราะของเล่นเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ใช้ในการกำหนดบทบาทหรือทำให้เด็กเรียนรู้อัตลักษณ์และเพศสภาพของตัวเอง แต่คริสตจักรแห่งอังกฤษมองว่า แนวคิดดังกล่าวอาจไม่เข้ากับสังคมปัจจุบันซึ่งยอมรับว่ามีความแตกต่างหลากหลายทางเพศมากกว่าในอดีต ของเล่นต่างๆ จึงไม่ควรแบ่งแยกเพศ เพื่อจะได้ไม่เป็นการทำลายจินตนาการและจำกัดการเรียนรู้เรื่องความแตกต่างหลากหลายของเด็ก
การเปิดกว้างให้เด็กเรียนรู้จากของเล่นหรือกิจกรรมที่ไม่แบ่งแยกเพศ จะช่วยลดการกลั่นแกล้งหรือการล้อเลียนเด็กที่มีเพศสภาพและเพศวิถีแตกต่างจากคนส่วนใหญ่ในสังคมได้ด้วย