ศาลปกครองกลางอ่านคำพิพากษาสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ กรณีให้กรมควบคุมมลพิษชดใช้ค่าเสียหายกว่า 9.6 พันล้านบาท ให้กับ 6 บริษัทเอกชน จากโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน จ.สมุทรปราการ ตามที่บริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้างกับพวก 6 ราย ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง ขอให้ศาลบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ที่เคยชี้ขาดให้กรมควบคุมมลพิษ ชำระเงินค่าจ้าง ค่าเสียหาย เนื่องจากศาลพิเคราะห์เห็นว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่ของกรมควบคุมมลพิษได้ดำเนินการขัดต่อระเบียบของทางราชการ มติคณะรัฐมนตรีและกฎหมาย ทั้งในขั้นตอนการพิจารณาคัดเลือกผู้มีคุณสมบัติเหมาะสม การจัดหาที่ดิน การประกวดราคา และมีการแก้ไขข้อความในร่างสัญญาที่ผ่านการตรวจสอบจากสำนักงานอัยการสูงสุดในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ ทำให้ทางราชการได้รับความเสียหาย
โดยผู้ที่จะรับประโยชน์คือบริษัท คลองด่านมารีน แอนด์ ฟิชเชอรี่ จำกัด และกิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี สัญญาโครงการออกแบบรวมก่อสร้างระบบบำบัด น้ำเสีย ซึ่งเกิดจากการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงไม่มีผลผูกพันกรมควบคุมมลพิษผู้คัดค้าน คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่ชี้ขาดให้ผู้คัดค้านชำระเงินจึงมีเหตุให้เพิกถอนได้ เนื่องจากการบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าวเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ยุคนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี ในเดือน ต.ค. 2538 โดยขณะนั้น กรมควบคุมมลพิษได้ว่าจ้างกลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี ให้ดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่เดือนส.ค. 2540 จนงานก่อสร้างทำไปกว่า 98% ต่อมากรมควบคุมมลพิษ อ้างว่ามีการทุจริตเรื่องการจัดซื้อที่ดิน และกิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี ฉ้อโกง สัญญาการก่อสร้างจึงเป็นโมฆะ ทำให้กลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี ยื่นข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2546 พร้อมเรียกค่าเสียหายต่างๆ แต่กรมควบคุมมลพิษ ปฏิเสธการเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ ทำให้เอกชนยื่นเรื่องต่อศาลแพ่งให้แต่งตั้งอนุญาโตตุลาการ ซึ่งปี 2554 ตัดสินให้กรมควบคุมมลพิษแพ้คดี ต่อมา กรมฯ ได้ยื่นเรื่องให้ศาลปกครองกลางซึ่งมีคำพิพากษาให้ทางกรมจ่ายค่าเสียหายให้ภาคเอกชน
อ่านเพิ่มเติม