นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า ล่าสุดได้ปรับประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 3.9 จากเดิมคาดว่า ขยายตัวร้อยละ 3.7 และคาดว่า เศรษฐกิจไทยปีหน้า (2561) จะเติบโตร้อยละ 3.5-4.5
โดยปีหน้า ปัจจัยเรื่องการเลือกตั้งทั่วไปในประเทศไทยใน จะเข้ามามีผลต่อความเชื่อมั่นทั้งของนักลงทุนและผู้บริโภคเพิ่มขึ้น ดังนั้น ซีไอเอ็มบี ไทย จึงแบ่งการประเมินเศรษฐกิจไทยในปีหน้า ออกเป็น 3 สถานการณ์ ได้แก่ กรณีที่ 1 หากมีการเลื่อนการเลือกตั้ง ย่อมส่งผลให้การลงทุน การบริโภคชะลอตัวไป จีดีพีจะโตเพียงร้อยละ 3.5-3.8 กรณีที่ 2 คือมีการเลือกตั้ง โดยพรรคการเมืองรายใดรายหนึ่งสนับสนุนให้ คสช. บริหารประเทศต่อไป เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของนโยบาย จะมีผลให้จีดีพีขยายตัวร้อยละ 3.7-4.0 และกรณีที่ 3 มีการเลือกตั้งอย่างเสรี โดยมีวุฒิสภา 250 เสียงมีบทบาทกำกับดูแลเสถียรภาพการเมือง ทำให้นักการเมืองเดินตามกรอบแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ก็คาดว่า จีดีพีจะโตร้อยละ 3.9-4.5
ซึ่งไม่ว่าจะสถานการณ์การเมืองจะออกมาในแนวทางใด นายอมรเทพ มั่นใจว่า เศรษฐกิจไทยปี 2561 จะเติบโตไม่ต่ำกว่าร้อยละ 3.5 แน่นอน เพราะ พื้นฐานเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันเป็น 'เทฟลอน ไทยแลนด์" คือมีความลื่นไหลมากขึ้น และมีการขยายตัวเฉลี่ยใกล้เคียงตามศักยภาพ แต่อาจไม่ได้ร้อนแรงนัก ดังนั้น จึงคาดว่า ปีทองของเศรษฐกิจไทยน่าจะเกิดขึ้นในช่วงปี 2562 มากกว่า
"ปีนี้ เศรษฐกิจไทยมาจากภาคต่างประเทศ และระดับล่างไม่เติบโตเท่าระดับบน ส่วนปีหน้า หลังจากมีการลงทุนดีขึ้น กำลังการผลิตดีขึ้น คนเริ่มนำเข้าสินค้าทุนมากขึ้น รายได้นอกภาคเกษตรน่าจะขยับเพิ่มขึ้น แต่ระดับล่างและเอสเอ็มอี ต้องรอตั้งแต่กลางปี 2561 เป็นต้นไป เพราะต้องรอรายได้ภาคเกษตรที่ตอนนี้ยังไม่ดีนัก และหนี้ครัวเรือนฐานรากยังสูง จึงต้องรอเวลา ไปถึงประมาณกลางปีไปแล้ว อีกทั้งธุรกิจเอสเอ็มอี ต้องรอธุรกิจขนาดใหญ่ให้เร่งตัวก่อน ซึ่งมองว่า ธุรกิจใหญ่น่าจะลงทุนได้ ช่วงไตรมาส 1 และเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจขนาดใหญ่ ดังนั้นจึงจะเห็นเอสเอ็มอี ขยับตัวดีขึ้นในช่วงตั้งแต่ปลายไตรมาส 2 เป็นต้นไป ซึ่งน่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยปีหน้ามีการเติบโตจากภายในประเทศชัดเจนมากกว่าปีที่ผ่านมา" นายอมรเทพกล่าว
ขณะเดียวกัน สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ยังได้ประเมินมูลค่าการส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2561 เติบโตร้อยละ 4.5 ซึ่งน้อยกว่าคาดการณ์การขยายตัวของภาคส่งออกในปีนี้ ที่คาดว่าจะเติบโตร้อยละ 9 เนื่องจากฐานสูง และราคาสินค้าโภคภัณฑ์เริ่มทรงตัว
ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวร้อยละ 3.8 จากปีนี้คาดว่า จะขยายตัวร้อยละ 2.1 การบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวร้อยละ 3.4 จากปีนี้ขยายตัวร้อยละ 3.1 การลงทุนภาครัฐขยายตัวร้อยละ 9.8 จากปีนี้ทรงตัว และการใช้จ่ายภาครัฐ ขยายตัวร้อยละ 3.5 จากปีนี้ขยายตัวร้อยละ 2.0
ด้านอัตราแลกเปลี่ยน คาดว่าในช่วงเดือนธันวาคมปีนี้ เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่า โดยปิดสิ้นปีที่ 33.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จากระดับปัจจุบันอยู่ที่ 32.60 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากในเดือนธันวาคม จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ FOMC ซึ่งจะมีการประกาศปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย และส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยของปีหน้า ประกอบกับ ร่างกฎหมายลดภาษีนิติบุคคลที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เสนอให้ลดลงจากร้อยละ 35 เหลือร้อยละ 20 ก็น่าจะผ่านการเห็นชอบจากสภาสูงสหรัฐ ย่อมมีผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น และเงินบาทรวมถึงสกุลอื่นๆ อ่อนค่าลงได้
ส่วนแนวโน้มค่าเงินในปี 2561 จะมีปัจจัยเรื่องดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าเป็นปัจจัยสำคัญ เนื่องจากคาดว่า ปีหน้าธนาคารสหรัฐฯ จะขึ้นดอกเบี้ยทั้งหมด 3 ครั้ง ทำให้เงินทุนไหลออกจากไทยและตลาดเกิดใหม่เข้าไปในสหรัฐฯ มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ต้องระมัดระวังเพราะทิศทางเงินบาทมีแนวโน้มผันผวน
รายงานโดย : อังศุมาลิน บุรุษ